จิตแพทย์ทำหนังสือทักท้วง กกท. รับรองอี-สปอร์ต ทั้งที่ทั่วโลกไม่ให้การยอมรับ

ภาพจาก แฟ้มภาพ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต ได้ทำจดหมายเปิดผนึก  เรื่อง E-Sport ส่งถึงผู้บริหารที่เกี่ยวข้อง โดยเผยแพร่ผ่านทางสังคมออนไลน์ และเฟซบุ๊ก ” นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์” โดยระบุว่า สืบเนื่องจากการที่การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ได้ให้การรับรองสมาคม E-Sport ซึ่งเท่ากับรับรองว่า เป็นกีฬาด้วย ทำให้เกิดกระแสความห่วงใยเด็ก เยาวชน และครอบครัวเป็นวงกว้าง เพราะได้มีการโฆษณาและส่งเสริมให้เกิดการเล่นวิดีโอเกม ที่เดิมก็ขยายตัวมากอยู่แล้ว เมื่อใช้การอ้างเป็นกีฬาก็ยิ่งทำให้ขยายตัวรุนแรงมากขึ้น ทั้งที่วงวิชาการทั่วโลกยังไม่ได้ยอมรับการแข่งขันวิดีโอเกม ว่าเป็นกีฬา และองค์การอนามัยโลก (WHO)  ประกาศชัดเจนว่า การเล่นมากเกินไปจะนำไปสู่โรคการติดเกมได้ ซึ่งทาง WHO จัดว่าเป็นการวินิจฉัยโรคกลุ่มใหม่ และกำลังเป็นปัญหาใหญ่ทางสุขภาพจิตในปัจจุบัน จึงขอเรียกร้องให้มีการทบทวนเรื่องดังกล่าว ทั้งนี้ ขอชี้แจงเหตุผลโดยสังเขปดังนี้

1.E-Sport เป็นวาทกรรมของบริษัท ที่จริงคือการแข่งขัน VDO Game คณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) ไม่รับรองว่าเป็นกีฬา (3 เหตุผล เนื้อหารุนแรง / ไม่มี Sanction body คอยควบคุม /ไม่เป็นสาธารณะ แต่เป็นลิขสิทธิ์เอกชน) และแม้แต่องค์กรนานาชาติอย่าง Sport Accord ที่เป็นองค์กรรับรองกีฬา รวมทั้ง Mental Sport ก็ไม่รับรองวีดีโอเกมว่าเป็น Mental Sport

2.ในการดูแลผลทางเศรษฐกิจ เช่น รายได้ของนักแข่งหรือรายได้จากการโฆษณานั้นเทียบไม่ได้กับผลร้ายที่เกิดขึ้น ในสหรัฐอเมริกามีคนเล่น rov จำนวน 60 ล้านคน มีผู้เล่นอาชีพที่มีรายได้ประจำแค่ 57 คน (ทุกผู้เล่นจำนวน 1 ล้านคนจะมีมืออาชีพจำนวน 1 คน แต่มีผู้ติดเกม 2 – 8 หมื่นคน ขึ้นกับ definition) ซึ่งส่งผลเสียต่อครอบครัว สมรรถนะการประกอบอาชีพมากมายมหาศาล

3.กว่าจะเป็น 1 ในล้านที่มีรายได้และคนจำนวน 8 หมื่นคนที่ติดเกม คนเหล่านี้จะมีปัญหาสุขภาพ สมาธิสั้น เสียพัฒนาการ (ในเด็กจะเสียสังคม/ภาษาล่าช้า) WHO จึงประกาศให้ Game Disorder เป็นโรคทางจิตเวช ทั้งที่มีบริษัทได้คัดค้านหลายครั้งทำให้ต้องดีเลย์การประกาศมาหลายปี แต่หลักฐานทางวิชาการก็ชี้ชัดว่า เป็นความผิดปกติเช่นเดียวกับการเสพติดพฤติกรรมอื่นๆ เช่น ติดการพนัน อย่าลืมว่าไม่มีกีฬาใดในโลกที่ทำให้เกิดการเสพติดได้

