ไขข้อข้องใจชาวเน็ตไทยเรื่องรายได้อาชีพเชียร์ลีดเดอร์ทีมเบสบอล กีฬายอดฮิตประเทศเกาหลีใต้ จากคลิปวิดีโอการเต้นสุดไวรัลด้วยท่ายูนีก ยกนิ้วโยกตัวขึ้นลงเพียง 15 วินาทีนี้
วันที่ 4 กันยายน 2567 เรียกได้ว่าเป็นกระแสยาวอย่างต่อเนื่องกับคลิปวิดีโอจากแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียสุดฮิตของเชียร์ลีดเดอร์สาวชาวเกาหลีใต้ โดยคลิปวิดีโอที่ยาวไม่ถึงหนึ่งนาทีเกิดไวรัลข้ามวันข้ามคืนด้วยยอดเข้าชมกว่า 36 ล้านวิว และยอดถูกใจกว่า 1.6 ล้านไลก์ ก่อนจะตามมาด้วยการเต้นเลียนแบบจากผู้ใช้งาน TikTok รายอื่นจนเกิดเป็นชาเลนจ์ที่เรียกว่า Pikki Pikki Dance
คลิปวิดีโอท่าเต้นสุดครีเอตนี้มีที่มาจาก “ลีจูอึน” เชียร์ลีดเดอร์เบสบอลสาววัย 19 ปีที่กลายมาเป็นที่รู้จักในเวลาชั่วข้ามคืนกับการเต้นให้กำลังใจกับทีมเบสบอล Kia Tigers เพียง 15 วินาที ทำให้เป็นที่พูดถึงอย่างมากในโซเชียลมีเดีย รวมไปถึงข้อสงสัยด้านรายได้ของเชียร์ลีดเดอร์สาว ว่าการเต้นในระยะเวลาเพียงเท่านี้จะสร้างรายได้ให้กับพวกเธอเป็นจำนวนเงินเท่าไหร่
แจกแจงรายได้เชียร์ลีดเดอร์
สำหรับรายได้ของเชียร์ลีดเดอร์ทางไอเอ็นเอฟดอทนิวส์ (inf.news) เปิดเผยว่า รายได้ที่เชียร์ลีดเดอร์จะได้รับนั้นมีอยู่ 3 ทางด้วยกัน
- เงินเดือนพื้นฐาน จะได้รับจากทางบริษัทที่เซ็นสัญญาจ้างราว ๆ 3 ล้านวอน หรือประมาณ 76,471.77 บาท ขึ้นอยู่กับประสบการณ์และความนิยมของตัวเชียร์ลีดเดอร์
- เงินโบนัส จะได้รับระหว่างการแข่งขันแต่ละครั้ง ซึ่งการแข่งขันแมตช์เล็กก็จะไม่ได้เงินโบนัสมากเท่ากับการแข่งขันแมตช์ใหญ่
- เงินโฆษณา เชียร์ลีดเดอร์ที่มีชื่อเสียงมักจะได้รับจากการจ้างวานจากแบรนด์เพื่อโปรโมตสินค้า ซึ่งรายได้ในส่วนนี้ก็จะขึ้นอยู่กับความนิยมของแต่ละบุคคล
ทั้งนี้ ความคิดเห็นในโลกออนไลน์หลายคนพากันเข้าใจไปว่า รายได้ของเหล่าเชียร์ลีดเดอร์นั้นต้องสูงมหาศาลระดับหลักล้านบาทต่อเดือน ทว่าความเป็นจริงจากรายงานของไอเอ็นเอฟดอทนิวส์ดังกล่าว แสดงให้เห็นว่า “ชาวเน็ตไทยเข้าใจผิด”
เปิดที่มาท่าเต้นสุดไวรัล
สำหรับท่าเต้นสุดไวรัลของเหล่าเชียร์ลีดเดอร์นั้น เกิดขึ้นจากความตั้งใจของบริษัทออแกไนซ์ “ลีชียอง” ผู้ก่อตั้ง Apex Communications Co., Ltd. เปิดเผยกับ The Japan Times ว่า ท่าเต้นสุดไวรัลนี้จะนำมาใช้ทุกครั้งที่นักกีฬาเบสบอลทีม Kia Tiger สกัดสไตรก์ของฝั่งตรงข้ามได้ เพื่อให้กำลังใจนักกีฬาทีมตัวเอง ในขณะเดียวกัน ก็เป็นการล้อเลียนทีมตรงกันข้ามอย่างไม่โจ่งแจ้งจนเกินไป
“เราเน้นการวางท่าเต้นเข้ากับอารมณ์ของเพลงและเข้าใจง่าย ให้ท่าเต้นออกมาดูสบาย ๆ มากกว่าการออกแบบท่าเต้นให้ทรงพลัง”
เป็นเหตุให้ท่าเต้นยกสองนิ้วโป้งขึ้นลงตามจังหวะเพลงของเหล่าสาว ๆ เชียร์ลีดเดอร์ที่เต้นต่อหน้าแฟนคลับกว่า 16,000 คน และ 10-15 ครั้งต่อเกมยังคงเสน่ห์ไว้ทุกครั้งที่เต้น