5 ไฮไลต์’วังนารายณ์’ ออเจ้าต้อง’เช็กอิน’

จบไปหมาดๆ สำหรับละคร “บุพเพสันนิวาส” ที่โด่งดังจนเป็นปรากฏการณ์ ส่งผลให้โบราณสถานที่เงียบหงอยกลับฟื้นคืนชีวิตชีวา ด้วยชาวออเจ้าที่บุกไปเรียนรู้ประวัติศาสตร์ยุคพระนารายณ์อันเปี่ยมล้นไปด้วยสีสัน

หนึ่งในสถานที่สำคัญ ไม่พ้น “พระนารายณ์ราชนิเวศน์” ที่ “คำให้การชาวกรุงเก่า” ระบุว่า เมื่อสมเด็จพระนารายณ์ขึ้นครองราชย์ได้ 10 ปี จึงโปรดให้สร้างพระราชวัง ณ เมืองลพบุรี ตรงกับ พ.ศ.2209

โดยนอกจากจะเป็นที่ประทับของพระนารายณ์เกือบตลอดทั้งปี ยังเสด็จสวรรคต ณ พระราชวังแห่งนี้อีกด้วย

ตลอดระยะเวลายาวนานในรัชกาลของพระองค์ เกิดเหตุการณ์มากมายในพระนารายณ์ราชนิเวศน์ที่กลายเป็นจุดพลิกผันทางประวัติศาสตร์

บางส่วนยังปรากฏเป็นฉากในละครที่ชวนให้ผู้ชมลุ้นระทึก และต่อไปนี้คือ 5 จุดสำคัญในพระราชวังแห่งนี้ที่ต้องไปชมให้เห็นกับตาพร้อมพิสูจน์ปริศนาผ่านหลักฐานกันสักครั้ง

1.พระที่นั่งดุสิตสวรรค์ฯ ฉากอลังการแห่งกรุงละโว้

ปฏิเสธไม่ได้ว่าส่วนหนึ่งของฉากอันงดงามอลังการชวนตราตรึงจากละครดัง คือ ฉากขณะ ขุนหลวงนารายณ์Ž ออกว่าราชการ รายล้อมด้วยข้าราชบริพาร ทั้งโกษาเหล็ก โกษาปาน ขุนศรีวิสารวาจา และตัวละครเด่นๆ ที่เคยมีชีวิตโลดแล่นในประวัติศาสตร์เมื่อกว่า 300 ปีก่อน

ฉากดังกล่าว จำลองขึ้นจากสถานที่จริง คือ พระที่นั่งดุสิตสวรรค์ธัญญมหาปราสาท ซึ่งถือเป็นพระที่นั่งหลักของพระราชวัง สร้างด้วยอิฐ ฉาบปูน หันหน้าไปทางทิศตะวันออก

แบ่งพื้นที่เป็น 2 ส่วน ส่วนแรก เป็นห้องโถงสี่เหลี่ยมผืนผ้า สวยแปลกตาด้วยผนังเจาะช่องแบบโค้งแหลมที่ ฟะรังคีŽ หรือฝรั่งเรียกว่า Pointed ArchŽ

อีกส่วนหนึ่งคือ พื้นที่ด้านหลังซึ่งเคยมี 2 ชั้น ทำจากไม้ มีสีหบัญชร เป็นที่ประทับของสมเด็จพระนารายณ์ในยามออกว่าราชการ ชวนให้จินตนาการถึงภาพในอดีตที่แสนรุ่งโรจน์ของกรุงศรีอยุธยา

พระที่นั่งนี้เองก็เพิ่งเกิดดราม่าหนักหน่วงเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา หลังจาก ปติสร เพ็ญสุต นักศึกษาปริญญาเอกภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร ออกมาเปิดเผยว่า โดนฉกโมเดลแบบสันนิษฐานไปใช้ในละครโดยไม่บอกกล่าว

นำมาซึ่งการถกเถียงในหมู่แฟนละครจนเกิดอุณหภูมิร้อนในโซเชียล ก่อนลงเอยด้วยดี เมื่อเจ้าตัวบอกว่า ได้รับการติดต่อจากทีมงานโดยมีคำฝากขอโทษจากคุณหน่อง อรุโณชา ภาณุพันธุ์ พร้อมจะรับผิดชอบด้วยการลงเครดิตในตอนพิเศษวันพฤหัสบดีที่จะถึงนี้

ไม่เพียงเท่านั้น ยังจะนัดเคลียร์ค่าใช้จ่ายหลังสงกรานต์ ชาวเน็ตจึงแยกย้ายอย่างแฮปปี้

