5 บทเพลงสะท้อนชีวิต ห้วง 32 ปีความสัมพันธ์ไทย-ซาอุดีอาระเบีย

ภาพจาก https://unsplash.com

ความสัมพันธ์ไทย-ซาอุฯ ที่ได้รับการรื้อฟื้นในรอบ 30 ปีหลังการเยือนซาอุฯ ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เกิดเรื่องราวย้อนรำลึกความสัมพันธ์ 2 ประเทศทั้งระดับทางการและระดับประชาชน โดยเฉพาะชีวิตของแรงงานไทยที่เคยผ่านร้อนผ่านหนาวในดินแดนแห่งนั้น ที่สะท้อนผ่านบทเพลงนานา

วันที่ 27 มกราคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม พร้อมคณะเดินทางไปเยือนซาอุดีอาระเบียช่วงวันที่ 25-26 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา ฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศครั้งแรกในรอบ 32 ปี หลังเกิดคดีเพชรซาอุและการสังหารกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวกับซาอุดีอาระเบีย

ในเบื้องต้น การหารือ 2 ฝ่าย ทำให้เห็นพ้องที่จะยกระดับผู้แทนทางการทูตของทั้ง 2 ประเทศ จาก “อุปทูต” ให้กลับมาเป็นระดับ “เอกอัครราชทูต” ดังเดิม โดยเฉพาะการฟื้นความสัมพันธ์ด้านแรงงานที่เป็นที่รู้จักมากที่สุด

รมว.แรงงาน เตือนตรวจสอบเครื่องจักร อุปกรณ์ไฟฟ้า ช่วงหน้าฝน
ภาพจาก pixabay

พัฒนาไม่สมดุล แรงงานไทยหาโอกาสแดนทะเลทราย

บทความของศาสตราจารย์ รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ เมธีวิจัยอาวุโส สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เคยสันนิษฐานไว้ว่า ตั้งแต่ปี 2504 เมื่อเริ่มมีการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมชนิดที่มีการวางแผนจากส่วนกลางเป็นต้นมา รัฐบาลได้เน้นการพัฒนาภาคหัตถอุตสาหกรรม และละเลยการพัฒนาภาคเกษตรกรรมมาตลอดระยะเวลาสองทศวรรษ

เมื่อฐานะความเป็นอยู่ของประชาชนในภาคเกษตรกรรมไม่เพียงแต่จะไม่ดีขึ้นเท่านั้น หากยังเลวลงกว่าเดิมอีกด้วย การอพยพแรงงานจากภาคเกษตรกรรมมาสู่ภาคอุตสาหกรรมจึงเกิดขึ้น และจากภาคอุตสาหกรรมในประเทศยังไม่โตพอ แรงงานบางส่วนจึงโยกย้ายไปสู่ตลาดต่างประเทศ โดยเริ่มต้นในปี 2513 และนำรายได้กลับเข้าประเทศเป็นเม็ดเงินสูงถึง 7,000 ล้านบาท ในปี 2524

โดยในช่วงนั้นปี 2524 มีคนไทยทำงานในตะวันออกกลางรวม 159,000 คน ซึ่งแรงงาน 1 คน สามารถสร้างรายได้ปีละ 104,114 บาท แต่ปัจจุบันแรงงานที่มีในซาอุดีอาระเบียกำลังขาดแคลน เนื่องจากนโยบาย Saudization ที่กำหนดให้ภาครัฐและเอกชนต้องจ้างคนซาอุฯ เข้าทำงาน 20% ของคนงานทั้งหมด

ทำให้บางประเทศ เช่น ฟิลิปปินส์ และปากีสถาน เริ่มชะลอการจัดส่งแรงงานไปซาอุดีอาระเบีย รวมทั้งคนท้องถิ่นไม่นิยมทำงานหนัก ทั้งไม่มีการอบรมทักษะอาชีพมากพอ

จากความลำบากลำบนของแรงงานที่ไปค้าแรงงานแลกเงินในต่างแดน ก่อเกิดเป็นเรื่องราวบอกเล่าชีวิตแรงงานไทยในซาอุฯ ผ่านบทเพลง

“ประชาชาติธุรกิจ” รวบรวมเพลงที่เกี่ยวกับการไปใช้ชีวิต ตลอดจนถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการใช้แรงงานที่ซาอุดีอาระเบีย

1.หน่อยแน่ะ คาราบาว อัลบั้ม ขี้เมา (พ.ศ. 2524)

เพลงเล่าถึงชีวิตเด็กนักเรียนชนบทที่เพียรพยายามสอบแข่งขันให้ได้เรียน แต่ชีวิตไม่เป็นดั่งหวัง จนสุดท้ายมาคิดว่า เมื่อขายความรู้ไม่ได้ก็ขายแรงงานที่ประเทศซาอุดีอาระเบียแทน

