ดร.สุรพล โพสต์ 101 วัน รพ.ธรรมศาสตร์ วิกฤตหนัก! “เราอาจแพ้ศึกและล้มลง”

ผู้ป่วยโควิด-รพ.ธรรมศาสตร์

ประธาน รพ.ธรรมศาสตร์ โพสต์ 101 วัน รพ.ธรรมศาสตร์ วิกฤตหนัก ! เตียงเต็มเอี้ยด ทั้งใน รพ.และ รพ.สนาม  ต้องปล่อยให้นอนรอรับการรักษา หวั่นเป็นจุดกระจายเชื้อ ขณะที่มีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นรายวัน ลุ้นระบบ  Home Isolation ยันสถานการณ์ไปได้ 2-3 เดือน ตั้งคำถาม “ประเทศของเรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร !!?”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2564 ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ ประธานกรรมการบริหารโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก Surapon Niti เกี่ยวกับสถานการณ์การรักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ว่า วานนี้ (20 ก.ค. 64) วันที่หนึ่งร้อยหนึ่งของ รพ.สนามธรรมศาสตร์ และวันที่สี่สิบสามของศูนย์รับวัคซีนธรรมศาสตร์รังสิต ในการดำเนินการตั้ง รพ.สนาม และรับรักษาผู้ป่วยโควิด

ศ.ดร.สุรพลกล่าวว่า เมื่อวันที่ 20 ก.ค. เราตรวจ Swab ไป 216 คน พบว่าเป็นผลบวก 33 ราย ที่ผลบวกน้อยกว่า 20% นี้ก็คงเป็นเพราะเป็นบุคลากรของ รพ.ธรรมศาสตร์เองเป็นหลัก ในจำนวนนั้นก็มีบุคลากรของเราที่มีผลบวกเพิ่มอีก 3 ราย ทำให้จำนวนบุคลากรในโรงพยาบาลที่ติดเชื้อโควิดสะสม เพิ่มไปเป็น 75 คนแล้ว

ทั้งนี้ยังไม่นับจำนวนกักตัวที่เป็นผู้มีความเสี่ยงสูง ที่มีสะสมรวมกันไม่น้อยกว่าห้าร้อยรายด้วยและยังเหลือสักร้อยคนในขณะนี้ที่ต้องถูกกักตัวต่อไปจนครบอย่างน้อยหนึ่งสัปดาห์ ที่ยังไม่มีโอกาสกลับมาทำงาน

ผู้เสียชีวิตเพิ่มแทบทุกวัน

เมื่อวานมีผู้ป่วยโควิดเสียชีวิตในโรงพยาบาลอีกหนึ่งคน ถ้าจะดูความรุนแรงของการระบาดและผลต่อผู้ป่วย ตัวเลขผู้เสียชีวิตอาจจะบอกได้ส่วนหนึ่งเพราะก่อนหน้านี้เพียงเดือนเดียว เราแทบไม่มีผู้เสียชีวิตในโรงพยาบาลเลย หรือมีเพียงเดือนละ 3-4 คนเท่านั้น

“แต่ขณะนี้เรามีผู้เสียชีวิตแทบทุกวันจากเคสโควิด บางวันอาจมีหลายคนด้วยซ้ำ อันนี้ก็คงเป็นผลมาจากการที่เตียงผู้ป่วยวิกฤตของพวกเราเต็มทั้งหมดในจำนวนราว 50 เตียงที่มีอยู่ มาสามสี่วันแล้วนั่นเอง”

ศ.ดร.สุรพล กล่าวว่า ถึงวันนี้คงต้องยอมรับกันตรงไปตรงมาในระดับประเทศได้แล้วว่า โรงพยาบาลทั้งหมดที่มีอยู่ของเรา ไม่สามารถรับผู้ป่วยโควิดรายใหม่ที่มีอัตราการเพิ่มสูงระดับวันละกว่าหมื่นคนเช่นนี้ได้ และถ้ายังมีผู้ป่วยอาการไม่ดี สีเหลือง สีแดง เพิ่มเข้ามาที่โรงพยาบาลอีก (แต่เป็นเรื่องที่จะเกิดมากขึ้น เพราะผู้ป่วยสีเขียวต้องรอหลายวันจึงจะเข้ารับการดูแลใน รพ.ได้และจะมีอาการเลวร้ายลง)

แต่เมื่อ รพ.ไม่มีเตียง ไม่มีวอร์ดที่จะส่งผู้ป่วยเหล่านี้ขึ้นไปต่อได้ การนอนรอรับการรักษาอยู่ที่ห้องฉุกเฉินจึงเป็นทางเดียวที่ระบบโรงพยาบาลจะทำให้ได้ และถ้าจะเป็นเหตุให้มีโอกาสกระจายเชื้อไปยังผู้ป่วยอื่น หรือถ้าพื้นที่ในห้องฉุกเฉินเต็มแล้ว