2.ตึกรับรองราชทูต เปิดสัมพันธ์ ฟะรังคีŽ กับเมืองท่านานาชาติ

จุดสำคัญอันเป็นส่วนหนึ่งของร่องรอยหลักฐานการติดต่อสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศทางตะวันตกในยุคขุนหลวงนารายณ์ ไม่เพียงสร้างขึ้นเพื่อรับรองราชทูต

หากแต่สถาปัตยกรรมหลังนี้ยังชี้ถึงอิทธิพลศิลปะเปอร์เซีย ทั้งประตูหน้าต่างโค้งแหลม และการก่อช่องโดยใช้อิฐวางตามแนวตั้ง

แม้ในวันนี้หลงเหลือเพียงซากอิฐ ทว่ายังคงมีเค้าลางของความวิจิตรบรรจง ผนังที่ประกอบไปด้วยช่องแสงขนาบประตูขนาดใหญ่ และสระน้ำล้อมรอบ สะท้อนงานศิลปกรรมจากต่างชาติที่ไหลบ่าเข้ามาสู่ราชสำนักอยุธยาที่ถือเป็นเมืองท่านานาชาติอันรุ่มรวยด้วยอารยธรรมหลากหลาย

3.พระที่นั่งสุทธาสวรรย์ กับเงื่อนปม วางยาพิษŽ พระนารายณ์?

ซากอาคารที่หลงเหลือเพียงฐานอิฐ ดูเผินๆ ไม่มีอะไรสะดุดตา ทว่าแท้จริงแล้วเป็นสถานที่สำคัญอันนำไปสู่เหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์

เนื่องด้วยพระที่นั่งขนาดเล็กองค์นี้คือ ที่ประทับส่วนพระองค์ของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โดยเสด็จประทับในช่วงปลายรัชกาล ซึ่งมากมายไปด้วยความวุ่นวายทางการเมือง จนกระทั่งสวรรคตอย่างมีเงื่อนงำว่า เป็นการประชวรด้วยพระโรค หรือทรงถูกวางยาพิษกันแน่

 

ประเด็นนี้ ยังเป็นที่ถกเถียงกันในแวดวงวิชาการอย่างไม่มีบทสรุป แต่ข้อมูลที่ชัดแจ้งคือ พระองค์ทรงประทับ ณ พระที่นั่งสุทธาสวรรย์จวบจนลมหายใจสุดท้าย

โดยฉากในละครบุพเพสันนิวาสได้ถ่ายทอดออกมาอย่างสะเทือนอารมณ์ผ่านการแสดงชั้นยอดและบทสนทนาระหว่างขุนหลวงฯกับพระปีย์Ž อีกหนึ่งผู้มีตัวตนในประวัติศาสตร์ที่คาดว่าจะถูก ฟอลคอนŽ ยกเป็นหุ่นเชิด หวังครอบครองกรุงศรีอยุธยา

ลองหลับตาจินตนาการตามบันทึกของ นิโกลาส์ แชร์แวส ชาวฝรั่งเศสที่พำนักในอยุธยาซึ่งพรรณนาถึงพระที่นั่งทรงตึกแบบยุโรปองค์นี้ไว้อย่างละเอียดลออ ความตอนหนึ่งว่า

“หลังคามุงด้วยกระเบื้องเคลือบสีเหลืองคล้ายทองคำเมื่อยามต้องแสงตะวัน พระที่นั่งองค์นี้มีกำแพงแก้วล้อมรอบ ตรงมุมมีสระน้ำใหญ่ 4 สระ บรรจุน้ำบริสุทธิ์ เป็นที่สรงสนาน ของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ภายใต้กระโจมซึ่งคลุมกั้น สระน้ำทางขวามือตั้งอยู่ใกล้กับภูเขาจำลองซึ่งปกคลุมด้วยต้นไม้เขียวชอุ่มและดอกไม้ซึ่งส่งกลิ่นหอมตลอดเวลา มีน้ำพุใสจ่ายแจกให้แก่ธารน้ำทั้ง 4 ในบริเวณพระที่นั่ง สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงปลูกพันธุ์ไม้ดอกด้วยพระหัตถ์เอง ตรงหน้าพระที่นั่งปลูกต้นส้ม มะนาว และพันธุ์ไม้ในประเทศอย่างอื่นมีใบดกหนาทึบแม้ยามแดดร้อนตะวันเที่ยงก็ร่มรื่นอยู่เสมอŽ”

