รางวัลชมนาด ไม่มีผู้ชนะ สะท้อนคุณภาพนักเขียนหญิงไทย

แม้จะเป็นเรื่องน่าตกใจไม่น้อยเมื่อการประกาศผลรางวัลชมนาดปีนี้ไร้นักเขียนสตรีที่มีผลงานโดดเด่นเข้าตากรรมการ ไม่มีผู้ได้รางวัลชนะเลิศหรือได้รองชนะเลิศแม้แต่รางวัลเดียว แต่ก็เป็นเหตุฉุกคิดทำให้เราได้มีโอกาสมองเห็นจุดที่ต้องปรับและเปลี่ยนในวงการวรรณกรรมไทย

รางวัลชมนาด เป็นรางวัลที่ส่งเสริมนักเขียนสตรีทั้งมืออาชีพและมือใหม่ สร้างสรรค์ผลงานคุณภาพที่มีความประณีตมากพอที่จะแปลและจัดพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษ เพื่อเผยแพร่สู่สายตาผู้อ่านทั่วโลก โดยความร่วมมือของสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น และธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ซึ่งปีนี้ดำเนินมาต่อเนื่องเป็นปีที่ 8 แล้ว ตั้งแต่ครั้งที่ 1-7 รางวัลชมนาดเปิดรับเฉพาะงานสารคดี ซึ่งเป็นงานประเภท nonfiction ที่ผ่านมามีวรรณกรรมรูปแบบสารคดีที่โดดเด่นและสร้างกระแสให้สังคม อาทิ ฉันคือเอรี่ กับประสบการณ์ข้ามแดน, พฤกษามาตา, ก่อนสิ้นรุ่งอรุณแห่งฝัน, เขาตราหน้าว่าหมอฆ่าคน และขังหญิง

จากความสำเร็จที่ผ่านมา ทางคณะกรรมการตัดสินรางวัลชมนาดตระหนักว่า ความสามารถของหญิงไทยไม่ควรถูกตีกรอบ หรือมีพื้นที่สำหรับงานเขียนสารคดีเท่านั้น ปีนี้จึงเปิดให้ส่งผลงานประเภทนวนิยายเข้าร่วมประกวดด้วย ด้วยเล็งเห็นว่าวรรณกรรมประเภทนี้เป็นที่นิยมในกลุ่มนักอ่านทุกรุ่นทุกสมัย และยังไม่มีเวทีใดที่เน้นให้ได้แสดงออกเฉพาะนักเขียนสตรีอย่างเต็มที่

อย่างไรก็ตาม ผลปรากฏว่ามีงานเขียนส่งเข้าร่วมประกวด 31 เรื่อง และมี 6 เรื่องที่เข้าสู่รอบตัดสิน แต่สุดท้ายก็ไม่มีผู้ได้รับรางวัล ชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) จึงมอบเงินรางวัลจำนวน 100,000 บาท ให้กับสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย เพื่อนำไปพัฒนาวงการนักเขียนหญิงไทยต่อไป

นรีภพ จิระโพธิรัตน์ อดีตบรรณาธิการนิตยสารสกุลไทย และประธานกรรมการรอบคัดเลือกรางวัลชมนาด กล่าวถึงภาพรวมของผลงานทั้งหมด 31 เรื่องที่ส่งเข้าประกวดในรอบคัดเลือกว่า ผลงานมีหลากหลาย โดยกรรมการสามารถแยกได้ 9 ประเภท เช่น ชีวิต ครอบครัว สังคม โหราศาสตร์ สืบสวนสอบสวน ประวัติศาสตร์ วรรณกรรมเยาวชน วิทยาศาสตร์ และสิ่งแวดล้อม

