“ผ้าปะลางิง”อัตลักษณ์หัตถศิลป์ภาคใต้ หนึ่งเดียวและที่เดียวของจังหวัดยะลา

“ผ้าปะลางิง” เป็นผ้าทอมือที่ใช้เทคนิคการพิมพ์ลายบนผืนผ้าด้วย “บล็อกไม้” แกะสลักเป็นลวดลายต่างๆ ถือเป็นขุมทรัพย์แห่งภูมิปัญญาชิ้นเอกหนึ่งของงานหัตถศิลป์จากฝีมือครูศิลป์ ครูช่าง และทายาทระดับประเทศที่หาชมได้ยาก

นางอัมพวัน พิชาลัย ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ SACICT กล่าวว่า ความเป็นอัตลักษณ์ที่โดดเด่นของ ผ้าปะลางิง ที่เป็นผ้าที่มีประวัติยาวนานกว่า 100 ปี มีการใช้ในกลุ่มชาวมุสลิมชายแดนในแถบจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส แล้วยังเป็นผ้าที่สะท้อนเอกลักษณ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น มีความเชื่อมโยงเกี่ยวพันกับวิถีชีวิต ความเป็นมาและศาสนา เกิดเป็นมรดกทางภูมิปัญญาสืบทอดต่อกันมาSACICT จึงเป็นแกนกลางหลักสำคัญในการส่งเสริมและสืบสานภูมิปัญญาของแต่ละท่านเพื่อสืบทอดงานหัตถศิลป์ที่ใกล้สูญหาย และเพื่อคงอัตลักษณ์แห่งสยามได้อยู่คู่กับคนไทยจากรุ่นสู่รุ่น สืบทอดให้ยาวนานต่อกันไป ในรูปแบบกิจกรรมต่างๆ อย่างเช่น งานอัตลักษณ์แห่งสยาม ครั้งที่ 9 ที่เพิ่งจัดไปเมื่อเร็วๆ นี้

ครูปิยะ สุวรรณพฤกษ์ ครูช่างศิลปหัตถกรรมปี พ.ศ. 2560 หนึ่งในผู้ที่มีส่วนร่วมรื้อฟื้น “ผ้าปะลางิง” ที่เคยสูญหายไปกว่า 70 ปีให้กลับพื้นคืนมาอีกครั้ง เล่าว่า ด้วยความต้องการที่จะอนุรักษ์ผ้าปะลางิงที่มีประวัติยาวนานกว่า 100 ปี จึงนำเอาศิลปะลวดลายที่พบเห็นจากสถานที่ต่างๆ ที่สะท้อนเรื่องราวของสถาปัตยกรรมวิถีและวัฒนธรรมในพื้นถิ่นใต้ มาออกแบบเป็นลวดลาย “บล็อกไม้” ที่ใช้พิมพ์ผ้าปะลางิงกว่า 200 ลาย มีการพัฒนาสร้างสรรค์กระบวนการผลิตผ้าปะลางิง ให้มีมิติของสีสัน และลวดลายที่มีความแปลกสะดุดตายิ่งขึ้น จนทำให้ “ผ้าปะลางิง” ฟื้นคืนชีวิตเป็นที่รู้จักและนิยมกันอย่างกว้างขวาง จนเป็นผ้าที่มีชื่อเสียงประจำของจังหวัดยะลา

ครูปิยะ เล่าเพิ่มเติมถึงเรื่องราวความเป็นมาของผ้าปะลางิงอีกว่า ผ้าปะลางิง เป็นผ้าที่ค้นพบครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2472พบในขบวนรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) ที่มณฑลปัตตานี โดยผู้ที่เข้าร่วมขบวนรับเสด็จจำนวนมาก ต่างก็แต่งกายและใส่เสื้อผ้าที่ตัดเย็บจากผ้าปะลางิง ใช้วิธีการด้วยการคาด หรือ วิธีนุ่ง บางคนใช้วิธีการทำเป็นผ้าห่มแบบสไบ

ปัจจุบันผ้าปะลางิง ที่ได้ถูกรื้อฟื้นกลับมาใหม่ เนื่องจากแต่เดิมนั้นผ้าปะลางิงได้สูญหายไปตอนที่มีการเลิกปลูกหม่อนเลี้ยงไหมในพื้นที่ภาคใต้สูญหายไปพร้อมๆ กับเรื่องการทอผ้าของจังหวัดยะลาเช่นเดียวกัน ซึ่งก็เป็นเพียงแค่จังหวัดเดียวที่หายไป เพราะว่าจังหวัดปัตตานีก็ยังมีการทำผ้าจวนตานีอยู่ จังหวัดนราธิวาสก็ยังมีการทำผ้าในโครงการสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีแต่เพียงของจังหวัดยะลานั้นกลับสูญหายไป

