ดราม่า โฆษณาประกันชีวิต ชาวเน็ตจวกไม่สะท้อนภาพจริง คน ตจว.

ดราม่า ไทยประกันชีวิต

โลกออนไลน์วิจารณ์ คลิปวิดีโอโฆษณาบริษัทประกันชีวิตแห่งหนึ่ง ชี้ไม่ตอบโจทย์ ปัญหาในชีวิตจริงของคนต่างจังหวัด 

วันที่ 10 กันยายน 2563 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โลกออนไลน์เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ บริษัทประกันชีวิตชื่อดังแห่งหนึ่ง ที่เผยแพร่เนื้อหาวิดีโอโฆษณา เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2563 ที่ผ่านมา

เนื้อหาในวิดีโอโฆษณาดังกล่าว ถ่ายทอดเรื่องราวของสองพ่อลูกคู่หนึ่ง ที่ใช้ชีวิตอยู่ในเมืองหลวง ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจ ทำให้พ่อลูกคู่นี้เผชิญชะตากรรมชีวิตที่ยากลำบาก เช่น เวลาไม่มีเงินกินข้าว ต้องไปต่อแถวรออาหารแจกตามสถานที่ต่างๆ รวมถึงการถูกทวงหนี้ ไม่มีเงินรักษาเวลาลูกป่วย ไม่มีที่อยู่จนต้องไปอาศัยนอนใต้สะพานลอย ฯลฯ

ทั้งคู่จึงตัดสินใจเดินทางกลับต่างจังหวัด ไปทำไร่ทำสวน จนชีวิตมีความสุข

แต่แทนที่ชาวเน็ตจะซาบซึ้ง กลับมีหลายความเห็นที่สะท้อนว่าโฆษณาดังกล่าวเป็นการสร้างภาพในอุดมคติ ว่าการอยู่ต่างจังหวัดต้องทำไร่ทำสวน มีความสุข ทั้งที่ความจริงแล้วชีวิตในต่างจังหวัดยังมีปัญหาอีกมากมาย เช่น กรรมสิทธิ์ที่ดิน การชลประทานที่ไม่ครอบคลุม เงินลงทุนสำหรับทำการเกษตร ฯลฯ

ชาวเน็ตรายหนึ่ง แสดงความเห็นว่า “โฆษณาของบริษัท…ตัวล่าสุดโคตรยูโทเปีย สอนคนจนให้พอใจกับชีวิตที่ถูกโครงสร้างสังคมกดทับ สังคมเกษตรกรรมมันไม่ได้สวยงามขนาดนั้น ระบบชลประทานยังไม่ทั่วถึงเลย ไหนจะค่าที่ ค่าเมล็ดพันธ์ุ การเมืองก็ห่วย กลุ่มทุนผูกขาดก็แทบจะกลืนกินประเทศ…” 

 

ภาพจาก Twitter

ด้าน “มนตรี อุดมพงษ์” ผู้สื่อข่าวภาคสนามของสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 แสดงความเห็นต่อกรณีดังกล่าว ผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัวเช่นกัน

ข้อความตอนหนึ่ง ระบุว่า จริงๆ แล้วไม่ใช่ว่า ผู้คนไม่อยากทำไร่ทำสวน แล้วต่างพากันเข้ามาประกอบอาชีพในเมืองหลวง แต่ต้นเหตุมาจากการที่ไม่มีที่ดินทำกินของประชาชน ส่วนคนที่มีที่ดินเป็นของตัวเอง ก็ไม่ได้เอื้ออำนวยในทำการเกษตรมากนัก

 

ภาพข่าว : เฟซบุ๊ค มนตรี อุดมพงษ์

นอกจากนี้ ชาวเน็ตยังพูดถึงคำว่า Romanticize ซึ่งหมายถึง การทำให้ดูดีเกินความเป็นจริง โดยมีหนึ่งความเห็นได้ตั้งคำถามว่า การมา Romanticize กับการมีฐานะยากจนในปัจจุบัน มีความเหมาะสมหรือไม่

“ไม่อินก็ไม่แปลกอะ คือจะมีคนที่หาเช้ากินค่ำอยู่กี่คนกันที่มีที่ทำกินเป็นของตัวเองเหมือนในโฆษณา ถ้าซัก 10 ปี ก่อนอาจจะอิน แต่ปัจจุบันจะ Romanticize กับความจน คือมันไม่ใช่อ่ะ” 

 

ภาพจาก Twitter

ล่าสุดผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริษัทที่ผลิตเนื้อหาดังกล่าว ได้ปิดช่องแสดงความคิดเห็น บนช่องยูทูปของตนเองแล้ว