อดีตอธิบดีมาเอง! ยันช่างเอกชนบางรายเก่งกว่ากรมศิลป์ โต้นักวิชาการค้านรับเหมาบูรณะ

เมื่อวันที่ 3 กันยายน เวลา 13.00 น. ที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ตลิ่งชัน กรุงเทพฯ มีการจัดเสวนาวิชาการหัวข้อ “พระปรางค์วัดอรุณฯ อันเนื่องมาจากการบูรณปฎิสังขรณ์” โดยเป็นการจัดร่วมกับคณะโบราณคดี และหลักสูตรอนุรักษ์ศิลปกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร มีวิทยากรผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ เข้าร่วมหลายราย

ศาสตราจารย์พิเศษ ศรีศักร วัลลิโภดม นักประวัติศาสตร์ชื่อดัง เจ้าของรางวัลฟุกุโอกะ ประเทศญี่ปุ่น กล่าวว่า การเคลื่อนไหวของสังคมไทยในกรณีพระปรางค์วัดอรุณฯ สะท้อนให้เห็นว่าคนปัจจุบันสนใจประเด็นด้านศิลปวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และการอนุรักษ์มากขึ้น ความจริงแล้ว ปฏิกิริยาในลักษณะเช่นนี้มีมานานแล้ว ตั้งแต่ยุคการเรียกร้องทวงคืนทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ แต่ในครั้งนี้ถือว่าเป็นประเด็นที่กระจายในวงกว้าง และสร้างความสะเทือนให้สังคมซึ่งถือเป็นนิมิตรหมายที่ดีที่ผู้คนร่วมกัน วิพากษ์วิจารณ์ เนื่องจากเป็นมรดกของชาติ อย่างไรก็ตาม ตนไม่กล่าวโทษกรมศิลปากร เนื่องจากมีภาระงานมากจนนำมาสู่ระบบการจ้างเหมาในการบูรณะปฏิสังขรณ์โบราณ สถาน
“วันนี้ไม่ได้มาด่ากรมศิลป์ สมัยก่อนด่า ตอนนี้เลิกแล้ว ต้องมาช่วยกรมศิลป์ มาทบทวนกันว่าควรมีการจัดการอย่างไรเมื่อภาระงานมาก นำมาสู่การรับเหมาซึ่งเป็นจุดอ่อน ทำอย่างไรจะช่วยให้กรมศิลป์มีงบประมาณ มีการจัดกรมกอง มีช่างฝีมือ ไม่ใช่ไปจ้างเหมา”

ศาสตราจารย์ ดร.สายัณห์ ไพรชาญจิตร์ อดีตคณบดีคณะโบราณคดี ม.ศิลปากร กล่าวว่า รู้สึกค่อนข้างเครียดกับการขึ้นพูดในเสวนาครั้งนี้ โดยระหว่าง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ตนเคลื่อนไหวทางโซเชียลเน็ตเวิร์กและออกรายการโทรทัศน์ ต่อมา มีผู้โพสต์ข่มขู่และสาปแช่งตน ในขณะที่เพื่อนในเครือข่ายที่กำลังรณรงค์การลงชื่อเสนอรัฐบาลเรื่องยุติ โครงการบูรณะ ก็ถูกบล็อกเฟซบุ๊ก แสดงว่าถูกต่อต้านพอสมควร อย่างไรก็ตาม สิ่งที่กำลังทำอยู่คือความตั้งใจที่จะหาทางออกให้สังคม และขอมีส่วนร่วมในการตรวจสอบ ตนขอฟันธงว่าความสูญเสียเกิดจากการจ้างเหมาบูรณะ ทางออกคือการหยุด ทบทวน ปรับปรุงและยกเลิกระบบการจ้างเหมางานบูรณะ และจัดตั้งคณะกรรมการโบราณสถานแห่งชาติขึ้นมาตรวจสอบ หาวิธีเยียวยาสังคม

“ไม่ปฏิเสธว่าเราจำเป็นต้องมีผู้รับจ้างทำ แต่การทำสัญญา (ทีโออาร์) ทำได้ดีแค่ไหน การวิจัย ประเมินสภาพความเสียหายต้องทำก่อนการทำทีโออาร์ แต่ครั้งนี้เพิ่งทำหลังเซ็นสัญญาไปแล้ว จริงๆ ควรมีการทำวิจัยก่อน 2 ปี กรณีวัดอรุณฯ การควบคุมงานหละหลวม คนคุมไม่ได้ไปทุกวัน ช่างมี 6-7 กลุ่ม เปลี่ยนเรื่อยๆ ถ้างานชิ้นเอกออกมาอย่างนี้ จะเหลืออะไรอีก โบราณสถานหลายแห่งมีปัญหามาตลอด แต่ที่ผ่านมาไม่ได้ออกมาพูด ขอเสนอว่า หยุดระบบการจ้างเหมาก่อนไหม แล้วทบทวนผลดีผลเสีย เราไม่เคยมีการวิจัยผลดีผลเสียของระบบการจ้างเหมาเลย วัดอรุณฯ ต้องตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจที่มีอำนาจเหนืออธิบดีกรมศิลป์ ที่ผ่านมาอำนาจรวมศูนย์อยู่ที่อธิบดี อาจต้องแก้ พ.ร.บ. โบราณสถานด้วย”

ด้าน ดร.สุวิชญ์ รัศมิภูติ อดีตอธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า ในการบูรณะครั้งนี้ยอมรับว่ามีข้อบกพร่องเยอะ เช่น กระเบื้องที่ทำเป็นรูปดอกไม้ ถ้าใช้กระเบื้องเก่า ควรเก่าทั้งดอก หรือถ้าเป็นกระเบื้องใหม่ ควรให้เป็นของใหม่ทั้งดอก ไม่ใช่ปะปนกัน ซึ่งจุดนี้ช่างศิลปกรรมควรเข้าไปช่วยเหลือ ส่วนสีปูนที่ขาวนั้น ล่าสุดตนเดินทางไปดู ตอนนี้ไม่ขาวแล้ว เพราะฝนตก ตะไคร่เริ่มขึ้น สำหรับประเด็นเรื่องระบบจ้างเหมานั้น ยืนยันว่ากรมศิลป์ไม่ใช้ระบบดังกล่าวไม่ได้ เนื่องจากจะทำงานไม่ทัน นอกจากนี้ ช่างบางส่วนในบริษัทรับเหมามีฝีมือดีกว่าช่างในกรมศิลปากรด้วยซ้ำ เนื่องจากเป็นข้าราชการเก่าที่เกษียณอายุราชการแล้วไปทำงานให้บริษัทเหล่านี้

 


ที่มา มติชนออนไลน์