“ภาพรวมจาก 31 เรื่อง เป็นนวนิยายประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์มีพลอต แก่น ตัวละคร บทสนทนา บรรยาย และอีก 20 เปอร์เซ็นต์เป็นแนวสมัยใหม่ ผลงานบางส่วนใช้เทคนิคศิลปะในการดำเนินเรื่องจนขาดอรรถรส และไม่น่าติดตามเท่าที่ควร เนื่องจากนวนิยายที่ดีควรมีวรรณศิลป์หรือภาษาที่บ่งบอกถึงความคมคายของผู้เขียน จึงทำให้บางเรื่องยังไม่สมบูรณ์ บางเรื่องมีการเสนอมิติตัวละครที่ดีผ่านบทสนทนา แต่การดำเนินเรื่องในตอนจบก็คลี่คลายอย่างง่ายดายหรือเฉลยเรื่องราวเสียก่อน หรือนวนิยายประวัติศาสตร์ก็ยังไม่มีความกลมกลืนหรือสมจริงเพียงพอ ทำให้ผู้อ่านไม่เชื่อในตัวละคร”

ด้าน กนกวลี พจนปกรณ์ นายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เวทีชมนาดมีจุดประสงค์หลักคือ การเปิดโอกาสให้นักเขียนหญิง ส่งเสริมเผยแพร่ผลงานของหญิงไทยออกสู่สากล และสนับสนุนให้คนไทยรักการอ่าน คณะกรรมการและนักเขียนต้องเคารพวัตถุประสงค์เหล่านี้ แม้ว่าอยากให้ผู้ส่งผลงานเข้าประกวดทุกรายได้รางวัล แต่ท้ายที่สุดต้องดูที่พลอตเรื่องว่ามีแก่นสารอย่างไร จะนำผู้อ่านไปได้อย่างไร เมื่อมีเนื้อหาชัดเจน ก็ต้องกลับมาดูว่าผู้เขียนตอบโจทย์ให้คนอ่านรู้สึกถึงหรือไม่ ต้องพิจารณาทั้งรูปแบบเนื้อหาและกลวิธีนำเสนอที่งดงามเสมอกัน สำหรับปีนี้ผลงานส่วนใหญ่ยังขาดอย่างใดอย่างหนึ่ง จึงต้องตัดสินโดยยึดหลักการและมาตรฐานเป็นหลัก

เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ นักเขียนรางวัลซีไรต์และกรรมการตัดสินรางวัลชมนาด กล่าวว่า จากการตั้งข้อสังเกตเห็นว่านักเขียนหญิงมีความคิดที่ละเอียดแต่ขาดส่วนกว้าง ในขณะที่นักเขียนชายจะมีความคิดที่กว้างกว่า ยึดโครงสร้างแต่ขาดความละเอียด อย่างไรก็ตาม ขึ้นอยู่กับบุคคล ซึ่งในสมัยใหม่งานวรรณกรรมต้องการทั้ง 2 แบบ ต้องเติมเต็มกันและกัน

ด้าน อาทร เตชะธาดา กรรมการผู้จัดการ สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น กล่าวในมุมมองของสำนักพิมพ์ถึงอุปสรรคในเรื่องการแปลผลงานไทยไปสู่ภาษาต่างประเทศว่า ค่าจ้างในการแปลไม่ต่ำกว่า 2 แสนบาทต่อเล่ม ยังไม่รวมค่าใช้จ่ายด้านอื่น สำนักพิมพ์ที่ต้องฝ่าฟันในยุคดิจิทัลไม่ได้มีกำลังเงินมากมายจึงลำบากมาก แต่ในต่างประเทศ เช่น มาเลเซีย รัฐบาลมีการสนับสนุนเงินทุนช่วยในการแปลวรรณกรรมในประเทศให้ไปสู่นักอ่านทั่วโลก เป็นการช่วยเหลือสำนักพิมพ์และการส่งเสริมงานเขียนของชาติให้แพร่หลายได้อย่างมาก

คำอธิบายของผู้ทรงคุณวุฒิในวงการวรรณกรรมทุกท่าน สะท้อนให้เห็นภาพรวมวงการนักเขียนหญิงได้ในระดับหนึ่งว่า นักเขียนหญิงยังต้องพัฒนาคุณภาพผลงานอีกมาก แต่อย่างไรก็ตาม ก็มีนักเขียนหญิงคุณภาพหลายคนที่ได้ตีพิมพ์ผลงานกับสำนักพิมพ์ดัง ๆ ได้รับคำชมและความนิยมมากมาย รวมถึงได้รับรางวัลใหญ่ระดับประเทศด้วย