เตือน! พยาธิปากขอไชเข้าผิวหนัง พบในอุจจาระหมา-แมวที่ติดเชื้อ

ระวัง! พยาธิปากขอไชผิวหนัง มากับน้ำหน้าฝน อาจมีสัตว์เป็นพาหะ
ภาพจากเฟซบุ๊ก Ouy Thipsuda

อุทาหรณ์ พยาธิปากขอไชเข้าร่างกายเด็ก แพทย์เตือนล้างมือทุกครั้งหลังสัมผัสดิน ทราย อาจมีอุจจาระสัตว์ปนเปื้อน

วันที่ 28 กันยายน 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ Ouy Thipsuda ได้โพสต์ข้อความระบุว่า ฝากเตือนคุณแม่ทุกบ้านช่วงนี้หลีกเลี่ยงให้เด็กอย่าไปเล่นดินโคลนทราย เพราะช่วงนี้พยาธิปากขอมากับน้ำกับสิ่งสกปรก ซึ่งไม่สามารถมองเห็นได้ พร้อมเปิดภาพขณะพยาธิปากขออยู่ใต้ผิวหนังบริเวณมือของเด็ก

ต่อมา Drama-addict ได้แชร์โพสต์ดังกล่าว พร้อมให้ความรู้เกี่ยวกับพยาธิดังกล่าวว่า Cutaneous larva migrans (creeping eruption) เป็นโรคผิวหนังติดเชื้อที่เกิดจากการเคลื่อนที่ไปตามผิวหนังของตัวอ่อนของพยาธิ หรือแมลงบางอย่าง โดยทั่วไปเกิดจากตัวอ่อนระยะที่ 3 ของพยาธิปากขอชนิด Ancylostoma braziliensis และ Ancylostoma caninum ชึ่งเป็นพยาธิปากขอของสุนัขและแมว

โรคนี้ มักพบในประเทศเมืองร้อนและชี้นแฉะ แต่บางตำราได้จัดรวมเอาตัวอ่อน filariform ของ พยาธิตัวกลมชนิด Strongyloides sp. และ Gnathostoma spinigerum เข้าไว้ด้วย

การติดเชื้อ พยาธิสภาพ และอาการทางคลินิก จากฝุ่น ดินหรือทราย ที่มีอุจจาระของแมวหรือสุนัขปะปนอยู่ ตัวอ่อนระยะติดต่อจะไชเข้าสู่ผิวหนัง และค่อย ๆ คืบคลานไปตามระหว่างชั้นของผิวหนัง ทำให้ผิวหนังเกิดเป็นร่องคดเคี้ยว (serpiginous tunnel) ต่อมาเกิดเป็นตุ่มใสขนาดเล็ก (vesicle) ขึ้นตามร่องเหล่านี้ เรียกพยาธิสภาพบนผิวหนังเช่นนี้ว่า creeping eruption
โดยมากพบร่องในลักษณะนี้หลาย ๆ ร่อง เช่น พบตามหัวเข่า ต้นขา หน้าแข้ง หรือมือและแขน เป็นต้น พยาธิสภาพที่ตรวจพบเซลล์อักเสบชนิดเรื้อรังและเซลล์ eosinophils เนื่องจากผู้ป่วยมีอาการคันที่ผิวหนังมากทำให้เกิดรอยเกาที่ผิวหนัง ผิวหนังเกิดภาวะแทรกซ้อนติดเชื้อแบคทีเรียได้ พยาธิสภาพของ creeping eruption สามารถหายเองได้ ไม่ต้องรักษาด้วยยาใด ๆ
ข้อมูลจากเว็บไซต์ หน่วยปฏิบัติการโรคอุบัติใหม่และอุบัติซ้ำในสัตว์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ให้ข้อมูลเรื่องพยาธิปากขอ ไว้ว่า พยาธิปากขอพบในสัตว์ได้หลายชนิด แต่ที่เกี่ยวข้องกับคน ส่วนใหญ่เป็นพยาธิปากขอในสัตว์กินเนื้อ เช่น สุนัข และแมว มีรายงานในบางประเทศว่า มีสุนัขประมาณ 96% และแมวประมาณ 80% ที่มีพยาธิปากขออยู่ในร่างกาย
โดยในสุนัข ตัวอ่อนของพยาธิสามารถติดต่อจากแม่ไปยังลูกในช่วงตั้งท้องหรือติดต่อผ่านทางปากในช่วงที่ลูกสัตว์ดูดนม สุนัขแมวและสัตว์อื่น ๆ ยังสามารถติดพยาธิได้จากสิ่งแวดล้อม โดยไข่ของพยาธิปากขอจะถูกขับออกมาพร้อมกับอุจจาระของสัตว์ที่ติดเชื้อแล้วฟักตัวเป็นตัวพยาธิตัวอ่อนในดิน โดยสัตว์สามารถติดเชื้อจากการกินพยาธิจากดินเข้าไป นอกจากนี้ตัวอ่อนพยาธิยังสามารถไชผ่านผิวหนังโดยตรงได้ หากมีการสัมผัสกับดินที่มีพยาธินานประมาณห้าถึงสิบนาที
ทั้งนี้ วิธีการป้องกันพยาธิปากขอ สิ่งที่สำคัญที่สุดในการป้องกัน คือ สุขอนามัย ควรล้างมือทุกครั้งหลังจากสัมผัสกับสัตว์ ดิน หรือสนามหญ้า การถ่ายพยาธิสัตว์ที่ติดเชื้อจะทำให้ลดการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมและโอกาสติดเชื้อสู่คน