4.การรับรองให้เป็นสมาคมไปแข่งขันระหว่างประเทศในประเทศต่างๆ เป็นการรับรองว่าเป็นสมาคมตัวแทน ไม่ใช่รับรองว่าเป็นการกีฬา แต่กรณี กกท.รับรองว่า เป็นกีฬาเท่ากับรับรอง 2 ต่อ ทำให้บริษัทและสมาคมใช้เป็นโอกาสขยายการโฆษณาว่าเป็นกีฬาอย่างรุนแรง ทั้งที่ปกติก็ทำการตลาดอย่างกว้างขวางอยู่แล้วในฐานะ VDO Game

5.ผลก็คืออัตราเด็กติดเกมเพิ่มขึ้นอย่างน่ากลัว รวมทั้งปัญหาที่ตามมาเป็นพฤติกรรมก้าวร้าว ละทิ้งการเรียน การพูดปด ลักขโมย ภาวะซึมเศร้า ฯลฯ แค่ 6 เดือนแรก (ตุลาคม 2560 – มีนาคม 2561) ของการประกาศก็เพิ่มกว่าเท่าตัว มีการเปิดค่าย “กีฬา E-Sport” สนับสนุนให้นักเรียนจัดการแข่งขันในโรงเรียนโดยอ้างว่าเป็น Sport ฯลฯ

6.ประเทศไทย เมื่อเทียบกับประเทศต่างๆ ที่มีกลไกการดูแลดีกว่าก็ยังไม่ยอมรับว่าเป็นกีฬา แต่ไทยซึ่งมีจุดอ่อนทั้ง 3 ประการ กลับไปสนับสนุนให้เป็นกีฬา

Demand Side เด็กและพ่อแม่ไม่เข้าใจผลเสียและโอกาสที่เกิดการติด ซึ่งต้องป้องกันด้วยการส่งเสริมกิจกรรมสร้างสรรค์ต่างๆ และใช้หลัก 3 ต้อง 3 ไม่ (ต้องกำหนดเวลา ต้องกำหนดโปรแกรม ต้องเล่นกับลูก ไม่เป็นแบบอย่างที่ผิด ไม่เล่นในเวลาครอบครัว ไม่มีในห้องนอน)

Supply Side บริษัทขาดจรรยาบรรณในการโฆษณาและการตลาด

Regulator (กกท.และสมาคม) ขาดความสามารถในการควบคุม

ผลร้ายจึงยิ่งรุนแรงกว่าประเทศใดๆ ขณะนี้มีผู้ที่ห่วงใยได้ทำให้กระบวนการต่างๆ ผ่านผู้บริหารที่เกี่ยวข้อง เช่น รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง สภา รวมทั้งสมัชชาสุขภาพ ก็รับไว้เป็นวาระสำคัญ

ผมจึงขอให้ผู้บริหารได้ศึกษาและทบทวนเรื่องนี้อย่างจริงจังโดยไม่อคติและไม่เห็นแก่ประโยชน์ทางเศรษฐกิจระยะสั้นเฉพาะหน้า โดยไม่คำนึงถึงผลระยะยาว เพราะมีครอบครัวและเยาวชนจำนวนมากที่กำลังเกิดปัญหาขึ้น เราจะต้องยื่นมือเข้ามาจัดการแบบหลายประเทศที่ดำเนินการอยู่ (ออกกฎหมายห้ามนำมาในโรงเรียน , ลงทะเบียนบัตรประชาชนเพื่อควบคุมอายุ , เกมต้องหยุดเมื่อครบ 2 ชั่วโมง เป็นต้น)

เราไม่ได้เป็นปฏิปักษ์ต่อธุรกิจ แต่ธุรกิจก็ต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมเช่นกัน เราไม่ได้ห้ามการเล่นเกม แต่คนไทยเด็กและพ่อแม่จะต้องเท่าทัน และองค์กรควบคุมก็ต้องทำหน้าที่อย่างเข้มแข็ง รวมทั้งองค์กรอื่นๆ ที่มีบทบาทเกี่ยวข้อง เช่นกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)

ถ้าเมื่อไรมีการทบทวนจนมีความก้าวหน้าจากฝ่าย Supply และ Regulator อย่างชัดเจน แต่เท่าที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ ก็ไม่ได้มี Action ที่จะควบคุมให้เหมาะและทันกาล

 

 

ที่มา มติชนออนไลน์