ผ้าปะลางิง เป็นผ้าหลากสี มีหลายเทคนิค อยู่ในผ้าหนึ่งผืน ตั้งแต่เทคนิคการมัดย้อมเพื่อให้เกิดตัวลายขึ้นมาก่อน และเทคนิคการเขียนเทียนปิดตัวลาย หลังจากนั้นก็เป็นเทคนิคล้างเอาสีที่ย้อมออก ให้เหลือแต่สีที่ติดตัวลายไว้ หลังจากนั้น ถึงจะลงสีพื้น แล้วถึงเริ่มขบวนการพิมพ์ พอจัดการพิมพ์เสร็จ จะทำการเพ้นท์ เมื่อเพ้นท์เสร็จ ก็จะทำการปิดเทียนในหัวผ้า และใส่แสงเงาในตัวหัวผ้า ผ้าปะลางิงจึงเป็นผ้าที่มีเทคนิคการผลิตค่อนข้างมาก

ผ้าปะลางิงที่ทอสำเร็จแล้ว จะมีความยาวด้านหน้ากว้าง ตั้งแต่ 42 ถึง 45 นิ้ว ความยาวของผ้าทอที่ได้จะความยาวรอบละประมาณ 10 กว่าเมตร เพราะต้องการให้มีการเปลี่ยนลายใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา ผืนผ้าที่ได้จะนำมาใช้ทำเป็นผ้าซิ่น นำมาใช้ตัดเป็นชุดเดรสสวยก็ได้ แต่โดยปกติแล้ว ถ้าตัดเป็นชุดเดรสจะไม่จำเป็นต้องทำลายหัวผ้า

ลายผ้าปะลางิง จะมีชื่อเรียกแตกต่างกันไปตามลายที่ทอและมีทีมาที่ไปของลายผ้า อย่างเช่น ลายจวนตานี ลายหัวเข็มขัดโบราณที่เป็นลวดลายที่มาจากหัวเข็มขัดโบราณที่ชาวมุสลิมชอบใส่ในสมัยโบราณ ลายช่องลมบ้านโบราณ ลายกระเบื้องโมเสคโบราณ

“เราจะไม่มีการส่งขายผ้าปะลางิงไปขายเป็นการทั่วไปที่ไหนเลย เพราะว่า ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นลูกค้าที่สั่งจอง ทั้งในประเทศ กลุ่มที่ชอบนุ่งผ้าซิ่น กลุ่มที่นิยมสะสมผ้า บางส่วนก็จะเป็นกลุ่มลูกค้าต่างประเทศ ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าที่ชอบนำผ้าไปใช้กับงานตกแต่ง ใช้ผ้าทั้งผืนในการห้อยโชว์ ไม่นิยมตัดผ้า เพราะว่าเขานิยมและโชว์ให้เห็นถึงเทคนิคการทำผ้าแบบต่างๆที่ค่อนข้างมีมากในผ้าปะลางิง”

วัตถุดิบที่ใช้จะเป็นไหมผสมกับใยฝ้าย ด้วยที่ภาคใต้เลี้ยงไหมเองไม่ได้ เนื่องจากสภาพภูมิอากาศไม่เหมาะสมและเอื้อให้เลี้ยงไหมได้ จึงต้องใช้กลุ่มเครือข่ายขึ้นมา เพื่อป้อนไหมจากที่อื่นๆ มาให้ สมัยก่อน กลุ่มหม่อนไหมได้ลงไปเลี้ยงและปลูกหม่อน แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ส่วนวัตถุดิบที่ใช้ย้อมสี จะมีทั้งสีธรรมชาติ และสีเคมี

“ปกติ ผมจะขึ้นเฟรมผ้าเดือนหนึ่งๆ ประมาณ 6 เฟรม หรือ 6 ลาย ผ้าปะลางิงแต่ละผืนของเราจะมีการขึ้นนับเบอร์ไว้ทุกชิ้น ต่างกันทุกชิ้น ไม่ซ้ำกัน ลายก็แตกต่างกันหมดทุกชิ้นที่ไม่เหมือนกันเลย เพื่อที่แสดงให้เห็นว่าแต่ละชิ้นเป็นแฮนด์เมด จริงๆ เป็นที่นิยมทุกสี”

ท้ายสุดครูปิยะ แนะนำวิธีการดูแลและรักษาเนื้อผ้าปะลางิงรวมถึงผ้าทอมือชนิดต่างๆ ด้วยว่า ซักแล้วไม่ควรนำไปตากแดด และควรซักด้วยมืออย่างทะนุถนอมแล้วจะสามารถทำให้ผ้ามีสีที่สวยสดและรักษาเนื้อผ้าไว้ให้คงทนยาวนานอีกด้วยเหมือนว่าเราต้องรักษาความงดงามในความเป็นอัตลักษณ์แห่งสยามเอาไว้