กรมทรัพยากรฯ เตือน! มีผู้พบ หมึกบลูริง เสียบไม้ปิ้งขายในตลาด

เตือนพบหมึกบลูริงในตลาด
ภาพจากเพจเฟซบุ๊ก กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โพสต์เตือนอันตรายจาก “หมึกบลูริง” หลังมีผู้พบเสียบไม้ปิ้งขายในตลาด

วันที่ 30 พฤศจิกายน 2563 เพจเฟซบุ๊ก กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โพสต์ข้อความเตือนเรื่อง หมึกบลูริง หลังมีผู้พบ หมึกบลูริง เสียบไม้ปิ้งขายในตลาดแห่งหนึ่งในจังหวัดปทุมธานี ข้อความดังนี้

“จากทะเลมาปทุมธานี หมึกบลูริงพิษร้ายระวังด้วยจ้า”

วันที่ 30 พฤศจิกายน 2563 กรม ทช. โดยสถาบันวิจัย ทช. รับแจ้งจากคุณจันทรา​ พุ่มแจ่ม​ แจ้งพบหมึกบลูริง เสียบไม้ปิ้งขายในตลาดนัดตอนเย็น พื้นที่ จ.ปทุมธานี แม้ว่าหมึกย่างจะอร่อยมากก็จริง ยิ่งเจอน้ำจิ้มรสเด็ดยิ่งแจ่ม แต่ให้สังเกตเพิ่มกันหน่อย ทั้งพ่อค้าแม่ค้าคัดแยกให้ดีก่อนเอามาปรุงอาหารขาย ลูกค้าก็เช่นกันก่อนบริโภคสังเกตลายสักนิด

ถ้าพบหมึกมีลายเป็นวง ๆ สีน้ำเงินทั่วตัวจนไปถึงเส้นหมวด ให้หลีกเลี่ยงด่วน อันตรายมากเพราะพิษของหมึกชนิดนี้ แม้ปรุงสุกก็ไม่สลาย ยังมีอันตราย พิษนี้ทนความร้อนได้สูงถึง ๒๐๐ องศาเซลเซียส ดังนั้น แม้ย่างสุกก็ไม่สามารถทำลายพิษได้ ปัจจุบันยังไม่มียาแก้พิษใดๆ ต่อต้านได้

ขณะที่ รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้แชร์ข้อความดังกล่าว พร้อมโพสต์เตือนเพิ่มเติมว่า

เวลาเลือกซื้อปลาหมึก จะสดหรือจะย่างแล้วก็ตาม สังเกตดูว่ามีใครเอาหมึกที่มีลักษณะเป็นวงกลมสีน้ำเงินแบบนี้มาขายหรือเปล่า

ถ้าเจอวงแหวน ถ้า 1 หรือ 2 วงอันนั้นเป็นหมึกอิคคิว สามารถกินได้

แต่ถ้าเจอวงแหวนเต็มตัวแบบนี้ น่ากลัวมากนะครับ เพราะมันเป็นหมึกวงแหวนสีน้ำเงิน ซึ่งพิษของมันไม่อาจจะใช้ความร้อนลายได้ ห้ามกินเด็ดขาดครับ

ก่อนหน้านี้ นายวิชาญ องศรีสว่าง อธิบดีกรมประมง และ นักวิชาการประมง ได้แจ้งเตือนและให้ข้อมูลเกี่ยวกับการพบหมึกบลูริงหรือหมึกสายวงสีน้ำเงิน (Blue-ringed Octopus: Hapalochlaena spp)  ว่าสามารถพบได้ทั้งในทะเลอ่าวไทย และทะเลฝั่งอันดามัน

โดยหมึกบลูริงจะมีลักษณะลำตัวขนาดเล็ก มีลายวงแหวนสีฟ้าสะท้อนแสงเล็กๆ กระจายอยู่ตามลำตัวและหนวด ตัวเต็มวัยมีขนาด 4-5 เซนติเมตร และหนวดยาวประมาณ 15 เซนติเมตร

อาศัยอยู่ตามซอกหินและชอบหลบซ่อนตัวอยู่ในทรายใต้ท้องทะเล เคลื่อนที่โดยการใช้หนวดเดินจะไม่ใช้การพ่นน้ำเพื่อพุ่งตัวในการเคลื่อนที่เหมือนหมึกกล้วย

พิษของหมึกบลูริงหรือหมึกสายสีน้ำเงินมีชื่อว่า Maculotoxin(มาคูโลทอกซิน) ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับพิษของปลาปักเป้าที่มีชื่อว่า Tetrodotoxin(เทโทรโดทอกซิน)

สามารถพบพิษนี้ได้ในต่อมน้ำลาย (Salivary gland) ปาก หนวด ลำไส้ และต่อมหมึก พิษชนิดนี้จะทำลายระบบประสาททำให้ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้

และทำให้เหยื่อตายหรือเป็นอัมพาต ผู้ที่ถูกหมึกบลูริงกัดเปรียบเหมือนการฉีดยาพิษเข้าเส้นเลือดโดยตรง โดยพิษจะออกฤทธิ์อย่างรวดเร็ว

และเร็วกว่าพิษจากปลาปักเป้า อาการเริ่มแรกของผู้ที่ถูกกัดหรือกินหมึกบลูริงเข้าไปจะมีอาการคลื่นไส้ ตาพร่าเลือน มองไม่เห็น ประสาทสัมผัสไม่ทำงาน

พูดหรือกลืนน้ำลายไม่ได้ จากนั้นจะเป็นอัมพาตและหยุดหายใจเนื่องจากสมองขาดออกซิเจน หากไม่ได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงทีจะทำให้ตายในที่สุด