ความจริง 20 ประการ เกี่ยวกับโรคปอดบวม ‘อู่ฮั่น’ โคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่

วันที่ 27 มกราคม 2563 ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ ราชบัณฑิต และหัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว Yong Poovorawan กรณีโรคปอดอักเสบจากเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ในขณะนี้ ดังนี้

ความจริง 20 ประการ เกี่ยวกับโรคปอดบวม อู่ฮั่น โคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่

1. โคโรน่าไวรัสเป็นไวรัสขนาดใหญ่ และ เป็นกลุ่มใหญ่ ดูด้วยกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอน คล้ายมงกุฎ จึงเรียกว่าโคโรนาไวรัส พบได้ทั้งใน คน และ สัตว์ จำนวนมาก

2. โคโรน่าไวรัส ที่เกิดโรคในคน แต่เดิมมี 6 ชนิด เป็นสายพันธุ์ที่พบดั้งเดิม ทำให้เกิดโรคหวัด และทางเดินหายใจอยู่เป็นประจำถิ่น แล้ว มี 4 ชนิด และอุบัติใหม่ ทำให้เกิดโรคทางเดินหายใจอักเสบ แบบเฉียบพลันคือ SARS และ MERS ซึ่งเป็นโรคที่ค่อนข้างรุนแรง มีอัตราการเสียชีวิต 10 และ 30 % ตามลำดับ

3. โคโรน่าไวรัสสายพันธุ์ใหม่ หรือโรคปอดบวมอู่ฮั่น อุบัติใหม่ที่เมืองอู่ฮั่น ตั้งแต่กลางเดือน ธันวาคม 2019 เป็นต้นมา และวินิจฉัยได้หลังปีใหม่ ถอดรหัสพันธุกรรมสำเร็จในวันที่ 11 มกราคม 2020

4. จุดกำเนิดของโคโรน่าไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ผู้ป่วยกลุ่มแรกที่พบ ส่วนใหญ่มีแหล่งสัมผัส จากตลาดสดที่มีการขายอาหารทะเล และสัตว์สิ่งมีชีวิต

5. โคโรน่าไวรัสสายพันธุ์ใหม่เช่นเดียวกันกับ ไวรัสที่ทำให้เกิดโรคทางเดินหายใจอักเสบ มีได้ทั้งแบบไม่มีอาการ มีอาการทางเดินหายใจอักเสบแบบเฉียบพลัน จนถึงปอดบวมและโรคแทรกซ้อน

6. ระยะฟักตัวของโรค โดยทั่วไปโคโรน่าไวรัส จะมีระยะฟักตัวประมาณ 2 ถึง 7 วัน ในทางปฏิบัติการเฝ้าสังเกตอาการหลังสัมผัสโรค หรือมาจากแหล่งระบาดของโรค เราจึงใช้ 2 เท่า คือ 14 วัน

7. อาการที่ต้องสงสัย คือ ผู้ที่มาจากแหล่งระบาดของโรค ร่วมกับอาการมี ไข้ และอาการระบบทางเดินหายใจ เช่นมี น้ำมูก ไอ เจ็บคอ หายใจลำบาก ในรายที่รุนแรง จะมีปอดอักเสบหรือปอดบวมเกิดขึ้น และทำให้ระบบหายใจล้มเหลวถึงกับเสียชีวิตได้

8. โรคนี้สามารถติดต่อระหว่างคนสู่คนได้ จึงเกิดการแพร่กระจายได้

9. การยืนยันผลการวินิจฉัย จำเป็นต้องใช้การตรวจทางห้องปฏิบัติการ ตรวจหาพันธุกรรมของไวรัส

10. ความรุนแรงของโรคไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ จะมีความรุนแรงน้อยกว่า MERS และ SARS อัตราตายของ MERS อยู่ที่ 30 % ของ SARS อยู่ที่ประมาณ 10 % แต่ของโคโรน่าไวรัสสายพันธุ์ใหม่อยู่ที่น้อยกว่า 3%

11. โรครุนแรงน้อยกว่า ดังนั้น ผู้ที่ติดเชื้ออีกจำนวนมาก ที่อาจไม่มีอาการ หรือมีอาการน้อย ไม่ได้เป็นปอดบวมทุกราย ดังนั้นผู้ป่วยจึงสามารถเดินทางไปได้ไกล และสามารถแพร่โรค ทำให้เกิดการระบาดในวงกว้าง และสามารถระบาดได้ทั่วโลก pandemic

