คณบดีนิด้าโพสต์จับตา 4 เรื่องใหญ่ ส่อแววคุกคามระบบเศรษฐกิจ !!

เมื่อวันที่ 2 ก.ย.2561 รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต คณบดีคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ โพสต์แสดงความเห็นในประเด็นการพัฒนาเศรษฐกิจของไทยไว้น่าสนใจ โดยระบุว่า

รัฐที่พัฒนาระบบเศรษฐกิจให้ยั่งยืนได้ ประเทศจะต้องมีประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ สิ่งสำคัญคือ รัฐต้องสร้างบริบทการแข่งขันที่เสรี เป็นธรรมและมีความรับผิดชอบต่อสังคม รวมทั้งต้องขจัดการผูกขาดทางเศรษฐกิจ ไม่ใช่สร้างการผูกขาดเสียเอง

ในช่วงนี้ เหตุการณ์ที่คุกคามระบบเศรษฐกิจที่เสรีและเป็นธรรม รวมทั้งส่อแววว่าไม่รับผิดชอบต่อสังคมมีอย่างน้อย 4 เรื่องใหญ่ๆ คือ

1. การขยายอาณาจักรของ ปตท. เข้าไปในธุรกิจผลิตไฟฟ้า โดยการใช้บริษัทลูก ชื่อ GPSC เข้าไปซื้อหุ้นส่วนใหญ่ของบริษัทผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ชื่อ GLOW ซึ่งเป็นการกระทำอาจขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 74 เรื่องห้ามรัฐทำธุรกิจแข่งขันกับเอกชน

สิ่งที่เป็นปมปัญหาคือ การได้เปรียบในการแข่งขันทางธุรกิจแบบนี้ของ ปตท. ได้มาจากเงินทุนจำนวนมหาศาลของรัฐ จึงเท่ากับว่ารัฐไปทำลายโอกาสทางเศรษฐกิจของเอกชนรายย่อย และจะนำไปสู่การบั่นทอนทำลายระบบการแข่งขันทางเศรษฐกิจที่เสรีและเป็นธรรม ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและนวตกรรมของประเทศ

จะท้ายที่สุดก็จะก่อให้เกิดการผูกขาดทางเศรษฐกิจ และขยายความเหลื่อมล้ำทางสังคมให้สูงยิ่งขึ้น
ทางเลือกที่ถูกต้องชอบธรรมคือ ปตท.ยุติการขยายอาณาจักร ไม่ผลิตไฟฟ้า และตั้งหน้าตั้งตาบริหารปิโตรเลียมให้ตอบสนองความต้องการของประชาชนมากขึ้น

ปตท. ควรตระหนักว่าขณะนี้ภาพลักษณ์ของ ปตท. ต่อสังคมไม่ค่อยดีนัก ถูกมองเป็นบริษัทที่แสวงหากำไรจนเลยเถิด และรับใช้กลุ่มทุนมากกว่าประชาชน ซึ่งทำให้ต้องเผชิญกับการต่อต้านจากประชาชนมาแล้ว

2. การขยายอาณาจักรของ CP ในธุรกิจขายยา ซึ่งเกิดขึ้นพร้อมๆกันการพยายามผลักดันกฎหมายให้บุคคลที่ไม่ใช่วิชาชีพเภสัชกรขายยาได้

หากพิจารณาธุรกิจต่างๆที่ CP ทำอยู่ในปัจจุบันจะเห็นว่า ขยายครอบคลุมในแทบทุกมิติของชีวิตคนไทย
ผมคิดว่า หากรัฐใดปล่อยให้เอกชนรายหนึ่งรายใดมีอิทธิพลทางเศรษฐกิจจนเกินขอบเขต รัฐนั้นก็จะตกอยู่ภายใต้การครอบงำบงการของนายทุนนักธุรกิจ และนั่นก็คือจุดจบของประชาธิปไตยทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจ

ในที่เกี่ยวกับเรื่อง CP สังคมควรจับตาและเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดว่ามีการดำเนินการเรื่องใดบ้าง ที่อาจเข้าข่ายละเมิดกฎหมาย ทั้งกฎหมายการแข่งขันทางการค้า สิ่งแวดล้อม แรงงาน สาธารณสุข เป็นต้น และกดดันให้เจ้าหน้าที่รัฐบังคับใช้กฎหมายต่อบริษัท CP อย่างเป็นธรรมและใช้มาตรฐานเดียวกับการที่รัฐบังคับใช้กฎหมายกับชาวบ้านทั่วไป

3. เขตเศรษฐกิจพิเศษ EEC ที่มีมาตรการในเชิงการให้อภิสิทธิ์แก่นายทุนทั้งภายในและภายนอกประเทศเพื่อดึงดูดให้คนเหล่านั้นเข้ามาลงทุน

มีการใช้อำนาจรัฐช่วงชิงที่ทำกินของชาวบ้านเพื่อเอาที่กินไปให้กลุ่มทุนเช่า การไม่เข้มงวดในการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และสังคม และการละเลยกฎหมายผังเมือง มาตรการที่เอื้อนายทุนจะกลายเป็นการสะสมมหันตภัยไว้ให้แก่ลูกหลานในอนาคต การให้อภิสิทธฺ์เรื่องภาษีและการเช่าที่ดิน จะทำให้รัฐและสังคมสูญรายได้ และเสียโอกาสในการนำเงินมาบรรเทาและเยียวความเสียหายที่บริษัทซึ่งไร้ความผิดชอบต่อสังคมก่อขึ้นมา สิ่งที่น่ากังวลต่อประเทศคือ มาตรการต่างๆจำนวนมากที่ใช้ใน EEC ขณะนี้ มีแนวโน้มที่จะกลายเป็นเงื่อนไขในการสร้างความไม่เป็นธรรมทางสังคมให้เพิ่มมากขึ้น และจะเพิ่มความเข้มข้นของความขัดแย้งระหว่างชาวบ้าน กับกลุ่มทุนและเจ้าหน้าที่รัฐที่เอื้อประโยชน์แก่กลุ่มทุน  ทางเลือกต่อ EEC คือ “หากไม่รื้อ” ก็ต้อง “เลิก” ครับ

4. การยังคงมีมติให้มีการใช้สารพิษ ยาพิษฆ่าหญ้า ฆ่าชีวิตคน และสรรพสัตว์ อย่าง พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต ในพืชเศรษฐกิจต่อไปอย่างไม่มีท่าทีว่าจะหยุดยั้ง แหล่งอาหาร แหล่งน้ำปนเปื้อนสารพิษ คนไทยเจ็บ ตาย และป่วยมากขึ้น ระบบนิเวศน์เสียหายอย่างไม่อาจประมาณเป็นตัวเลขได้

การทำธุรกิจของบริษัทสารพิษ จึงเป็นธุรกิจแห่งความตาย และสร้างความไม่เป็นธรรมทางสังคมอย่างรุนแรง เป็นการสร้างกำไรด้วยการพรากสุขภาพและชีวิตของผู้คน

ทางเลือกคือ ต้องห้ามใช้สารพิษทั้งสามทันที ในพืชทุกชนิด และทุกพื้นที่เพาะปลูกครับ ช้าไปหนึ่งวันก็จะมีอันตรายเพิ่มอีกหนึ่งวันครับ