หลายฝ่ายโพสต์ประณามสื่อนอก บุกสัมภาษณ์น้องๆ “หมูป่า” ถึงบ้าน ไร้จริยธรรม-รุกล้ำสิทธิส่วนบุคคล

ภายหลังจบภารกิจ ช่วย 13 ชีวิตหมูป่า FC ออกจากถ้ำหลวง สปอตไลต์ต่างโฟกัสไปที่การฟื้นฟูรักษา ทั้งสภาพร่างกายและจิตใจ และก้าวต่อไปของทุกๆ คน อย่างไม่ต้องสงสัย ด้านการทำงานของสื่อนั้นค่อนข้างละเอียดอ่อน ที่ต้องนำเสนออย่างระแวดระวังมากที่สุด

จนกระทั่งถึงบทสัมภาษณ์ที่คนทั่วโลกรอคอย เมื่อ 13 หมูป่า ได้มานั่งพูดคุยถึงเหตุการณ์ที่ทั่วโลกเอาใจช่วย อย่างเป็นทางการในรายการของ คสช. โดยไม่มีสื่อไทยได้สัมภาษณ์เด็กๆ หรือครอบครัวแบบเอ็กคลูซีฟ แต่ทว่าหลังจากนั้น มีสื่อต่างชาติหลายสำนัก ที่ปล่อยบทสัมภาษณ์น้องๆ และครอบครัวชนิดบุกถึงบ้าน ทำให้เกิดเสียงวิจารณ์อย่างมาก ถึงประเด็นรุกล้ำสิทธิเด็กและส่วนบุคคล ความเป็นส่วนตัว โดยเฉพาะช่วงที่สภาพจิตใจของเด็กๆ และครอบครัวอาจยังไม่ 100% จนมีการตั้งคำถามว่า เหมาะสมหรือไม่ในแง่ของจรรยาบรรณ?

จากประเด็นดังกล่าว ทำให้หลายๆ ฝ่ายในเมืองไทย ทั้งนักวิชาการ อาจารย์  รองปลัดกระทรวงยุติธรรม และคนในแวดวงวิทยุโทรทัศ ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นในเชิงผิดหวัง ประณามถึงการนำเสนอคลิปสกู๊ปครั้งนี้

โดย นายธวัชชัย ไทยเขียว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม (ยธ.) ได้ออกมาโพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ธวัชชัย ไทยเขียว ว่า

สื่อต่างประเทศปฎิบัติต่อเด็กและเยาวชนผู้ประสบภัยต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่ควรจะเป็น เป็นเรื่องที่น่าเสียใจและไม่ควรให้อภัย

“กระบวนการยุติธรรมสำหรับเด็กและเยาวชนเหตุผลที่ต้องใช้วิธีการพิจารณาสืบพยานเด็ก โดยให้มีนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์เป็นผู้แปลคำถามในระหว่างชั้นสอบถามปากคำในกระบวนการก่อนพิจารณาพิพากษาของศาลและให้มีการบันทึกแถบเสียงและภาพไว้ด้วยนั้น ก็มุ่งเพื่อที่จะไม่ให้ มีการสอบปากคำซ้ำในกระบวนการยุติธรรมชั้นถัดไป โดยมีจุดมุ่งสำคัญเพื่อมิให้เปิดบาดแผลที่อยู่ในตะกอนใจของเด็กและเยาวชน เนื่องจากอยู่ในวัยที่เปราะบางและต้องได้รับการปกป้องรักษา รวมถึงในระหว่างสอบปากคำเด็กและเยาวชนยังได้บัญญัติให้เด็กสามารถร้องขอมีบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือบุคคลที่เด็กไว้ใจร่วมนั่งเป็นเพื่อนได้อยู่ด้วย เพื่อให้เด็กรู้สึกอบอุ่นและมีความปลอดภัย”

กระบวนการสอบถามหรือสัมภาษณ์ของสื่อมวลชนหรือบุคคลอื่นใดกับเด็กที่ประสบภัยพิบัติที่ผ่านประสบการณ์ที่ตกอยู่ในภาวะทุกข์ยากตื่นกลัวสุดขีดนั้น แม้ไม่มีกระบวนการหรือกฎหมายกำหนดไว้ชัดเจนเฉกเช่นเดียวกับเด็กหรือเยาวชนในกระบวนการยุติธรรมก็ตาม แต่ก็ควรจะเทียบเคียงเอาวิธีกระบวนการยุติธรรมสำหรับเด็กและเยาวชนไปใช้ได้เท่าที่จำเป็น

ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยก็สามารถดำเนินการได้เป็นอย่างดีและน่าชมเชยเป็นอย่างยิ่ง

แต่น่าเสียดายที่สื่อต่างประเทศที่เราคิดและเข้าใจว่าเป็นผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจเรื่องอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก และกระบวนการปกป้องเด็กและเยาวชนเป็นอย่างดีแล้ว กลับมีมาตรฐานต่ำกว่าที่คิด เสมือนขาดสามัญสำนึกซึ่งมนุษย์ธรรมดาธรรมดาพึงระลึกได้ รวมขาดความรับผิดชอบได้เช่นนี้ ทั้งที่รู้ว่าประเทศไทยได้วางระบบการปกป้องดูแลและคุ้มครองเด็กผู้ประสบภัยกลุ่มนี้ไว้อย่างไร

ส่วน ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พูดถึงปมจริยธรรมสื่อและสิทธิเด็กและผู้ตกเป็นข่าว ดังนี้

ให้สัมภาษณ์สื่อทีวีไปเมื่อครู่ว่า ขอชื่นชมสื่อไทยที่ทำหน้าที่โดยยึดกรอบจริยธรรมสื่อ คำนึงถึงสิทธิเด็กและผู้ตกเป็นข่าว

ขณะเดียวกันก็ขอประณามสื่อนอกที่มุ่งขายข่าวจนละเลยสิทธิความเป็นส่วนตัวของเด็กและครอบครัว เข้าไปวุ่นวายกับวิถีชีวิตของพวกเขาทั้งที่ได้รับการร้องขอแล้วก็ตาม

ผมนึกเล่นๆว่า ถ้าเด็กที่ติดถ้ำเป็นชาติเดียวกับสื่อนอก ถูกนักข่าวรุมทึ้งไม่หยุดหย่อนแบบนี้ ดีไม่ดีคงมีการฟ้องร้อง เรื่องการละเมิดความเป็นส่วนตัวกันบ้างละ

ขอเรียกร้องให้หน่วยงานรัฐในท้องที่ดูแลเด็กและครอบครัว ให้เหมือนกับที่แถลงข่าวไปเมื่อวันก่อน อย่าให้อภิสิทธิ์กับสื่อใดสื่อหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นสื่อนอกหรือสื่อไทย

ไม่เช่นนั้นวันแถลงข่าวหมู่ #พาหมูป่ากลับบ้าน คงเป็นแค่ปาหี่ฉากหนึ่งเท่านั้น #เปรยตามสายลม

ขณะที่อีกหนึ่งคนในแวดวงคนข่าว เทพชัย หย่อง นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ก็ให้ความเห็นเช่นเดียวกันว่า

มัวแต่ห่วงสื่อไทยว่าจะไปรบกวนน้องๆ ทีม “หมูป่า” ที่ไหนได้ นักข่าวฝรั่งแห่กันไปดักถึงบ้าน เท่าที่เห็นมีทั้ง ABC News, CBS และอีกหลายช่องที่ประกาศอย่างภาคภูมิใจว่าได้สัมภาษณ์พิเศษบรรดาเด็กๆ ที่สื่อไทยถูกเตือนให้อยู่ห่างๆ