“วิกฤตต้มยำกุ้ง” 20 ปีผ่านไป …คนรุ่นใหม่ต้องทำอย่างไรไม่ให้ซ้ำรอย

เมื่อ 20 ปีที่แล้ว ไทยเจอวิกฤตเศรษฐกิจครั้งประวัติศาสตร์ “พิษต้มยำกุ้ง” ที่คนไทยโดยเฉพาะคนทำธุรกิจไม่เคยลืม แต่ก็ยังมีอีกหลายคนที่นึกภาพไม่ออก โดยเฉพาะนักธุรกิจรุ่นใหม่ ซึ่งในตอนนั้นอาจยังเด็กเกินไป งั้นในวาระนี้ เราลองมาย้อนเหตุการณ์กันคร่าวๆ เพราะพิษสงของต้มยำกุ้ง ถือเป็นวิชาสำคัญของการทำธุรกิจที่ควรเรียนรู้ เพื่อไม่ให้เกิดซ้ำ

  • 20 ปีที่แล้วเกิดอะไรขึ้น?

ปี 2540 ช่วงนั้นตลาดอสังหาริมทรัพย์และหุ้น เกิดการซื้อเพื่อเก็งกำไรกันอย่างมหาศาล ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ก็ลงทุนขยายตัวอย่างมาก เพราะนักลงทุนสามารถกู้เงินจากต่างประเทศในอัตราดอกเบี้ยที่ถูกกว่าธนาคารในประเทศ จากนโยบายเปิดเสรีทางการเงิน เรียกว่าตอนนั้นเป็น ”ภาวะฟองสบู่” ผู้คนใช้เงินกันอย่างฟุ่มเฟือย เศรษฐีใหม่แต่ไม่จริงเต็มไปหมด แต่เมื่อฟองสบู่แตก คนกู้แห่ไปแลกเงินดอลลาร์กับธนาคารแห่งประเทศไทยจนเงินทุนสำรองประเทศหมด รัฐบาลจึงต้องประกาศลอยตัวค่าเงินบาท แล้วเข้าสู่กระบวนการของ IMF

  • ย้อนความทรงจำ ผลกระทบในตอนนั้น

คนที่ได้รับผลกระทบหนักๆ คือนักธุรกิจ คนที่ลงทุนกับหุ้น ที่ดิน บ้านและคอนโด เพราะไม่มีใครซื้อ ใบโฉนดจึงไม่ต่างจากกระดาษเปล่า ส่วนคนกู้เงินมาขยายธุรกิจต้องเจอภาวะหนี้ท่วมตัว เพราะลูกค้าหนีหาย ขณะที่แวดวงก่อสร้าง จำใจทิ้งงาน เพราะไม่มีเงินทุนสร้างต่อ กลายเป็นตึกร้าง หมู่บ้านจัดสรรร้าง ส่วนคนทำงานบริษัทก็หนักไม่เบา โดนให้ออก เพื่อลดต้นทุน

  • บทเรียนสำคัญจากพายุลูกใหญ่  “ต้มยำกุ้ง”

พิษต้มยำกุ้ง จึงเป็นบทเรียนฝังใจของนักธุรกิจรุ่นใหญ่ และถือเป็นเรื่องท้าทายสำหรับนักธุรกิจรุ่นใหม่ว่า คุณจะมองหาแต่ความเติบโตในผลกำไรเพียงอย่างเดียวไม่ได้ คุณอาจต้องมองและวิเคราะห์ไปถึงบริบทต่างๆ ให้รอบคอบ เพราะการทำธุรกิจมันอยู่บนความเสี่ยงรอบด้าน

  • กางบทเรียนขององค์กรชั้นนำ ที่น่าเดินตาม

มีกรณีศึกษาหนึ่งที่น่าสนใจไม่น้อย และน่าจะเป็นแบบอย่างให้คนทำธุรกิจทุก Gen ได้ คือกรณีของบริษัทชั้นนำของไทย “เอสซีจี” ที่ยั่งยืนมากว่า 100 ปี ซึ่งก่อนเกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง เอสซีจีก็เติบโตแบบก้าวกระโดด ไม่ต่างจากบริษัทในแวดวงวัสดุก่อสร้างทุกเจ้า ที่เฟื่องฟูไปตามกระแสความนิยมของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ในเวลานั้นเอสซีจีลงทุนจนเกินตัว แตกไลน์ธุรกิจไปเป็น 10 กลุ่ม ทั้งปูนซีเมนต์ วัสดุก่อสร้าง เซรามิก ปิโตรเคมี ไปจนถึงยานยนต์และเครื่องจักรกล แต่สุดท้ายก็เกือบล้มไม่เป็นท่า เผชิญภาวะขาดทุนกว่า 52,000 ล้านบาท และมียอดหนี้สุทธิถึง 246,700 ล้านบาท เอสซีจีจึงได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้

