“มิวเซียมเซรามิคธนบดี” ออริจินัลชามตราไก่ ของที่ระลึกเมืองลำปาง

By…misstubtim

 

ลำปางไม่มีสนามบินนานาชาติ…

สิ่งนี้อาจจะกลายเป็นข้อดีก็ได้เพราะทำให้การเดินทางมาเยือนน่าสนใจมากขึ้น ที่กิน ที่เที่ยว ที่ชม ตั้งอยู่ในตัวเมืองแทบทั้งสิ้น ขึ้น-ลงรถตู้แป๊บๆ ก็ถึงแล้ว ทางเข้าสนามบินตอนแรกยังคิดว่ามาหมู่บ้านอะไรสักอย่าง (ฮา)

คนลำปางบอกว่า มาลำปางแล้วไม่แวะที่นี่ “พิพิธภัณฑ์เซรามิคธนบดี” โรงงานเก่าแก่ และเป็นต้นทางที่สร้างแบรนด์ชามตราไก่ให้กลับมาโด่งดังอีกครั้ง คนต่างถิ่นหรือนักท่องเที่ยวเขาว่าถ้าไม่แวะก็ถือว่าไม่ถึงลำปาง

ในส่วนพิพิธภัณฑ์หรือมิวเซียม เขาเปิดทุกวัน ตั้งแต่เวลา 9 โมงเช้า-บ่าย 4 โมงครึ่ง เวลาที่แน่นอนก็คือ 09.00-16.30 น. โดยมีบริการมัคคุเทศก์นำชมวันละ 7 รอบ ทุกต้นชั่วโมง บรรยายภาษาไทย แบ่งเป็นรอบเช้า 9-10-11 โมงเช้า จากนั้นพักเที่ยง แล้วไปเริ่มภาคบ่ายทุกต้นชั่วโมงของ 13-14-15-16.00 น.

ประวัติศาสตร์ผู้ก่อตั้งยุคต้นตระกูลคือ “อาปาอี้ (ซิมหยู) แซ่ฉิน”

เรามาเริ่มเลกเชอร์กับข้อมูลชุดแรก “ชามไก่จากเมืองจีน” โดยชามไก่ในภาษาจีนแคะหรือฮากกา เรียกว่า “แกกุงหว่อน” (สำเนียงไท้ปู) บ้างอาจจะเสียงว่าแกกุงหั่น แกกุ๊งหว้าน ก็มี

ทั้งนี้ ชามไก่มีต้นกำเนิดการผลิตในประเทศจีนกว่า 100 ปีล่วงมาแล้ว โดยชาวจีนฮากกา ตำบลกอปิ อำเภอไท้ปู มณฑลกวางตุ้ง และชาวจีนแต้จิ๋ว ดั้งเดิมเป็นเพียงชามขาวธรรมดาไม่มีการเขียนลาย ต่อมา มีการส่งมาเขียนลายเผาสีบนเคลือบที่ตำบลปังโคย (อาณาเขตอยู่ติดกัน) หลังจากนั้นจึงกลายเป็นชามไก่สำเร็จรูป นอกจากวางขายในประเทศจีนแล้วยังมีการส่งออกไปจำหน่ายให้กับชาวจีนโพ้นทะเลด้วย แน่นอนว่าสินค้าส่วนหนึ่งเข้ามาในตลาดเมืองไทยด้วย

2 “ชามไก่จากจีนสู่ธนบุรี”

ช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ยังไม่มีผู้ผลิตบามไก่ในประเทศไทย ส่วนหนึ่งอาจเพราะดีมานด์หรือความต้องการยังมีไม่มากนัก พ่อค้าชาวจีนที่อาศัยอยู่ย่านถนนทรงวาด ตลาดเก่าในจังหวัดพระนคร หรือกรุงเทพฯ ในยุคปัจจุบัน จึงต้องสั่งนำเข้าชามไก่มาจากจีน ราคาก็ยังถูกมาก ต่อเมื่อเกิดสงครามจีน-ญี่ปุ่นขึ้น ทำให้ชามไก่ขาดตลาด ของที่นำเข้าไม่พอขาย และราคาสูงขึ้น

ต่อมา ประมาณปี 2480 ชาวจีนส่วนหนึ่งที่เคยทำชามไก่ในประเทศจีนได้ย้ายถิ่นมาตั้งบ้านเรือนที่จังหวัดพระนคร จังหวัดธนบุรี เชียงใหม่ มีการก่อสร้างโรงงานและเตาเผาชามไก่ขึ้นที่บริเวณวงเวียนใหญ่ ธนบุรี กับบริเวณถนนเพชรบุรี ฝั่งพระนคร แต่ก็ยังมีสินค้าไม่มากนัก สาเหตุเนื่องจากขาดแคลนวัตถุดิบดินคุณภาพนั่นเอง

