เปิด 9 ข้อห้าม “ตำรวจไทย” ใช้โซเชียล ปมเมียถ่าย TIKTOK อวดขึ้นเฮลิคอปเตอร์

เปิด 9 ข้อห้าม “ข้าราชการตำรวจไทย” ในการใช้สื่อสังคมออนไลน์ ห้ามเต้น ห้ามตลก ห้ามพาดพิงสถาบันฯ

วันที่ 20 เมษายน 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานกรณีผู้ใช้ออนไลน์จำนวนมากแชร์คลิป หญิงสาวคนหนึ่งลงคลิปใน TikTok ซึ่งถ่ายกับเฮลิคอปเตอร์ มีตราสัญลักษณ์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยสาวคนดังกล่าว ได้ถ่ายตั้งแต่ก่อนขึ้นเครื่อง และขึ้นไปนั่งภายในขึ้นบิน ถ่ายให้เห็นบรรยากาศภายในเฮลิคอปเตอร์ เห็นนักบินที่แต่งกายคล้ายเครื่องแบบนักบินของตำรวจ และถ่ายเห็นทิวทัศน์สวยงาม จากมุมสูง พร้อมติดแฮชแท็ก ความสุข HAPPYDAY HAPPYLIFE

วานนี้ (19 เม.ย.) พล.ต.ต.ยิ่งยศ เทพจำนงค์ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (โฆษก ตร.) เปิดเผยว่า คลิปดังกล่าวเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมานาน 3 ปี โดยตำรวจรายนี้เป็นหน้าห้องของ อดีตรอง ผบช.ภ.4 วันดังกล่าวได้ไปราชการกับผู้บังคับบัญชา แต่มีภรรยาติดตามไปด้วย ล่าสุด พล.ต.ต.พิษณุ อุณหเสรี

ผบก.ภ.จว.อุดรธานี ได้มีคำสั่งให้ พ.ต.ท.อรรคพล ยี่เกาะ สว.กก.สส.ภ.จว.อุดรธานี ไปปฏิบัติราชการประจำศูนย์ปฏิบัติการ ตำรวจภูธรจังหวัดอุดรธานี โดยให้ขาดจากตำแหน่งและสังกัดเดิม พร้อมตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง หากพบว่ามีความผิดก็จะลงโทษทางวินัย

ส่วนกรณีคลิปวิดีโอ พ.ต.ท.อรรคพล แต่งเครื่องแบบตำรวจเต้นใน TikTok นั้น พล.ต.ต.ยิ่งยศ กล่าวว่า มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องนี้ด้วย เนื่องจากเป็นการกระทำผิดระเบียบ “การใช้สื่อสังคมออนไลน์ เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ อินสตาแกรม TikTok ของข้าราชการตำรวจ” ข้อ 9.ข้อมูลที่ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์อันดีของความเป็นข้าราชการตำรวจ ก่อให้เกิดความตลกขบขัน วิพากษ์วิจารณ์ในเชิงลบ ลดความเชื่อมั่น ศรัทธาต่องานตำรวจ ทั้งที่เป็นปัจเจกบุคคล และองค์กรตำรวจโดยรวม ซึ่งหากพบว่ามีความผิดก็ต้องพิจารณาทัณฑ์ทางวินัยตามระเบียบต่อไป

9 ข้อมูลข่าวสารที่ตำรวจไม่ควรเผยแพร่

ย้อนกลับไปเมื่อ (11 มี.ค.) พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอตสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ได้แถลงเปิดตัว “โครงการจัดทำแนวทางการใช้สื่อสังคมออนไลน์ของข้าราชการตำรวจ” เพื่อคู่มือแนะนำข้าราชการตำรวจทุกระดับให้เรียนรู้วิธีการใช้สื่อสังคมออนไลน์ ที่เกิดประโยชน์และถูกต้อง หลังพบว่ามีข้าราชการตำรวจใช้สื่อสังคมออนไลน์ไม่เหมาะสม

    1. ข้อมูลข่าวสารที่มีเนื้อหาพาดพิง หรือส่งในทางลบต่อสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
    2. ข้อมูลที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ หรือกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
    3. ข้อมูลที่มีเนื้อหาลักษณะยั่วยุ เสียดสี บิดเบือน หรือโฆษณาชวนเชื่อ สร้างความแตกแยกต่อหน่วยงาน องค์กร สถาบัน สังคม รวมถึงการไม่เป็นกลางทางการเมือง
    4. ข้อมูลความลับของทางราชการ ตามระเบียบการตำรวจที่กำหนดไว้
    5. ข้อมูลที่เข้าข่ายการกระทำผิดตามประมวลกฎหมาย ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารทั้งของราชการและบุคคล รวมถึงการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาและกฎหมายอาญาใด ๆ เช่น ภาพลามก อนาจาร
    6. ข้อมูลที่ส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือต่อพยานหลักฐานทางคดี เกิดผลเสียต่อกระบวนการยุติธรรม รวมถึงส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติภารกิจที่มีความเสี่ยง ในเชิงยุทธวิธีและยุทธการ
    7. ข้อมูลที่สร้างกระแสทางสังคมหรือก่อให้เกิดความตื่นตกใจโดยไม่ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริง และไม่มีหลักฐานยืนยัน
    8. ข้อมูลที่เป็นภัยคุกคาม ต่อระบบสารสนเทศ และเครือข่าย ได้แก่ โปรแกรมไม่พึงประสงค์ หรือมัลแวร์ทุกประเภท
    9. ข้อมูลที่ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์อันดีของความเป็นข้าราชการตำรวจ ก่อให้เกิดความตลกขบขัน วิพากษ์วิจารณ์ในเชิงลบ ลดความเชื่อมั่น ศรัทธาต่องานตำรวจ ทั้งที่เป็นปัจเจกบุคคล และองค์กรตำรวจโดยรวม

5 ประเภทข้อมูลข่าวสารที่ตำรวจโพสต์ได้

    1. คำแนะนำความรู้ด้านกฎหมาย เพื่อตักเตือนประชาชน ข้อมูลข่าวสารประชาสัมพันธ์ แสวงหาความร่วมมือจากประชาชน
    2. ข้อมูลข่าวสารชี้แจงประชาชน กรณีมีการบิดเบือน เพื่อชี้แจงภาพลักษณ์ที่ดีของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยภายใต้กำกับดแลของโฆษก หรือผู้บังคับบัญชาที่มีอำนาจ
    3. ผลงาน ผลการปฏิบัติงานของหน่วยภายใต้กรอบปฏิบัติการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนของตร.
    4. ข่าวสารข้อมูลส่วนตัวใดๆที่ไม่ขัดต่อจริยธรรม และจรรยาบรรณตำรวจ ไม่ผิดระเบียบ กฎหมาย ไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนเสียหายต่อผู้หนึ่งผู้ใด
    5. การเพิ่มช่องทางรับฟัง รับข่าวสารเบาะแสจากประชาชน