ดราม่า “เสือร้องไห้” บริษัทมาเลเซีย ยื่นจดทะเบียนเป็นของตนเอง

เสือร้องไห้

ร้านค้ารายย่อยในมาเลเซีย ร้องหน่วยงาน “ทรัพย์สินทางปัญญา” หลัง บริษัทเอกชน ยื่นจดทะเบียนเมนู “เสือร้องไห้” เป็นของตนเอง

วันที่ 14 มกราคม 2564 ข่าวสดรายงานว่า เมื่อวานนี้ (13 ม.ค.) มาเลย์ เมลล์ สื่อใหญ่ของมาเลเซียได้รายงานว่า มีการยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า คำว่า “ฮารีมาอู เมอนางิส” ซึ่งเป็นชื่อเมนูอาหาร ที่รู้จักกันในชื่อ “เสือร้องไห้” ในภาษาไทย ของบริษัท Noor Khan Enterprise บริษัทเอกชนแห่งหนึ่งในมาเลเซีย

การจดทะเบียนดังกล่าว ระบุว่า เมนู “เสือร้องไห้” เป็นมรดกทางภูมิปัญญา วัฒนธรรมของชาวมาเลเซีย และเตรียมผูกขาดเรียกเก็บผลประโยชน์ทางธุรกิจจากเมนูนี้

ทั้งนี้บริษัทดังกล่าวเป็นบริษัทของ ดาติน นูร์ การ์ตินี นูร์ โมฮาเหม็ด แม่ของดารา นางแบบ นักธรุกิจคนดังระดับเซเลปของประเทศมาเลเซีย ส่งผลให้กรณีที่เกิดขึ้นกลายเป็นกระแสไวรัลอย่างกว้างขวางในมาเลเซีย

เอกสารดังกล่าวเป็นภาพถ่ายหน้าจอแสดงให้เห็นเอกสารการยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า “harumau menangis” ไปยังสำนักทรัพย์สินทางปัญญาของมาเลเซีย (MyIPO) ลงวันที่ยื่นเอาไว้เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2563 โดยสถานะเอกสาร ณ วันที่ 30 พฤศจิกายน นั้นอยู่ระหว่างการพิจารณา

ภาพดังกล่าวกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของชาวเน็ตมาเลเซียเป็นอย่างมาก เพราะการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในครั้งนี้อาจจะส่งผลกระทบต่อเจ้าของธุรกิจขนาดเล็กที่ขายเมนูดังกล่าว และชาวเน็ตชาวมาเลเซียต่างตั้งคำถามกันเป็นวงกว้างว่า การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านี้จะเป็นไปได้อย่างไรในเมื่อบริษัทแห่งนี้ไม่ได้เป็นผู้ตั้งชื่อ และคิดค้นอาหารชนิดนี้ขึ้นมา

ทั้งนี้ชาวมาเลเซียส่วนใหญ่เชื่อกันว่า เมนูเสือร้องไห้นี้เป็นอาหารพื้นเมือง และมีต้นกำเนิดในประเทศไทย ขณะที่นักเคลื่อนไหวด้านภาษาของมาเลเซีย ระบุว่า ตามพจนานุกรมแล้ว harumau menangis นั้นหมายถึงส่วนหนึ่งของเนื้อไม่ใช่เมนูอาหาร ส่วนทางด้านนางดาติน นูร์ ได้อ้างเหตุผลว่า เมนูเสือร้องไห้เป็นมรดกทางวัฒนธรรม และเป็นทรัพย์สินทางปัญญาของชาวมาเลเซีย ที่ถูกถ่ายทอดสืบต่อกันมายาวนาน

ทำให้มีประชาชนบางส่วนได้ส่งเรื่องร้องเรียนไปยังหน่วยงานกำกับดูแลทรัพย์สินทางปัญญา และแชร์ภาพดังกล่าวออกไปมากยิ่งขึ้น เพื่อให้ผู้คนตระหนักถึงการกระทำที่ไม่เหมาะสมของบริษัทเอกชนแห่งนี้ ที่นำมรดกทางวัฒนธรรม ไปจดทะเบียนเพื่อหาผลประโยชน์ส่วนตัวในเชิงพานิชย์

อย่างไรก็ตามมีรายงานว่า รัฐบาลมาเลเซียประกาศชะลอ การรับรองคำขอจดทะเบียนลิขสิทธิ์และเครื่องหมายการค้าในครั้งนี้เอาไว้แล้ว โดยระบุว่า กรณีนี้เป็นเรื่องที่มีความละเอียดอ่อน ทั้งนี้หน่วยงานทรัพย์สินทางปัญญา (MyIPO) ของมาเลเซีย มีหน้าที่ในการรับจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา เครื่องหมายการค้า การออกแบบทางอุตสาหกรรม สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ รวมถึง รับจดลิขสิทธิ์ผลงานต่างๆด้วย โดย MyIPO จะมีกระบวนการในการพิจารณาราว 7-12 เดือน