สำหรับไลน์ผลิตในยุคดั้งเดิมระหว่างปี 2500-2508  มีดังนี้ 1.นำดินขาวใส่ครกกระเดื่อง (Brought the kaolin to wooden mortar) 2.ตำดินจนละเอียด (Pounding until ground) 3.ล้างในบ่อดิน (Wash and classify for pure clay) 4.ได้เนื้อดินเพื่อนำไปหมักเก็บไว้ใช้งาน (Store the finish clay) 5.ปั้นถ้วยด้วยแป้นหมุน (Hand throwning forming) 6.ชุบเคลือบขี้เถ้า (Glazing in ash composite)

7.นำชามใส่ในหีบดิน หรือจ๊อ (Placing bowl in the saggars) 8.เผาในเตามังกร (Firing in the Dragon kiln)9.นำชามสุกแล้วออกจากเตา (Unloading glost bowl) 10.เขียนลายชามไก่ (Hand paint, Chicken Bowl) 11.นำไปอบสีอีกครั้ง ได้ชามไก่ (Firing again in the kiln for finish product)

“ลักษณะพิเศษของชามไก่” ขนาดจะมีความเหมาะสมกับการใช้ตะเกียบพุ้ยข้าว โดยมีรูปทรงแปดเหลี่ยมเกือบกลม ปากบาน มีรอยบุบเล็กน้อยรับกับเหลี่ยม ขาสูง ดินสีขาว เคลือบใส

“ชามไก่ทั่วไป” จะมี 4 ขนาด ดูจากความกว้างของปากชาม ได้แก่ ขนาด 5 นิ้ว (เสี่ยวเต้า) 6 นิ้ว (ตั่วเต้า) 7 นิ้ว (ยี่ไห้) และ 8 นิ้ว (เต๋งไห้) โดยชามขนาด 5-6 นิ้วเหมาะสำหรับใช้ในบ้านและร้านข้าวต้มชั้นผู้ดี ส่วนปากชามขนาด 7-8 นิ้ว สำหรับกรรมกรที่ทำงานหนักเพราะกินจุ

ส่วนชามไก่รุ่นปัจจุบัน ลักษณะของไก่สีชพู หางสีน้ำเงิน ต้นกล้วยเขียว ดอกไม้ชมพูดเขียนลวดลายตามใจ ไม่ค่อยมีแบบแผน ซึ่งชามไก่เนื้อดินสีครีม ชามไก่ทั่วไปที่ผลิตในจังหวัดลำปางเป็นเนื้อดินสโตนแวร์ เผาอุณหภูมิต่ำได้ เนื้อดินสีครีม เขียนลายใต้เคลือบสีแดง ดำ เขียว

“ชามไก่อื่นๆ” มีทั้งจานไก่โบราณ ชามไก่จากประเทศจีน ชามไก่ยุคแรกที่ผลิตในโรงงานเมืองไทย ชามไก่รุ่นแรกของลำปาง วิธีการดูสำหรับนักสะสมชามไก่จะมีลายเซ็นต์ของคนวาดลาย (signature of the painter) อยู่บนฝาด้านนอก นอกจากนี้ ให้สังเกตลักษณะลายไก่ (various character of Chicken paint) ซึ่งจะมีทั้งไก่เตี้ย ไก่เดินเยื้องย่าง ไก่วิ่ง ไก่สีส้ม ไก่สีแดงสด เป็นต้น

3 “ชามไก่หายไปไหน”

ในอดีตยุครัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม พ.ศ. 2500 มีนโยบายนิยมไทย ใช้ของไทย จึงมีการห้ามนำจานชามจากต่างประเทศเข้ามาขาย ทำให้ชามไก่ที่ผลิตจากลำปางขายดีมากเพราะเป็นสินค้าผลิตเองในประเทศ

อย่างไรก็ตาม หลังหมดยุครัฐบาล ป.พิบูลสงครามแล้ว ก็มีการเปิดประเทศอีกครั้ง ในขณะนี้มี 2 เหตุการณ์สำคัญคือ 1.ชามไก่มีการผลิตมากขึ้นและดรงงานต่างๆ แข่งขันตัดราคากันเอง มีการทำชามไก่แบบต้นทุนถูก 2.ชามจากต่างประเทศหลั่งไหลเข้ามาในตลาดเมืองไทย ทำให้ชามไก่แบบโบราณเริ่มหายไปจากสังคมไทย ตั้งแต่ประมาณปี 2507

4 “ชามไก่กลับมาได้อย่างไร”