ต้องวางเตียงผู้ป่วยไว้หน้าห้องฉุกเฉิน-พื้นที่ใกล้เคียง

การวางเตียงผู้ป่วยไว้หน้าห้องฉุกเฉิน ข้างห้องฉุกเฉินหรือพื้นที่ใกล้เคียงเท่าที่มีอยู่และเท่าที่จะทำได้ ก็จะเป็นปรากฏการณ์ที่พวกเราจะได้เห็นจากหลายโรงพยาบาล และจะชินตาไปเองในที่สุด โดยที่เราไม่ตระหนักว่า นั่นอาจจะเป็นผู้ป่วยโควิด เป็นผู้ป่วยทางเดินหายใจร้ายแรงที่สามารถแพร่เชื้อแก่ผู้ที่เดินผ่านไปผ่านมาได้

“เราเข้าใจความจำเป็นและเห็นใจสถานการณ์ของเพื่อนร่วมรบของเรา ที่จะต้องทำเช่นนั้น เพื่อช่วยดูแลชีวิตของผู้ป่วยให้ดีที่สุดที่จะทำได้ และเราก็ตระหนักดีว่า อีกไม่นาน สถานการณ์และความจำเป็นเช่นนั้นก็คงเกิดกับพวกเราด้วยเช่นกัน

“ประเทศและระบบสาธารณสุขของเราเดินมาถึงจุดนี้ได้อย่างไรนะ ?⁉️” ศ.ดร.สุรพล ตั้งคำถาม

เมื่อวันที่ 20 ก.ค.เราฉีดวัคซีน AZ (แอสตร้าฯ) ที่ยิม 4 ให้กับผู้สูงอายุที่ลงทะเบียนจองไว้ได้อีก 2,082 คน อีกสองวันที่เหลือก่อนปิดศูนย์รับวัคซีน เราเชื่อว่าเราจะไปที่เป้าหมายสะสม 80,000 คนได้

สำหรับที่ รพ.สนาม วันนี้แม้เราจะขอหยุดรับ refer ผู้ป่วยจากโรงพยาบาลภายนอกแล้ว แต่จำนวนผู้ป่วยใหม่ที่ส่งต่อมาจาก รพ.ธรรมศาสตร์เองก็ยังสูง อยู่ที่ 29 ราย ขณะที่เราส่งผู้ป่วยที่หายแล้วกลับบ้านได้ 21 ราย จำนวนผู้ป่วยสุทธิที่อยู่กับเราคืนนี้จึงมี 407 คน ไม่นับผู้ที่ต้องกักตัวเป็น PUIอีกเกือบสามสิบห้องของ รพ.สนาม

เรากลับมารับผิดชอบภารกิจหลัก คือรับผู้ป่วยอาการน้อยออกจาก รพ.ธรรมศาสตร์แล้ว เนื่องจากถ้าไม่มีเตียงที่นี่ ผู้ป่วยใหม่ที่ตรวจพบใน รพ.ธรรมศาสตร์วันละ 30-40 คนก็จะไปไหนไม่ได้เลย เนื่องจากทุกโรงพยาบาลเตียงเต็มหมดแล้ว

“ตัวเลขผู้ป่วยใหม่เกินหมื่นคนมาห้าวันติดกันแล้วนี้ คงหลีกเลี่ยงสถานการณ์นี้ได้ยากลำบากจริง ๆ คงเหลือเพียงแต่ว่า เหตุการณ์อย่างนั้นจะเกิดที่ รพ. ของเราวันไหนในไม่ช้านี้เท่านั้นแหละ

“จริง ๆ นะ ทำไมประเทศของเราถึงมาถึงจุดนี้ได้นะ” ศ.ดร.สุรพลตั้งคำถามอีกครั้ง และว่า

เชื่ออีกไม่นานอาจแพ้ศึก

ดูสถานการณ์แล้ว อีกไม่นานวันนัก เราก็จะแพ้ศึกคราวนี้ แต่ว่าสงครามโควิดก็คงจะยังไม่จบ และโรคร้ายนี้ก็คงจะคุกคามพวกเราทั้งประเทศอย่างรุนแรงต่อไปอีกหลายเดือน

อย่างไรก็ตาม เราคิดว่าระบบการดูแลผู้ป่วยที่บ้าน หรือ Home Isolation อาจจะทำให้เรารบแบบยันสถานการณ์ไปได้อีกสักสองสามเดือน แม้จำนวนผู้ป่วยใหม่จะเพิ่มขึ้นเป็นหมื่นห้า หรือสองหมื่นคนก็ตาม ถ้าระบบนี้สามารถบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพและน่าไว้วางใจ

