ความรู้ใหม่ทางโบราณคดี คนลุ่มน้ำลพบุรี ถลุงทองแดงขายตั้งแต่ 2,500 ปีก่อน

ราชอาณาจักรไทยและสาธารณรัฐอิตาลีสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2411 ด้วยการลงนามในสนธิสัญญาว่าด้วยมิตรภาพ การพาณิชย์ และการเดินเรือและพัฒนาความร่วมมือด้านต่าง ๆ เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ความสัมพันธ์ดำเนินมาครบ 150 ปีเมื่อปีที่ผ่านมา

ความสัมพันธ์ทางการทูตของไทยกับอิตาลีตามมาด้วยความร่วมมือในหลายด้าน ทั้งระดับภาครัฐและภาคเอกชน หนึ่งในนั้นคือความร่วมมือด้านวิชาการโบราณคดีระหว่างกรมศิลปากรของประเทศไทย กับสถาบันอิตาลีเพื่อการศึกษาภูมิภาคตะวันออกแห่งโรม หรือ ISMEO ที่ดำเนินมากว่า 30 ปีแล้ว

ความร่วมมือด้านวิชาการโบราณคดีของสองหน่วยงานระหว่างประเทศเริ่มต้นขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2531 ในชื่อโครงการโบราณคดีลุ่มน้ำลพบุรี มีความตกลงเพื่อการศึกษาค้นคว้าสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในพื้นที่ภาคกลางของประเทศไทย โดยมีนายโรแบร์โต เคียอารา และนางสาวฟิโอเรลลารีสโพลี เป็นนักโบราณคดีชาวอิตาเลียน และมีรองศาสตราจารย์สุรพล นาถะพินธุ ซึ่งขณะนั้นปฏิบัติงาน ณ หน่วยศิลปากรที่ 1 ลพบุรี เป็นผู้อำนวยการร่วมภาคสนามฝ่ายไทย

ปัจจุบัน (พ.ศ. 2561-2562) ISMEO มีโครงการขุดค้นทางโบราณคดีเพื่อประเมินสภาพแหล่งโบราณคดีโคกพุทรา อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี นายโรแบร์โต เคียอารา และนางสาวฟิโอเรลลา รีสโพลี ร่วมมือกับสำนักศิลปากรที่ 4 ลพบุรี ซึ่งจากการขุดค้นทางโบราณคดีพบว่าแหล่งโบราณคดีดังกล่าวมีอายุสมัยอยู่ในสมัยยุคหินใหม่

เนื่องในวาระที่กระทรวงวัฒนธรรมได้จัดกิจกรรมเฉลิมฉลอง 150 ปีความสัมพันธ์ไทย-อิตาลี กรมศิลปากรจึงได้นำผลงานวิชาการจากโครงการความร่วมมือนั้น มาจัดนิทรรศการ “150 ปีแห่งความสัมพันธ์ไทย-อิตาลี” และ “ความรู้ใหม่จากการศึกษาวิจัยแหล่งโบราณคดีในลุ่มแม่น้ำลพบุรี” ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์ จังหวัดลพบุรี เปิดนิทรรศการเมื่อกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

นิทรรศการนำเสนอเรื่องราวในคอนเซ็ปต์ที่ว่า โบราณวัตถุเพียงชิ้นเดียว เป็นที่มาของคำถามซึ่งนำไปสู่คำตอบและการค้นพบความรู้ใหม่มากมาย ถ้านักโบราณคดีมองข้ามวัตถุไปเพียงหนึ่งชิ้นก็อาจจะพลาดความรู้ทั้งหมดที่ค้นพบ

พื้นที่ลุ่มแม่น้ำลพบุรีโบราณปรากฏหลักฐานทางโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์กระจุกตัวหนาแน่นเป็นพิเศษ พบแหล่งโบราณคดี 116 แห่งกระจายตัวอยู่แทบทุกส่วนของพื้นที่ ทั้งบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำรอบอำเภอเมืองลพบุรี ต่อเนื่องไปถึงอำเภอตาคลี และอำเภอตากฟ้า จังหวัดนครสวรรค์

การศึกษาค้นพบว่าในพื้นที่ลุ่มน้ำลพบุรีมีหลักฐานการอยู่อาศัยอย่างต่อเนื่อง จากยุคก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายจนถึงสมัยทวารวดี โดยภาพรวมการศึกษาพบร่องรอยการอยู่อาศัยของมนุษย์มาตั้งแต่สมัยหินใหม่เมื่อ 4,000 ปีมาแล้ว และพบหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการทำโลหกรรมในยุคสำริดมาจนถึงยุคเหล็ก

ยกตัวอย่างความรู้ใหม่ที่ค้นพบจากการศึกษาทางโบราณคดี เช่น ค้นพบเมล็ดข้าวที่เป็นหลักฐานแสดงว่าคนในพื้นที่แถบนั้นรู้จักเพาะปลูกข้าวมาตั้งแต่ 3,400 ปีมาแล้ว แม้การล่าสัตว์หาของป่าจะดำเนินต่อไป แต่ก็เริ่มปรากฏการเลี้ยงวัว เลี้ยงหมู เริ่มมีการนำวัสดุ เช่น หิน ดินเผา กระดูก และเปลือกหอยทะเลมา

สร้างเครื่องมือเครื่องใช้และเครื่องประดับ อย่างที่ได้เห็นขวานหินและภาชนะดินเผารูปแบบต่าง ๆ บางชิ้นปรากฏลวดลายเชือกทาบและลายเขียนสีแดงที่น่าจะเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของหมู่บ้านและชุมชนต่าง ๆ ที่มีรสนิยมแตกต่างกัน ซึ่งอาจจะสะท้อนถึงชุดความเชื่อที่แตกต่างกัน

ต่อมาราว 2,500 ปีก่อน เห็นการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่สังคมเกษตรกรรมชัดเจนยิ่งขึ้น มีการเลี้ยงควายเพื่อไถนา มีการนำเหล็กมาทำเครื่องมือเครื่องใช้และอาวุธ ส่วนสำริดนิยมใช้ทำเครื่องประดับมากกว่า นอกจากนี้ยังพบหลักฐานการถลุงทองแดงในระดับอุตสาหกรรม เป็นการผลิตเพื่อส่งออกไปยังชุมชนพื้นที่อื่น ๆ ที่ไม่มีแหล่งทองแดง และต้องแสวงหาทองแดงก้อนจากเทือกเขาวงพระจันทร์เอาไปใช้ทำสำริด เครือข่ายการแลกเปลี่ยนทองแดงในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ช่วยให้บ้านเมืองในเขตลุ่มแม่น้ำลพบุรีเข้าถึงสิ่งของอีกหลายประเภทที่หาไม่ได้ เช่น เปลือกหอยทะเล กระดองเต่า ลูกปัดแก้ว หินคาร์เนเลียน และหินโมรา

ยังมีความรู้ใหม่อีกมากมายที่นักโบราณคดีค้นพบจากการศึกษาทางโบราณคดีในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำลพบุรี โดยความร่วมมือของนักโบราณคดีไทยและอิตาลีดังที่ได้กล่าวไปแล้ว สำหรับผู้ที่สนใจสามารถเข้าชมนิทรรศการได้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ

สมเด็จพระนารายณ์ จังหวัดลพบุรี นิทรรศการจะจัดแสดงยาว ๆ เป็นเวลา 1 ปี จนถึงปีหน้าเลย