ชามไก่กลับมาอีกครั้งเมื่อปี 2519 คุณพนาสิน (เจ้าของโรงงานธนบดี) ได้สังเกตเห็นชามไก่โบราณที่บ้านว่ามีความงาม และคุ้นเคยกับอดีตที่เคยใช้งานมาก่อน รวมทั้งต้องการอนุรักษ์ประวัติศาสตร์การค้นพบแร่ดินขาวและการเป็นผู้ริเริ่มทำโรงงานผลิตชามไก่ของคุณพ่อ ซึ่งก็คืออาปาอี้ จึงได้เริ่มศึกษาการทำชามไก่ในรูปแบบดั้งเดิมคือ เนื้อดินขาวลำปาง ทรงกลม แต่ด้านนอกชามเป็นเหลี่ยมมีก้นสูง แล้วเขียนด้วยสีบนเคลือบตามแบบฉบับดั้งเดิม

โดยมีคุณยุพิน ธนบดีสกุล (พี่สาวคนโตจากพี่น้อง 5 คน) เป็นผู้ถอดวิธีการเขียนชามไก่แบบดั้งเดิมที่เคยทำด้วยตนเองในสมัยยังเป็นเด็ก หรือประมาณปี 2507 อาจกล่าวได้ว่าคุณยุพินนี้เองที่เป็นคนฟื้นลวดลายชามไก่ให้มีชีวิตชีวาขึ้นมาอีกครั้ง

“ฟองสบู่แตกปี 2540” หลายคนยังจำผลกระทบจากวิกฤตต้มยำกุ้ง ซึ่งเป็นวิกฤตเศรษฐกิจรอบใหญ่ ในส่วนของชามไก่จากโรงงานธนบดี ประวัติศาสตร์ตอนนั้นคือเมื่อมีการผลิตและทดลองจนสำเร็จ มีการนำชามไก่ไปแสดงในงานนิทรรศการของขวัญและของแต่งบ้าน หรืองาน BIG & BIH ในปี 2539 ซึ่งเป็นงานใหญ่ประจำปีของกระทรวงพาณิชย์ ที่กรุงเทพฯ

ปรากฎว่าได้รับความนิยมอย่างมาก และเกิดกระแสความต้องการทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะลูกค้าในแถบเอเชีย เช่น ฮ่องกง มาเลเซีย สิงคโปร์ ญี่ปุ่น ทำให้โรงงานธนบดีต้องกลับมาผลิตชามไก่อีกครั้ง แต่ก็ผลิตได้จำนวนจำกัดเพราะไม่ใช่สินค้าหลักในขณะนั้น

ประจวบกับปี 2540 เกิดวิกฤตต้มยำกุ้งหรือวิกฤตเศรษฐกิจฟองสบู่แตก กระทบถึงวงการเซรามิคทำให้ซบเซาลง ทำให้มีโรงงานต่างๆ หันมาผลิตสินค้าชามไก่ตามแบบธนบดี

“กระแสความนิยมชามไก่” โดยวิธีการตอนแรก ๆ อาจมีการนำชามขาวมาจ้างธนบดีเขียนลายแล้วนำไปจำหน่ายต่อ บ้างก็หันมาผลิตชามไก่แบบดัดแปลงลวดลายเขียนสีใต้เคลือบเพื่อลดต้นทุน วางขายในตลาดกลางและล่าง ทำให้ชามไก่แบบใหม่แพร่หลายไปทั่ว กลายเป็นสัญลักษณ์จังหวัดลำปางในปัจจุบัน

ในขณะที่ธนบดียืนยันในการผลิตชามไก่รูปแบบโบราณต้นฉบับมาโดยตลอด อีกทั้งได้พัฒนาเพิ่มเติมด้วยการเขียนลายไก่ลงบนผลิตภัณฑ์อื่น ๆ อาทิเช่น ถ้วยน้ำจิ้ม ของที่ระลึก กระดิ่ง จานรองแก้ว แก้วชา กระปุกเกลือพริกไทย รวมทั้งพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้สวยงามเพื่อให้เหมาะกับการซื้อเป็นของฝาก

ทั้งนี้ ชามไก่ของโรงงานธนบดี ผลิตด้วยดินขาวลำปาง เคลือบใส และเผาที่อุณหภูมิสูง 1,260 องศาเซลเซียส เพื่อให้ได้เนื้อผลิตภัณฑ์ที่มีความแกร่งเทียบเท่ากับเนื้อพอร์ซเลนชั้นดี ทนทานต่อการใช้งาน ที่สำคัญคือทำความสะอาดง่าย

ข้อมูลทั้งหมดนี้คัดลอกมาจากป้ายแสดงนิทรรศการภายในมิวเซียมเซรามิคธนบดี ปรากฎว่าจังหวะดีมากเพราะในขณะเยี่ยมชมโรงงานอยู่นั้นเอง ในขั้นตอนของการเขียนลายเจอสุภาพสตรีท่านหนึ่งนั่งเขียนลายเงียบๆ ปรากฎว่าแจ๊คพ็อตเพราะเป็นเจ้าของโรงงาน “คุณยุพิน ธนบดีสกุล” หน้าตามีออร่ามาก ผิวพรรณเปล่งปลั่ง คงเป็นเพราะมีความสุขกับการทำชามไก่คุณภาพดีนั่นเอง