เราเริ่มบริหารจัดการระบบ Home Isolation นี้มามากกว่าสองสัปดาห์แล้ว โดยมีผู้ป่วยที่เข้าโครงการในจำนวนเตียงน้อยกว่า 30 คนในสัปดาห์แรก โดยใช้ผู้ป่วยโควิดที่เป็นบุคลากรของเราเองเป็นกลุ่มเริ่มต้น เพื่อจะได้สื่อสารได้ตรง และเห็นปัญหาข้อจำกัดในการดำเนินโครงการ

เราจัดระบบแพทย์พยาบาลผู้รับผิดชอบโครงการ พัฒนาและสร้างแพลตฟอร์มการดูแลผู้ป่วย จัดระบบการสื่อสารกับผู้ป่วยโดยตรงย่านแอปในมือถือ จัดเตรียมอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นตลอดทั้งยาที่ผู้ป่วยจะต้องใช้ที่บ้าน วางระบบและจัดตารางแพทย์พยาบาลที่จะต้องส่งต่อการดูแลผู้ป่วยให้ได้ตลอดทั้ง 24 ชั่วโมง

เกือบสามสัปดาห์ที่ผ่านมา เราก้าวข้ามปัญหาหลักของการจัดการโครงการนี้ไปแล้วอย่างน้อยสามเรื่องใหญ่

  • เรื่องแรกคือการจัดการกับกฎกติกาที่มีอยู่เดิม จนทำให้สามารถส่งยาต้านไวรัสฟาวิพิราเวียร์ให้ผู้ป่วยที่มีข้อบ่งชี้ว่าจะต้องใช้ยานี้ให้สามารถนำยาไปใช้นอกโรงพยาบาลได้
  • เรื่องที่สอง การวางระบบโลจิสติกส์ที่ทำให้เราสามารถจัดหาและส่งอาหารถึงบ้านผู้ป่วยได้ทั้งสามมื้อ หรือส่งยาให้ด้วยหากมีความจำเป็นเช่นนั้น
  • เรื่องที่สาม เราสามารถจัดให้มีทีมแพทย์และพยาบาลที่จะสามารถติดตามการรายงานอาการของผู้ป่วยได้ทุกวัน และสื่อสารกับผู้ป่วยได้ตลอดเวลาที่ผู้ป่วยมีปัญหา หรือต้องการปรึกษาแพทย์

อีกสองเรื่องที่เรากำลังจัดการอยู่ในขณะนี้ก็คือการวางระบบรับเข้าและการกำหนดหน้าที่ของโรงพยาบาลที่จะต้องรับผิดชอบนำผู้ป่วยกลับเข้าดูแลใน รพ.เมื่ออาการเปลี่ยนไปเป็นสีเหลืองหรือสีแดง กับในเรื่องระบบการประมวลข้อมูล การจำแนกกลุ่มผู้ป่วย และการสื่อสารกับผู้ป่วยที่มีประสิทธิภาพสูงพอที่จะรองรับผู้ป่วยในระดับหนึ่งพันถึงสองพันคน และสามารถประมวลผลข้อมูลเพื่อใช้ประโยชน์ในด้านอื่น ๆ เช่น สถิติ การเงิน เวชระเบียนและการรวบรวมประวัติของผู้ป่วยเข้าสู่ฐานข้อมูลผู้ป่วยของโรงพยาบาลให้ได้ในคราวเดียวกันด้วย

ทั้งสองเรื่องที่เหลืออยู่นี้ เราทำอยู่ในสัปดาห์นี้ และคิดว่าจะเสร็จสิ้นในวันสองวันนี้ แล้วหลังจากนี้เราคงขยายโครงการนี้ออกไปเพื่อให้ทันกับสถานการณ์ที่มีผู้ป่วยเพิ่มทั้งประเทศมากกว่าวันละหมื่นคน และเพิ่มจำนวนผู้ป่วยในโครงการ #เตียงทิพย์ ของเราที่มีสะสมอยู่ราว 300 คนในขณะนี้ ให้กลายเป็น 500 และ 1,000 คนในสัปดาห์ต่อไปให้ได้

“สัปดาห์นี้หรือสัปดาห์หน้า พวกเราอาจจะแพ้ศึกและล้มลงได้ โดยที่ระบบโรงพยาบาลอาจจะไม่สามารถรับผู้ป่วยโควิดรายใหม่เข้าดูแลรักษาได้อีกเลย แต่พวกเราตั้งใจ และตั้งปฏิญาณว่า พวกเราจะยืนหยัด จะรวบรวมพละกำลังมาตั้งรับในแนวรับใหม่อีกครั้ง เพื่อจะช่วยไม่ให้ประเทศและประชาชนของเราต้องแพ้สงครามนี้” ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ กล่าว