เปิดใจนักเรียน แฝด 3 “อยากเป็นหมอ เพื่อรักษาคนไข้ในชนบท”

เปิดพี่ชายคนโตแฝด 3 นักเรียน รร.พรหมานุสรณ์ฯ จ.เพชรบุรี  สอบติดคณะแพทยศาสตร์มหิดล พร้อมกันทั้ง 3 คน “อยากเป็นหมอ เพื่อรักษาคนไข้ในชนบท”

วันที่ 12 พฤษภาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานกรณี นักเรียน แฝด 3 จากเมืองเพชรบุรี สอบติดแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมกัน ได้แก่ นายธนรัตน์ เข็มกลัด หรือ “ปอนด์” นายธนารักษ์ เข็มกลัด หรือ “ดอลล่าร์” และ นายธนพัฒน์ เข็มกลัด หรือ “มาร์ค” เป็นนักเรียนชั้น ม.6/1 โครงการห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม หรือ “ห้องเรียน สสวท.” รร.พรหมานุสรณ์จังหวัดเพชรบุรีตาม

“อยากเป็นหมอ รักษาคนไข้ในชนบท”

ข่าวสดรายงานบทสัมภาษณ์ของนายธนรัตน์ เข็มกลัด หรือ ปอนด์ อายุ 18 ปี พี่ชายคนโต กล่าวว่า ศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น (ม.1 – ม.3) ห้องเรียนพิเศษภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ (EMS) ร.ร.พรหมานุสรณ์ฯ และศึกษาต่อ ม.ปลาย ห้องเรียนโครงการ สสวท. สายวิทยาศาสตร์ – คณิตศาสตร์ โดยตนเองและน้องชายฝาแฝดอีก 2 คน ต่างสนใจที่จะศึกษาต่อในคณะแพทยศาสตร์ ทุนโครงการผลิตแพทย์เพื่อชนบทของมหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อเรียนจบชั้น ม.6 จึงสอบชิงทุนโครงการผลิตเพื่อชนบทตามความฝันของตนเอง

นายธนรัตน์ กล่าวต่ออีกว่า ตนกับน้องชายทั้ง 3 คน มีความตั้งที่จะเรียนเป็นหมอทำงานในโรงพยาบาลชนบท จึงได้สมัครสอบชิงทุนโครงการแพทย์เพื่อชนบท มีการยื่นเกรดเฉลี่ยรวม 5 เทอมในชั้น ม.ปลาย และทำการสอบข้อเขียน 7 วิชาสามัญ ได้แก่ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา คณิตศาสตร์ ภาษาไทย สังคมศึกษา และภาษาอังกฤษ สอบข้อเขียนไปช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา

ปรากฏว่าผลสอบข้อเขียนผ่านทั้ง 3 คน เข้ารับการสอบสัมภาษณ์เมื่อช่วงต้นเดือนพฤษภาคม และทางมหาวิทยาลัยมหิดลได้ประกาศรายชื่อเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคมที่ผ่านมา ผ่านการคัดเลือกให้เข้าศึกษาต่อในคณะแพทยศาสตร์ โครงการผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบท โควตากลุ่มแพทย์เพื่อชุมชน

“ผมและน้องชายได้ตอบยืนยันเข้าศึกษาต่อคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จะตั้งใจศึกษาเล่าเรียน เก็บเกี่ยวความรู้ประสบการณ์ต่าง ๆ เพื่อที่เรียนจบแล้วจะกลับมาทำงานเป็นหมอประจำโรงพยาบาลในจังหวัดเพชรบุรี รักษาคนไข้ในพื้นที่ชนบท เพราะเท่าที่ทราบว่าจำนวนแพทย์ในจังหวัดเพชรบุรียังไม่เพียงพอกับจำนวนผู้ป่วย จึงอยากใช้ความรู้ความสามารถเข้ามาทำงานตรงนี้ ทั้งนี้ต้องขอขอบคุณทางโรงเรียนพรหมานุสรณ์ ทั้งครูแนะแนว ครูที่ปรึกษา ครูผู้สอนประจำรายวิชาได้ให้ความรู้ คำแนะนำและให้การสนับสนุนการสอบทุนโครงการแพทย์เพื่อชนบทจนประสบความสำเร็จ” นายธนรัตน์ กล่าว

ขณะที่ นายอรุณ สรรพคุณ ผู้อำนวยการโรงเรียนพรหมานุสรณ์ กล่าวว่า นับเป็นเรื่องที่น่าภาคภูมิใจที่นักเรียน รร.พรหมานุสรณ์ฯ สามารถสอบติดโควตาโครงการแพทย์เพื่อชนบทจำนวน 7 คน ในจำนวนนี้เป็นแฝดชายถึง 3 คนที่มีความประสงค์จะศึกษาต่อในคณะแพทยศาสตร์ ซึ่งที่ผ่านมาทางโรงเรียนได้ให้การสนับสนุนส่งเสริมให้นักเรียนได้ศึกษาต่อในสาขาหรือคณะที่ตนเองต้องการ

นอกจากนี้การจัดการเรียนการสอนในห้องเรียนที่เข้มข้นด้วยเนื้อสาระวิชาแล้ว ยังเสริมเทคนิคการทำข้อสอบ รวมถึงการแนะแนวให้ความรู้เกี่ยวกับการเรียนต่อในระดับอุดมศึกษาตามความถนัด ความต้องการ และคะแนนสอบของผู้เรียนอย่างเหมาะสม