ผู้เชี่ยวชาญแจงข่าวลือ”โรคอหิวาต์แอฟริกันในหมู”ติดต่อสู่คน ถึงตาย ไม่จริง

(แฟ้มภาพ) ไม่เกี่ยวกับเนื้อหาในข่าว
“อดีตคณบดีคณะสัตวแพทย์ฯ จุฬา”ออกโรงฉะคนปล่อยข่าวลือโลกโชเชี่ยล”โรคอหิวาต์แอฟริกันในหมู ASF เมืองจีน ติดคนตาย ติดแพะ-แกะ-วัว ไม่เป็นความจริง

 

ศ.นสพ.ดร.อรรณพ คุณาวงษ์กฤต อดีตคณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านสุกร เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ”ว่า ขณะนี้ได้เกิดการแชร์ข้อมูลในโลกโซเชี่ยลที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกร (African Swine Fever หรือ ASF) ที่กำลังระบาดในประเทศจีนว่า สามารถติดต่อสู่คน และทำให้คนตายได้นั้น ข่าวดังกล่าวไม่เป็นความจริง

โรค ASF เป็นเชื้อไวรัสที่ไม่สามารถติดต่อมาสู่คน รวมถึงไม่สามารถติดต่อไปยังสัตว์ชนิดอื่น เช่น แพะ แกะ และวัวได้อย่างที่ถูกกล่าวอ้าง ดังนั้น ขอให้หยุดการแชร์ข่าวที่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิด และสร้างความสับสนให้ผู้คนตื่นตระหนก

“ผมได้ให้ผู้รู้ภาษาจีนมาแปลเนื้อข่าวของทางการไต้หวันแล้ว ในเนื้อข่าวไม่ได้มีการระบุว่า การแพร่ระบาดของโรค ASF ในประเทศจีนจะทำให้คนตาย โรค ASF สามารถติดต่อเฉพาะในหมูได้เท่านั้น ตั้งแต่มีการค้นพบโรค ASF ครั้งแรกในทวีปแอฟริกานับกว่า 100 ปีมาแล้ว คือ ตั้งแต่ปี 1907 จนถึงปัจจุบันที่ระบาดทั่วในแอฟริกา ยุโรป ยุโรปตะวันออก และประเทศจีนตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2561 ยังไม่มีการรายงานทางการแพทย์ว่า ไวรัสดังกล่าวสามารถติดต่อข้ามสายพันธุ์ไปติดต่อยังคน และสัตว์ประเภทอื่นได้ โดยไวรัสโรค ASF เป็นดีเอ็นเอไวรัส เป็นไวรัสตัวใหญ่ เทียบกับไวรัสปกติทั่วไป การกลายพันธุ์ช้า” ศ.นสพ.ดร. อรรณพ กล่าว

ศ.นสพ.ดร. อรรณพ กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ ในเนื้อหาของข่าวที่แชร์กันยังได้สร้างความสับสนอย่างมาก โดยมีการอ้างถึงข่าวของโรค SK5 ซึ่งถือเป็นไวรัสที่ติดเชื้อปนเปื้อนในปลา และผลไม้ ซึ่งเคยมีรายงานข่าวในประเทศจีนตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2560 ว่า ทำให้ผู้บริโภคเสียชีวิตนั้น

ผมขอยืนยันว่าจนถึงวันนี้ยังไม่มีรายงานว่า เขื้อไวรัส SK5 สามารถติดต่อในสุกร หรือสุกรเป็นโรคนี้ได้เพราะโรค SK5 ไม่ใช่โรคในสุกร ดังนั้น การอ้างว่า โรค SK5 มาติดในสุกร และทำให้คนตาย ถือเป็นการนำข้อมูลมาผสมปนเปมั่วกันไปหมด ส่งผลให้เกิดความเข้าใจผิดขยายวงกว้างไปกันใหญ่

“ผมขอประณามคนที่สร้างข่าวลือเหล่านี้ขึ้นมาว่า ขาดความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างมาก แทนที่ทุกคนจะมีความสามัคคีร่วมมือช่วยเหลือกัน เพื่อป้องกันไม่ให้โรคนี้แพร่ระบาดเข้ามาในประเทศไทย กลับมาสร้างความปั่นป่วน สับสนให้คนเกิดความหวั่นวิตก จะทำให้คนไทยไม่กล้าบริโภคหมู จะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการเลี้ยงสุดรทั้งระบบ” ศ.นสพ.ดร.อรรณพ กล่าว