เปิดกรุ ‘วัดนันตาราม’ ความงดงาม “ไม้สักทองทั้งวิหาร” จากอารยธรรมพม่า

จังหวัดพะเยา ถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงศิลปวัฒนธรรม และศาสนาที่นักท่องเที่ยวต่างชาติให้ความสนใจ แวะเวียนเข้ามาเก็บภาพ รวมไปถึงซึบซับความทรงจำดีๆ ครั้งหนึ่งในชีวิต ซึ่งความงามเชิงศาสนาหนึ่งในนั้นคือ “วัดนันตาราม” วัดเก่าแก่ที่มีความสำคัญสูงสุดแห่งหนึ่งในประวัติศาสตร์ ด้วยการรวบรวมสถาปัตยกรรมหลายชนิดเข้าด้วยกันอย่างลงตัว ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรมของชาวปะโอ , พม่า , จีน , อินเดีย , ล้านนา และประเทศอังกฤษ นอกจากนี้วัดนันตารามยังได้รับพระราชทาน “วิสุงคามสีมา” เขตที่พระเจ้าแผ่นดินพระราชทานแก่พระสงฆ์เป็นการเฉพาะเพื่อใช้สร้างอุโบสถ…
วัดนันตาราม ถูกสร้างขึ้นโดย “พ่อเฒ่านันตาหรือ พ่อเฒ่าอู๋” ในปีพ.ศ. 2467 ซึ่งแต่เดิมพื้นที่บริเวณวัดนันตาราม เคยเป็นวัด “จองคา” มาก่อน ซึ่งคำว่า “จองหรือเจาง์” แปลว่า วัด ในภาษาพม่า ส่วนคำว่า “คา” มาจากวัสดุของหลังคาที่ใช้หญ้าคาในการมุง แต่ชาวบ้านทั่วไปในละแวกนั้นนิยมเรียกว่า “วัดม่าน” มาจากคำว่า “มล่าน” ในภาษาล้านนาแปลว่าพม่านั่นเอง แต่บางครั้งก็ถูกเรียกว่า “วัดจองเหนือ” ด้วยเหตุผลที่ตั้งของวัดนั้นอยู่เหนือต้นน้ำลาวสอดคล้องกับวัดจองกลางและวัดจองใต้ ที่อยู่ตอนกลางและตอนใต้ของแม่น้ำลาวนั่นเอง

“พิมพ์เภา สดุดีหารสกุล” อาสาสมัครของวัด หรือผู้ช่วยเจ้าอาวาส ได้เล่าว่า “วัดจองคา” แต่เดิมเคยเป็นพื้นที่รกร้างก่อนที่ ”พ่อหม่องโพธิ์ขิ่น” จะสร้างวัดจองคาขึ้นมา จากนั้นได้นิมนต์ “พระอูว์วัณณะ” จากเมืองตองกี รัฐฉาน ประเทศพม่าให้มาจำพรรษาในวัด ช่วงเวลานั้นวัดจองคาได้ถูกตั้งเป็นอารามสงฆ์ขึ้นตรงต่อคณะสงฆ์พม่า ต่อมา “นางจ๋ามเฮิยง” ได้บริจาคที่ดินให้กับวัดเป็นจำนวน 5 ไร่ 1 งาน 72 ตารางวา