เนื่องจากตอนแรกไม่รู้ว่าเป็นเจ้าของโรงงาน นึกว่าเป็นพนักงานเขียนลายธรรมดา ๆ ก็เลยแอบสอบถามว่าค่าตอบแทนได้เดือนละเท่าไหร่ เพราะดูจะเป็นขั้นตอนสำคัญเนื่องจากวาดลายด้วยมือหรือที่เรียกว่าแฮนด์เมด พอรู้ว่าเป็นเจ้าของก็เป็นอันจบเห่สำหรับคำตอบ แต่ได้ความรู้ใหม่มาว่า บุคลากรที่หายากสุดของธนบดีก็คือพนักงานเขียนลายนี่เอง ต้องใช้สมาธิสูง สถิติการคัดเลือก 200 คนจะเป็นช่างเขียนลายระดับฝีมือมีเพียง 1 คน เรียกว่า 1 ใน 200 นั่นเอง (ไม่ใช่ 1 ใน 100)

“ช่างเขียนลายชามไก่ถ้าหูหนวกด้วยจะเขียนลายได้เก่งที่สุด เพราะมีสมาธิดีที่สุด เวลานั่งทำงานจริงจะแยกไปอยู่ในห้องหับไม่ให้ใครรบกวน ส่วนที่เห็นอยู่ในมิวเซียมเป็นการจัดแสดงโชว์ พอเขียนลายแล้วก็ต้องนำไปลบเพราะไม่สวย เป็นเพียงมุมสาธิตค่ะ”

ลักษณะพิเศษในด้านลวดลายชามไก่ธนบุรี ทางคุณยุพินให้เกร็ดความรู้เพิ่มเติมมาว่า ลายไก่ธนบดีตัวไก่จะเต็มตัว หมายถึงมีขาไก่ด้วย ส่วนจะอยู่ในอิริยาบถยืน วิ่ง เดินก็แล้วแต่ กับจุดโฟกัสที่หางไก่ โดยหางไก่ที่นี่จะมีจำนวนชั้นเยอะ ไม่ได้มีแค่หางที่เขียนลายแบบตวัด 1-2 หาง

เบ็ดเสร็จ การเขียนลายชามไก่ของธนบดีมี 7 ขั้นตอน เริ่มจาก 1.วาดลายดอกเบญจมาศสีชมพูม่วง (ทำจากสนิมของแร่ทองคำ) 2.วาดตัวไก่สีส้ม (ทำจากสนิมไทเทเนียมไดร์กับแร่โครมิก) 3.วาดสีเขียวอ่อนใบไม้และต้นกล้วย (สีทำจากสนิมแร่โครมิกกับแร่โคบอลต์) 4.วาดสีเขียวเข้มที่ใบไม้ ต้นกล้วย ขอบขาถ้วย 5.วาดสีดำที่หาง ตัวไก่ และต้นเส้นใบไม้ ต้นกล้วย 6.วาดรูปดอกไม้เล็กด้านในตัวชามด้วยสีส้มกับสีเขียวอ่อน

ขั้นตอนสุดท้ายของการวาดลาย 7.ประทับตราสัญลักษณ์ “เล้งเอี้ย” หรือเตามังกรที่ก้นชาม และตราประจำตัวของพนักงานวาด และวันที่วาดชามแต่ละใบ

ถ้ายังไม่ยูนี้กพอ คุณยุพินบอกด้วยว่า ข้อแตกต่างชามไก่ธนบดีกับสินค้าที่วางจำหน่ายในท้องตลาดก็คือ ที่อื่นจะเผาครั้งเดียว แล้วนำมาเขียนลายจากนั้นก็เคลือบใส แต่โรงงานธนบุรีเผาครั้งแรกให้ชามสุกด้วยอุณหภูมิ 1,260 องศาเซลเซียส จากนั้น เมื่อวาดลายเสร็จเต็มใบจะนำเข้าเตาเผาอีกครั้งที่อุณหภูมิ 750 องศาเซลเซียส โอ้วว์ เข้าใจแล้วว่าไลน์ผลิตของเขาคุณภาพเข้มข้นอย่างแท้จริง

ไปเยือนลำปางครั้งหน้าอย่าลืมแวะชมมิวเซียมธนบดี อยู่ในตัวเมือง หาไม่ยาก จะได้ไม่มีใครดูถูกว่ามาไม่ถึงลำปาง


ยินดีนั๊ก เจ้า…