“มาพบความจริงของการศึกษา
เหมือนดังเกมกีฬาชิงด้อยชิงดี
ฉันแพ้ปัญญาแต่หนังหนาเหมือนควาย
ขายความรู้ไม่ได้ ขายแรงกายให้มันรวย
จะเก็บตําราเอาไปฝังลงดิน
ฉันจะขี่เครื่องบินไปซาอุดีอาระเบีย…หน่อยแน่ะ”

2.หรอย คาราบาว อัลบั้ม วณิพก (พ.ศ. 2526)

เพลงมีความหมายคล้าย ๆ กับเพลงหน่อยแน่ะ ต่างที่เล่าถึงชีวิตคนภาคใต้ที่เรียนจบมหาวิทยาลัยแล้ว แต่หางานทำในประเทศไม่ได้ จนสุดท้ายต้องไปขายแรงงานที่ตะวันออกกลาง จึงคร่ำครวญคิดถึงบ้านที่จากมา

“แดดร้อน ๆ นอนใต้ต้นตะบองเพชรตัว
เป็นมันเป็นเม็ดมันเผ็ดดังโดนดีปลี
มองหาพื้นดินก็มีแต่หินกับทราย
มีแต่อูฐกับควายคือคนไทยถูกลวง
คนมีปริญญายังไม่รู้ว่ามาทําพรื้อ
คนอดมื้อกินมื้อจะมีความหวังอะไร
ฉันคิดถึงบ้านแค่ตัดยางก็พอกิน
ฉันคิดถึงบ้านแค่ตัดยางก็พอกิน
มันอยากจะขี่เครื่องบินกลับปักษ์ใต้บ้านนา”

3.ซาอุดร คาราบาว อัลบั้ม อเมริโกย (พ.ศ. 2528)

เพลงเล่าถึงชีวิตคนต่างจังหวัดที่ยอมขายที่ดินทำกิน หวังเป็นทุนไปขายแรงงานที่ซาอุดีอาระเบีย หาเงินกลับมาเลี้ยงดูครอบครัวให้พอมีพอกิน แต่สุดท้ายถูกหลอกพาไปอุดรธานีแทน

“ขายที่นาได้แล้ว
เจอคนแจว รับส่งคนงาน
จ่ายเงิน จ่ายหลักฐานได้ไม่นาน
เขาพาไปขึ้นเครื่องบิน
จะไปซาอุ

เกิดมาเป็นคนจน
ยามคบคนไม่เคยเป็นต่อ
คิด คิดไปใจท้อ
คนหนอคน ยิ่งจนยิ่งเจ็บ
เก็บเงินเราไปแล้ว
เรือบินแจวลงจอดบนลาน
บนแผ่นดินอีสาน
ขนานนามว่า ซาอุดร”

4.น้ำตาเมียซาอุ พิมพา พรศิริ (พ.ศ. 2529) 

เพลงสร้างชื่อเสียงแก่ พิมพา พรศิริ ทำยอดขายรวม 1 ล้านตลับ เนื้อเพลงเล่าถึงผู้หญิงที่สามีไปทำงานที่ซาอุดีอาระเบีย เคยสัญญาว่าจะส่งเงินมาให้ แต่สุดท้ายไม่ส่งเพราะติดพันผู้หญิงใหม่

“คิดมาอุราช้ำหนัก ผัวรักไม่เคยส่งเงิน
รู้ข่าวปวดร้าวเหลือเกิน เมื่อรู้ว่าเงินไม่มาถึงเมีย
พ่อแม่ผัวรับเต็มที่ เพราะเงินจากพี่ที่ซาอุดีอาระเบีย
ส่งมาให้ใช้กันนัวเนีย ส่วนลูกเมียนั่งเสียน้ำตา”

5.อาถรรพ์เพชรซาอุฯ เพลิน พรหมแดน อัลบั้ม เปาบุ้นจิ้นเผาศาล (พ.ศ. 2538)

หลังจากเกิดเหตุการณ์เพชรซาอุฯ ประกอบกับคดีสังหาร 4 นักการทูตและ 1 นักธุรกิจชาวซาอุดีอาระเบีย ระหว่างปี 2532-2533 ส่งผลให้ความสัมพันธ์ระหว่างกันขาดสะบั้นลง และเนื่องจากความลึกลับไม่ชัดเจนของคดีทั้งหมด เกิดเป็นเรื่องราวลือถึงอาถรรพ์เพชรซาอุฯขึ้น

ควันหลงจากเหตุการณ์ดังกล่าว เพลิน พรหมแดน จึงหยิบมาเขียนเป็นเพลงยาว 6 นาที เล่าถึงเพื่อนกลุ่มหนึ่งคุยกันถึงข่าวเพชรซาอุฯ ในเชิงตลกขบขัน ตบมุกฮากันไป