งานหดเพราะโควิด บ.อีเวนต์ ปรับตัวขายหน้ากากผ้าปลอดเชื้อ

หลังโควิด-19 ระบาด ส่งผลให้การใส่หน้ากากอนามัยกลายเป็น New Normal ไปทั่วโลก และกลายเป็นสินค้าหายากขาดตลาดในชั่วข้ามคืน

“ปณิตา ดีเหลือ” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไอ แอม เวิร์ค จำกัด บริษัทรับจัดอีเวนต์ ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เพราะไม่สามารถจัดงานใดๆ ได้ จึงต้องคิดวิธีการให้บริษัทและพนักงานอีกหลายชีวิตอยู่รอด

“ปณิตา” เผยว่า จากประสบการณ์ทำให้ได้เจอผู้คนมากหน้าหลายตา ที่เกี่ยวข้องกับยางพารา หนึ่งในนั้นคือ วิสาหกิจชุมชนบ้านเนินสว่าง จังหวัดระยอง ที่นำน้ำยางมาแปรรูปเป็นหมอนและที่นอนเพื่อสุขภาพ เพราะยางพารามีคุณสมบัติระบายอากาศได้ดี ยับยั้งการเกิดเชื้อราและเชื้อแบคทีเรีย

“ด้วยคุณสมบัติของยางพารา บวกกับช่วงหน้ากากอนามัยขาดตลาด เลยชวนคนในวิสาหกิจชุมชนมาทำหน้ากากผ้า เริ่มทดลองทำแผ่นกรองจากยางพารา ความบางไม่เกิน 3 มิลลิเมตร ผสมนาโนซิงค์ สารยับยั้งแบคทีเรีย และคาร์บอนธรรมชาติจากกะลามะพร้าวเผา ซึ่งได้ประสิทธิภาพดี ส่วนเนื้อผ้าด้านนอกเลือกใช้ผ้าไนลอน เนื่องจากมีคุณสมบัติกันน้ำ 100% ระบายอากาศได้ดี ที่สำคัญ ยังป้องกันยูวีและฝุ่น PM2.5 ได้ กลายเป็นนวัตกรรมหน้ากากผ้าปลอดเชื้อฟิลเตอร์ยางพารา ได้รับการรับรองจากเนลสัน แล็บ ว่าสามารถป้องกันไวรัสได้มากกว่า 95% เป็นนวัตกรรมที่อาจจะมีคนทำ แต่ยังไม่มีใครทำแล้วได้ผลการรับรองแบบเรา”

อีกคุณสมบัติเด่นคือ สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้มากถึง 50 ครั้ง โดยไม่เสื่อมคุณภาพ สินค้าทุกชิ้นก่อนส่งถึงมือลูกค้าจะผ่าการฆ่าเชื้อโดยวิธีนึ่งด้วยไอน้ำและใส่ถุงซีล ลูกค้าสามารถฉีกซองแล้วใช้ได้ทันที มีให้เลือกสามสีคือ สีดำ สีน้ำเงิน สีน้ำตาล ดูแลรักษาง่าย ซักด้วยน้ำสบู่ แช่น้ำร้อน 70 องศา แล้วล้างด้วยน้ำอุณหภูมิปกติ จากนั้นผึ่งแดดจนแห้งสนิทแล้วนำกลับมาใช้ใหม่ได้

“สินค้าทุกชิ้นจ้างชาวบ้านเย็บ เป็นงานฝีมือล้วนๆ แต่ทุกคนต้องผ่านการทดลองก่อน ปัจจุบันมีคนที่ผ่านการทดลองแล้ว 300 คน เป็นชาวบ้านในชุมชนต่างๆ ไม่จำกัดแค่ในจังหวัดระยอง เช่น จังหวัดยะลา นราธิวาส ลำปาง แพร่ ค่าแรงให้ชิ้นละ 20 บาท จะได้มีกำลังใจทำ มีโรงงานติดต่อเข้ามาอยากจะขอทำให้ แต่ปฏิเสธไปเพราะเราทิ้งชาวบ้านไว้กลางทางไม่ได้ เราทำมาด้วยกัน นี่คือความจริง”

“ปณิตา” เปรียบชุมชนเป็นต้นน้ำ ผลิตแล้วส่งต่อมาที่บริษัทคือกลางน้ำ จากนั้นส่งต่อไปยังผู้บริโภคที่อยู่ปลายน้ำ ทุกคนได้ประโยชน์ ผู้บริโภคจ่ายตังค์และมั่นใจได้ว่าหน้ากากผ้าที่เขายอมจ่ายตังค์สามารถป้องกันไวรัสได้

“จนถึงตอนนี้สามารถฝ่าวิกฤตโควิด-19 ได้ มีเงินมาหล่อเลี้ยงบริษัท และชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบมีรายได้จุนเจือครอบครัว ไม่ต้องออกไปหางานไกลๆ”

ปัจจุบันหน้ากากผ้าปลอดเชื้อฟิลเตอร์ยางพาราพัฒนารูปแบบใหม่ ให้สามารถปรับสายโดยไม่ต้องกังวลเรื่องเจ็บหู ซึ่งจะเริ่มจำหน่ายประมาณต้นเดือนกรกฎาคมเป็นต้นไป และวางแผนไว้ว่าจะส่งออกไปต่างประเทศ เช่น จีน อังกฤษ เยอรมนี แคนาดา ที่สนใจ

“มั่นใจว่าถึงโควิด-19 จะหยุดการแพร่ระบาดเพราะมีวัคซีน แต่ค่าฝุ่นละอองยังคงมีอยู่ ซึ่งหน้ากากผ้าปลอดเชื้อฟิลเตอร์ยางพารา สามารถป้องกันฝุ่นได้ 100% ฟีดแบ็กจากลูกค้า 95% ชอบของเรา มีการซื้อซ้ำ ถือว่าสำเร็จแล้ว และอีกอย่างคุณหมอตามโรงพยาบาลต่างๆ เลือกใช้หน้ากากของเรา เราคือทางเลือกอันดับหนึ่งของหน้ากากผ้า ถึงจะมาช้าแต่ก็ได้รับการตอบรับที่ดี” ปณิตา กล่าวทิ้งท้าย

ประชาชาติธุรกิจ นำเสนอซีรีส์ “รวมพลังสู้ โควิด-19” ภายใต้เนื้อหาที่มาจากประชาชน นักคิด นักเขียน ผู้รู้ นักธุรกิจ สตาร์ตอัพ ผู้ประกอบการทุกระดับ ที่นำเสนอแนวคิด ความรู้ และทางออกจากปัญหาไปด้วยกัน