 

  • เพราะ “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ที่ฉุดขึ้นมา

หลายคนอาจจะคิดว่าหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลดุลยเดช รัชกาลที่ 9 เอาไปใช้ได้กับภาคการเกษตร หรือเป็นแนวทางการใช้ชีวิตเท่านั้น แต่จากกรณีของเอสซีจี เมื่อต้องเผชิญกับวิกฤตต้มยำกุ้ง เอสซีจีได้น้อมนำหลักปรัชญานี้มาปรับใช้กับการทำธุรกิจด้วยเช่นกัน จนสามารถอยู่รอดและกลับมาเติบโตได้อีกครั้ง

 

  • เพราะพอเพียงไม่ใช่หยุดโต แต่ช่วยให้โตไม่หยุด…อย่างยั่งยืน

เอสซีจี เริ่มต้นด้วย “ความพอประมาณ” คือประเมินความสามารถของตัวเองว่าถนัดเรื่องใด และใช้ “ความมีเหตุผล” คือลดบทบาทในธุรกิจที่ไม่ถนัด แล้วหันมาทุ่มเทในเรื่องที่ถนัดให้ดี โดยเริ่มจากปรับโครงสร้างธุรกิจ จากที่มีอยู่ 10 เหลือเพียง 5 กลุ่มธุรกิจ พร้อมกับการสร้าง “ภูมิคุ้มกัน” นั่นคือการวางแผนสำรองเพื่อบริหารความเสี่ยง เช่น มุ่งพัฒนานวัตกรรมที่ช่วยสร้างกำไรให้กับองค์กรในเวลาต่อมา โดยทุกก้าวที่ขยับ ต้องมีแผนรองรับกับสิ่งไม่คาดคิด

    สำหรับภาระหนี้สิน เอสซีจียึดหลักคุณธรรม โดยใช้วิธีเดินสายอธิบายกับเจ้าหนี้ทุกรายเพื่อแสดงถึงความจริงใจในการแก้ปัญหา ยืนยันการจ่ายเงินกู้พร้อมดอกเบี้ยให้ครบตามกำหนด ซึ่งทำให้เป็นที่ยอมรับเรื่องความซื่อสัตย์อย่างมากในวงการธุรกิจ    

และด้านความรู้ แม้จะวิกฤตเพียงใด แต่เอสซีจีก็ไม่มีนโยบายปลดพนักงานออก แต่ส่งเสริมให้ไปเรียนรู้เพิ่มพูนความสามารถ และพนักงานทุกคนต่างร่วมมือร่วมใจกันในทุกด้านจนสามารถพยุงภาวะนี้ให้รอดไปได้ พอเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว บริษัทก็พร้อมที่จะเติบโตได้อย่างรวดเร็ว

    ในที่สุด เอสซีจีก็ฝ่าวิกฤตมาได้ จากที่เกือบต้องหยุดโต พลิกฟื้นขึ้นมาและโตไม่หยุด ในปี 2547 บริษัทสามารถทำกำไรได้สูงสุดตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทมาคือ 36,483 ล้านบาท
    ปัจจุบัน เอสซีจียึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เป็นแนวทางการดำเนินธุรกิจ ที่ช่วยให้เติบโตอย่างยั่งยืน ถือเป็นตัวอย่างที่ดีและน่าศึกษา และเป็นแนวทางที่น่าสนใจสำหรับคนทำธุรกิจในยุคนี้

    มาถึงวันนี้…บทเรียนจากต้มยำกุ้ง ทำให้ “เอสซีจี” ได้แนวทางการทำงานที่ช่วยให้อยู่รอด และเติบโตอย่างยั่งยืน แล้วคุณล่ะ… ได้บทเรียนอะไรจากวิกฤตครั้งนั้น และเตรียมพร้อมรับมือแค่ไหนกับความเสี่ยงที่มีอยู่รอบด้าน  


อ่านข้อมูลเรื่อง SCG เพิ่มเติม ที่ www.scg.com/sufficiency