12. เช่นโรคระบาดทั่วไป การกระจายของโรค จะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค และอำนาจในการกระจายโรค โรคที่มีความรุนแรงน้อย จะกระจายได้มากกว่า การติดเชื้อในอากาศ จะได้มากกว่าการติดเชื้อด้วยการสัมผัสฝอยละออง ปอดบวมอู่ฮั่น เป็นโรคที่ติดโดยการสัมผัสฝอยละออง

13. เมื่อเป็นโรคใหม่ ทุกคนไม่มีภูมิต้านทาน จึงมีสิทธิ์ที่จะติดเชื้อได้ทุกคน ถ้าสัมผัสโรค ส่วนความรุนแรงของโรคจะขึ้นอยู่กับอายุ ในเด็กความรุนแรงของโรคจะน้อยกว่า ในผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ หรือกล่าวได้ว่าความรุนแรงจะเพิ่มขึ้นตามอายุนั้นเอง

14. ในการระบาดของโรค โรคจะหยุดเมื่อมีการติดเชื้อไปจำนวนหนึ่ง ขึ้นอยู่กับอำนาจการกระจายของโรค ถ้าอำนาจการกระจายของโรค เท่ากับไข้หวัดใหญ่ หรือ 1 คนกระจายไปได้ 2 คน เมื่อมีผู้ติดเชื้อหรือมีภูมิต้านทานแล้วอย่างน้อย 50% โรคว่าจะสงบ แล้วหลังจากนั้นไวรัสนี้ ก็จะเป็นโรคประจำถิ่น endemic หรือตามฤดูกาลต่อไป (seasonal) และการติดเชื้อจะเกิดการระบาดได้เป็นหย่อมอย่าง เช่นไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ที่ระบาดมา 10 ปีแล้วโรคนี้ก็ยังไม่หยุด ยังมีการระบาดในนักเรียนอยู่เป็นระยะระยะในประเทศไทย

15. ในปัจจุบัน ณ วันนี้ยังไม่มียาต้านไวรัสใช้รักษา และไม่มีวัคซีนในการป้องกัน

16. การป้องกันที่ดีที่สุด คือ หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้ป่วย การล้างมือจะป้องกัน การติดเชื้อได้เป็นอย่างดี “กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ” จึงยังใช้ได้เสมอในการป้องกันโรค ที่ติดต่อทางไปฝอยละออง

17. การเดินสวนกันไปมา ไม่ทำให้เกิดการติดโรคนี้ แต่การอยู่ในระยะใกล้ ในการพูดคุยหรือมีการในจาม และมีฝอยละอองกระเด็นมาถูกบริเวณใบหน้า จะทำให้เกิดการติดโรคนี้ได้ การสัมผัสจะต้องหมั่นล้างมือ

18. ผู้ที่ไม่สบายเป็นโรคทางเดินหายใจทุกราย ควรใส่หน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรค สำหรับคนปกติ ถ้าต้องการป้องกันโรค การใช้หน้ากากอนามัยชนิด N95 จะต้องใช้ให้ถูกวิธี ในคนปกติ ถ้าใช้ถูกวิธีค่อนข้างจะอึดอัดมาก บุคลากรทางการแพทย์มีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องใช้ รวมทั้งชุดในการป้องกันตัวเองไม่ให้ติดโรค

19. ในภาวะปกติที่โรคยังไม่ระบาด ควรดำเนินชีวิตแบบปกติ รักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง ออกกำลังกาย ให้สม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ ใครมีโรคประจำตัวก็หมั่นดูแลรักษา


20. ขณะนี้มีข่าวออกมาในสื่อสังคมมากมาย มีทั้งที่ถูกต้องและไม่ถูกต้อง การเสพสื่อ จะต้องวิเคราะห์สังเคราะห์ ก่อนที่จะส่งต่อออกไป การตื่นตระหนก ไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น การรับสถานการณ์ควรรับแบบมีสติ และรอบคอบ ใช้องค์ความรู้ต่างๆที่เกิดขึ้นใหม่อยู่ตลอดเวลา เข้ามาประกอบการ