ทำให้วัดจองคามีพื้นที่รวมทั้งหมด 8 ไร่ 1 งาน 72 ตารางวา จนกระทั่งปีพ.ศ. 2467 พ่อเฒ่านันตาอู๋ คหบดีชาวปะโอ ได้เดินทางจากเมืองตองกี รัฐฉาน ประเทศพม่า เข้ามาทำการค้าขายเพชรพลอย และผ้าไหมต่อมาเมื่อธุรกิจค้าไม้ในภาคเหนือเริ่มมีการขยายตัวพ่อเฒ่านันตาจึงได้เข้ามารับจ้าง ขนส่งไม้ ให้กับบริษัทสัมปทานจนสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ ไม่นานพ่อเฒ่านันตา จึงได้บริจาคทรัพย์ส่วนตน เพื่อสร้างวิหารหลังใหม่แทนหลังเก่าที่ชำรุดทรุดโทรมจากการมุงหญ้าคา
โดยว่าจ้างพ่อเฒ่าตั๋น จากบ้านป่าขาม จังหวัดลำปาง ออกแบบและควบคุมการก่อสร้างร่วมกันจนแล้วเสร็จใน ปีพ.ศ. 2468 หลังจากนั้นจึงได้อัญเชิญพระพุทธรูปไม้สักทองจากวัดจองเหม่ถ่า อำเภอปง มาประดิษฐาน กระทั่ง พ.ศ. 2414 วัดจองคา ได้เปลี่ยนจากวัดในการปกครองของคณะสงฆ์พม่า มาเป็นวัดในมหานิกายคณะสงฆ์ไทย และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514
ต่อมาจึงเปลี่ยนชื่อจากวัดจองคาเป็น “วัดนันตาราม” เพื่อเป็นเกียรติแก่พ่อเฒ่านันตาอู๋ จวบจนถึงปัจจุบัน ด้านประเพณีความเชื่อของชาวพม่า และชาวล้านนาก็ปรากฏออกมาให้เห็นในรูปแบบของงานประณีตศิลป์ทั่วบริเวณวัด สวยงามตามศิลปกรรมแบบพม่า ผ่านสถาปัตยกรรมของวิหารวัดนันตาราม ที่มีลักษณะเป็นอาคารไม้ยกพื้นสูง

ซึ่งนอกจากจะเป็นวัดแล้ว สถานที่แห่งนี้ยังถูกใช้เป็นโรงเรียนสอนสามเณรด้วยเช่นกัน หรือแม้กระทั่งอาคารอเนกประสงค์ ในขณะเดียวก็กันเป็นได้ทั้งพื้นที่สาธารณะ และพื้นที่ปิด ,บริเวณล่างเป็นใต้ถุน ส่วนด้านบนแบ่งเป็นที่อยู่ของภิกษุหรือสามเณร มีพื้นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสำหรับการประกอบพิธีกรรมทางศาสนานั่นเอง ส่วนอาคารเจาง์ ของวัดนันตารามทำหน้าที่เป็นทั้งวิหารอุโบสถ และศาลาการเปรียญตามรูปแบบของวัดไทย
ลักษณะของเจาง์ที่ปรากฏในพม่ายังแตกต่างออกไปจากท้องถิ่น บริเวณภาคเหนือของไทยยังพบเจาง์ ในจังหวัดต่างๆ อีกด้วยเช่น จังหวัดแม่ฮ่องสอน, ลำปาง ,แพร่ และจังหวัดพะเยา
ทั้งนี้พื้นที่ใช้งานภายในวิหารวัดนันตาราม แบ่งออกเป็น 4 ส่วน บริเวณแรกคือ ทางเข้าของวิหารที่มีประติมากรรมรูปสิงห์ 2 ตัว พร้อมกับเสาสูงสองเสาขนาบข้าง บนยอดสุดมีการประดับประติมากรรมรูปนกยูงส่วนด้านหน้าราวบันไดเป็นประติมากรรมสัตว์ผสม ส่วนที่ 2 คือ พื้นที่ที่อยู่ถัดจากบริเวณทางเข้าด้านหน้าขึ้นมามีลักษณะเป็นห้องโถงขนาดกว้างสองช่วงเสา ยาวห้าช่วงเสาวางตัวขนานกับทิศตะวันออกและตก เรียกว่า “จองตะกา” เป็นพื้นที่ส่วนฆราวาสไว้สำหรับทำบุญไหว้พระ สวดมนต์ฟังธรรมตลอดจนการถวายปัจจัยต่างๆแก่พระสงฆ์นั้นเอง ส่วนที่ 3 คือพื้นที่ถัดจาก จองตะกา ลักษณะเป็นโถง มีเสาร่วมขนาดกว้าง 3 ช่วงเสา ยาว 5 ช่วงเสา พื้นที่ส่วนนี้เรียกว่าจองพารา

เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีการประดิษฐานพระพุทธรูป พื้นที่ส่วนนี้มีการยกพื้นขึ้นสองระดับ ชั้นแรกเป็นพื้นที่สำหรับพระสงฆ์ ส่วนถัดไปคือพื้นที่ประดิษฐานพระประธาน และพระพุทธรูปอื่นๆ จากชั้นของสงฆ์อีก 40 เซนติเมตร ส่วนที่ 4 คือพื้นที่ด้านตะวันออกมีขนาดกว้าง 3 ช่วงเสา ยาว 2 ช่วงเสา เรียกว่า “จองสังฆะ” ใช้เป็นที่จำวัดของเจ้าอาวาส โดยวิหารวัดนันตารามมีเสาทั้งหมด 68 ต้น ซึ่งเป็นเสาไม้สักลงทองทุกต้น รูปแบบอาคารของหลังคาวัดนันตารามนั้น เป็นเรือนซ้อนต่อกันเป็นชั้น มีความสูงต่ำลดหลั่นกันเพื่อแสดงถึงวรรณะและชนชั้นทางสังคมตามแนวคิดในการสร้างเรือนที่พักของฐานันดรชั้นสูงในวัฒนธรรมอินเดียนั่นเอง

ส่วนบริเวณเพดานเลือกใช้กระจกสีในการประดับตกแต่งลาย แบ่งเป็นสองชนิดใหญ่ๆ ชนิดแรกคือกระจกเหลี่ยมเป็นการเทแก้วที่มีความบางลงในแผ่นตะกั่วหรือดีบุกมีสีต่างๆ เช่นสีใสสีเขียว ,สีฟ้าสีขาวและสีแดงซึ่งส่วนใหญ่จะต้องสั่งจากจีน อีกชนิดหนึ่งคือกระจกแก้วเป็นกระจกที่มีความหนามีสีสันหลากหลายโดยได้รับรูปแบบมาจาก “อุ่นเจาง์” ในจังหวัดลำปาง ซึ่งรับอิทธิพลจากพม่าตอนล่างมาอีกที

ส่วน “พระพุทธรูป” ที่ได้อัญเชิญมาจากวัดจองเมตตา ถูกแกะสลักจากไม้สักทองทั้งต้นตามรูปแบบของศิลปะ “มันดาเล” ที่นิยมในช่วงพุทธศตวรรษที่ 24 มีลักษณะอุษณีย์ส์เป็นมวยผม พระเกศาเป็นแบบเล็กมีกรอบกระบังหน้า และทำลวดลายติดกระจกจากตะวันออกรับอิทธิพลมาจากศิลปะจีน พระเนตรมองตรง พระหัตถ์ขวาแตะที่พื้น ประทับบนบัลลังก์ฐานสูง พร้อมพระอัครสาวกขนาบทั้งสองข้าง นอกจากนี้ยังพบการทำลวดลาย พรรณพฤกษา และรูปคิวบิกทั้งพนัก ซึ่งแสดงให้เห็นถึงอิทธิพลจากงานศิลปกรรมของประเทศอังกฤษอย่างงดงามลงตัว

 

“วัดนันตาราม คือสถานที่แห่งความผูกพันของผู้คนทั้งชาวไทย และชาวพม่าที่อาศัยอยู่ใต้ชายคาอันร่มเย็นแห่งเมืองเชียงคำ และเป็นศาสนสถานแห่งศรัทธาที่เชื่อมโยงอดีตอันไกลโพ้นกับ อนาคตอันแสนไกลของพุทธศาสนา บนดินแดนล้านนาไทยตราบนานเท่านาน”