วิกฤตโควิด ผู้ป่วยใช้เครื่องช่วยหายใจพร้อมกัน 12 คน มีหมอ 2 คน

ติดโควิดป่วยลงปอด 12 ราย รพ.เดียว
Image by Michael Schwarzenberger from Pixabay

หมอโพสต์ภาพสะท้อนภาวะวิกฤตในโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ที่มีผู้ป่วยโควิด 12 ราย ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจพร้อมกัน แต่มีหมอโรคปอดเพียง 2 คน แนะ 3 อาวุธสำคัญ เพิ่มศักยภาพเตียงใน รพ.-จัดระบบหมุนเวียนผู้ป่วย  

ยุทธวิธีที่จะรับมือยามนี้ หนทางหนึ่งคือการพยายามขยายศักยภาพเตียงในโรงพยาบาลร่วมกับจัดระบบหมุนเวียนผู้ป่วยเข้าออกโรงพยาบาลให้เร็ว และหมุนเวียนเตียงผู้ป่วยที่เข้าโรงพยาบาลตามระดับความรุนแรงให้มีประสิทธิภาพ อีกทางหนึ่งคือใช้อาวุธที่มีประสิทธิภาพอย่างถูกที่ถูกเวลา สามอาวุธสำคัญที่จะรับมือ ผมขอเลือก

วันที่ 30 เมษายน 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานกรณี นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เผยว่าสถานการณ์ของผู้ป่วยอาการหนักวันนี้ กราฟพุ่งขึ้นทั้ง 3 เรื่อง ทั้งผู้ป่วยอาการหนัก ใส่ท่อช่วยหายใจ และเสียชีวิต สอดคล้องกับการหาเตียงให้กับคนไข้ที่พุ่งขึ้นต่อเนื่อง โดยเมื่อดูจำนวนผู้ป่วยอาการหนัก วันที่ 28 เมษายน ที่ผ่านมา รายใหม่ 786 ราย ในจำนวนนี้ใส่ท่อช่วยหายใจมากถึง 230 ราย ตามที่ได้เสนอข่าวไปแล้วนั้น

ล่าสุด รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และ นายกสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า ขอให้คนกรุงเทพและในทุกจังหวัด อย่าได้เป็นเช่นผู้ป่วยโควิดวิกฤตของโรงพยาบาลแห่งนี้เลย

ผู้ป่วยต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ 12 คนพร้อม ๆ กัน มีหมอโรคปอดดูแลกันอยู่สองคน แค่ดูเตียงแรกวนไปถึงเตียงสุดท้ายก็อาจจะได้หน้าลืมหลัง (รายละเอียดผู้ป่วย) ไปแล้ว รอพรุ่งนี้นะ จะช่วยรับมาดูแลแทนให้ 1 คน (แต่ก็ยังเหลืออีกตั้ง 11) วอนทุกฝ่ายช่วยกันขจัดภาพเช่นนี้ให้ได้เร็วที่สุด อดทนลำบากกันอีกนิด (ดูภาพ)

ขณะที่ก่อนหน้านี้ รศ.นพ.นิธิพัฒน์ โพสต์ข้อความถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิดว่า อย่างที่ทำนายไว้ แม้ยอดผู้ป่วยใหม่จะลดลงช้า ๆ แต่จำนวนผู้ป่วยหนัก ผู้ป่วยใช้เครื่องช่วยหายใจ และผู้ป่วยเสียชีวิต จะเพิ่มขึ้นต่อไปอีกระยะหนึ่ง

ยุทธวิธีที่จะรับมือยามนี้ หนทางหนึ่งคือการพยายามขยายศักยภาพเตียงในโรงพยาบาลร่วมกับจัดระบบหมุนเวียนผู้ป่วยเข้าออกโรงพยาบาลให้เร็ว และหมุนเวียนเตียงผู้ป่วยที่เข้าโรงพยาบาลตามระดับความรุนแรงให้มีประสิทธิภาพ อีกทางหนึ่งคือใช้อาวุธที่มีประสิทธิภาพอย่างถูกที่ถูกเวลา สามอาวุธสำคัญที่จะรับมือ ผมขอเลือก

  1. Pulse oximeter เพื่อวัดระดับความอิ่มตัวของออกซิเจนจากปลายนิ้ว สำหรับคัดกรองว่าผู้ป่วยโควิด-19 มีปอดอักเสบเกิดขึ้นหรือยังเพื่อเริ่มให้ยาต้านไวรัสร่วมกับการดูแลในโรงพยาบาลหลัก และถ้ามีแล้วจำเป็นต้องให้ยาสเตียรอยด์เพื่อลดปฏิกิริยาการอักเสบในร่างกายหรือไม่
  2. ยาสเตียรอยด์ ทั้ง dexamethasone หรือ prednisolone ระลอกนี้แพทย์เริ่มใช้กันเร็วเมื่อเริ่มมีปอดอักเสบโควิดทั้งในระยะแรก (5 วันหลังมีอาการหรือหลังตรวจพบเชื้อ) และระยะหลัง (7-14 วัน) ช่วยให้จำนวนผู้ป่วยปอดอักเสบรุนแรงจนถึงขั้นวิกฤตลดลง (ตัวเลขผู้ป่วยหนักดูเยอะเพราะจำนวนผู้ป่วยโดยรวมมากมาย ไม่ใช่ยานี้ไม่ได้ผล)
  3. High-flow nasal cannula เครื่องให้ออกซิเจนอัตราไหลสูง ช่วยลดและชะลอการลุกลามของปอดอักเสบไม่ให้รุนแรงจนต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ ต้องใช้ให้เร็วเพื่อผลการรักษาที่ดีในเตียงผู้ป่วยระดับ 2 ต่อ 3 ในช่วงโรคขาขึ้น (step up treatment) และนำมาใช้ต่อเนื่องในเตียงผู้ป่วยระดับ 3 ต่อ 2 ในช่วงโรคขาลง (step down treatment)

ขอเป็นกำลังใจให้บุคลากรทางการแพทย์ที่ยังต้องเหน็ดเหนื่อยหนักกันอีกระยะหนึ่ง ใครที่รู้ตัวว่าทำให้พวกเราเหนื่อยช่วยกันจำไว้ด้วย แล้วค่อยมาเช็คบิลกันหลังเสร็จศึกระลอกนี้ (อ่านโพสต์ทั้งหมด)