4.พิสูจน์วิทยาการสุดล้ำ ท่อประปาŽ แห่งแรกในสยาม

อีกหนึ่งความอลังการอย่างชวนตื่นตะลึงในพระนารายณ์ราชนิเวศน์ คือวิทยาการล้ำหน้าเกินกว่าจะคาดถึง อย่างการมีซึ่ง ท่อประปาŽ เป็นครั้งแรกของสยามประเทศ

ท่อดังกล่าวทำขึ้นจากดินเผา มีลักษณะเป็นท่อกลมทรงกระบอก หนาประมาณ 4 เซนติเมตร เส้นผ่านศูนย์กลางราว 26 เซนติเมตร แต่ละท่อยาวเฉลี่ย 48 เซนติเมตร

ปลายด้านหนึ่งมีส่วนคอดเล็กกว่าอีกด้านเพื่อให้สวมกันเป็นท่อยาวได้ เมื่อเรียงสวมกันแล้วจะมีการเชื่อมหุ้มรอยต่อระหว่างท่อ เพื่อป้องกันน้ำรั่วด้วยปูนผสมหิน

จากการศึกษาในยุคหลัง พบว่าแหล่งน้ำที่ถูกนำมาใช้ในพระราชวังคือ น้ำจาก ทะเลชุบศรŽ และห้วยซับเหล็กŽ

น้ำจากทะเลชุบศร มาถึงพระนารายณ์ราชนิเวศน์ได้โดยการต่อท่อผ่านประตูน้ำปากจั่นไหลลงมายังสระแก้ว (เก่า) ซึ่งอยู่ในบริเวณสวนสัตว์สระแก้ว และมีการต่อท่อจากสระแก้วแห่งที่ 1 มายังสระแก้วแห่งที่ 2 คือวงเวียนสระแก้ว หรือวงเวียนศรีสุริโยทัยในปัจจุบัน จากนั้นจึงมีการวางท่อน้ำตรงเข้าสู่ตัวเมืองลพบุรี

ส่วนน้ำจากห้วยซับเหล็ก ซึ่งเป็นน้ำบริสุทธิ์ใสสะอาดไหลลงมาจากซอกเขาเดินทางมาไกลมากสำหรับยุคนั้น จึงต้องแบ่งทำเป็น 2 ช่วง

และระหว่างเส้นทางแนวท่อน้ำเข้าสู่เมืองลพบุรี ยังสร้างท่อ (ปล่อง) ระบายความดันน้ำไว้เป็นระยะๆ เพื่อผ่อนแรงดันในฤดูน้ำมาก จะได้ไม่เกินกำลังรับน้ำของท่อดินเผา

ท่อน้ำดังกล่าวซึ่งจัดแสดงไว้ในพระนารายณ์ราชนิเวศน์ จึงนับเป็นวิทยาการสุดล้ำที่ต้องชมให้เห็นกับตา

5.หลุมลับใต้วังŽ เส้นทางหนีพระนารายณ์จริงหรือ?

ปิดท้ายด้วยความลึกลับจากคำบอกเล่าของผู้คนที่บอกต่อๆ กันมาว่า ในวังพระนารายณ์มีหลุมหลบภัยที่ขุนหลวงฯเตรียมใช้เป็นเส้นทางหนีภัยการเมือง ซึ่งเรื่องเล่านี้ได้กลับมาเป็นที่ฮือฮาอีกรอบหลังจาก ผศ.ดุลยภาค ปรีชารัชช อาจารย์ประจำโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ทุ่มเทเดินทางไปสำรวจด้วยตนเอง

โดยระบุว่า พื้นที่ใต้พระที่นั่งดุสิตสวรรค์ธัญญมหาปราสาท มีฐานอิฐสี่เหลี่ยมซึ่งข้างในมีหลุมลับหลุมหนึ่งที่เจาะลึกลงไปใต้ดิน โดยเล่ากันว่ามีทางเดินโผล่ทะลุไปยังแม่น้ำลพบุรีซึ่งอยู่เลยกำแพงวังด้านหลังออกมา กระทั่งนักโบราณคดีประจำสำนักศิลปากรที่ 4 ลพบุรี ออกมาแสดงความเห็นว่าแท้จริงแล้วอาจเป็นหลุมรองรับแกนเสายอดมหาปราสาทของพระที่นั่ง

อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีข้อสรุปแน่ชัด เพราะยังไม่มีการขุดค้นทางโบราณคดี หลุมลับที่ว่านี้จึงยังคงเป็นปริศนาต่อไป

ทั้งหมดนี้คือ 5 จุดไฮไลต์ที่ไม่ไปถือว่าพลาด

หมายเหตุ – ภาพบางส่วนจากฐานข้อมูลศิลปกรรมในประเทศไทย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

ที่มา : มติชนออนไลน์