สุดเอ็กซ์คลูซีฟ! ตะลอน “มิวเซียมสยาม” พาดูนิทรรศการ “ถอดรหัสไทย”

เรื่องโดย กรกนก มาอินทร์/ ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

เชื่อว่าหลายคนที่ชื่นชอบการเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์ ต้องเคยได้ยินชื่อ “มิวเซียมสยาม” พิพิธภัณฑ์ขึ้นชื่อในการจัดเเสดงนิทรรศการอย่าง “เรียงความประเทศไทย” ทำเอาทั้งไทยเเละเทศต่างออกปากยอมรับชื่นชม เเละประทับใจจนต้องย้อนกลับไปดูเเล้วดูอีก

เป็นเวลากว่า 8 ปี ที่ทางมิวเซียมสยามจัดเเสดงนิทรรศการเรียงความประทับใจ จนเมื่อต้นปี 2559 มีการปิดนิทรรศการชุดดังกล่าว โดย นายราเมศ พรหมเย็น ผู้อำนวยการสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้เเห่งชาติ (มิวเซียมสยาม) เล่าให้ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ฟังถึงสาเหตุที่ปิดนิทรรศการ “เรียงความประเทศไทย” ซึ่งจัดเเสดงมานานกว่า 8 ปี ว่า

ตลอดเวลาที่ผ่านมามิวเซียมสยามได้จัดนิทรรศการที่มีเนื้อหาหลากหลาย โดยมีนิทรรศการหมุนเวียนที่จัดเเสดงในระยะเวลาประมาณ 3 เดือน อาทิ นิทรรศการ “ไทยทำ…ทำทำไม” , “ต้มยำกุ้ง:วิชานี้อย่าเลียน!” อีกทั้งยังมีการจัดนิทรรศการถาวรที่จัดเเสดงยาวนานถึง 8 ปี อย่าง “เรียงความประเทศไทย” โดยปิดให้เข้าชมไปเมื่อปี 2559 ที่ผ่านมา

“มิวเซียมสยาม นับเป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่อยู่ในสำนักนายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่เป็นเเหล่งเรียนรู้ เน้นกระบวนการเรียน นำเอาองค์ความรู้ทางประวัติศาสตร์ ชีวิต มานำเสนอในรูปแบบใหม่ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ ซึ่งได้ร่วมพัฒนาเเละเเตกเครือข่ายไปยังทุกภูมิภาคอย่างมากมาย” นายราเมศเล่า

สำหรับการปรับปรุงนิทรรศการใหม่ภายใต้ชื่อ “ถอดรหัสไทย” เพื่อให้สอดคล้องกับประชาชนมากขึ้น ด้านตัวเลขการเข้าชมตลอด 8 ปีที่ผ่านมา (ก่อนปิดรีโนเวต) “ผู้อำนวยการสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้เเห่งชาติ” เผยว่ามีผู้เข้าชมมิวเซียมสยามเเล้วกว่า 2 ล้านคน

ในส่วนของการก่อสร้าง “ถอดรหัสไทย” นิทรรศการถาวรชุดใหม่ ใช้เวลาในการพัฒนาเนื้อหากว่า 1 ปีครึ่ง มีคอนเทนต์เเปลกใหม่เเละเข้ากับยุคสมัยมากขึ้น ซึ่งนิทรรศการชุดนี้ต่อยอดมาจากนิทรรศการชุดเดิมอย่างเรียงความประเทศไทย โดยมีทั้งหมด 14 ห้อง

เนื่องจากเป็นการเข้าชมก่อนกำหนดเปิดจริงในวันที่ 2 ธันวาคม ปลายปีนี้ เราเเละเหล่าบล็อกเกอร์ถือเป็นคนไทยกลุ่มเเรกที่ได้เข้าชม มิวเซียมสยาม จำนวน 6 ห้องจากทั้งหมด 14 ห้อง ลบภาพมิวเซียมของตั้งโชว์ หยิบจับอะไรไม่ได้กลัวเเต่จะทำของเสียหายชำรุด เเต่ละอย่างทำเอาตื่นตาตื่นใจให้ความรู้สึกเหมือนย้อนกลับไปเป็นเด็กอีกครั้ง

นายปรามินทร์ เครือทอง ที่ปรึกษาสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้เเห่งชาติ (มิวเซียมสยาม) ผู้ที่จะพาเราไปชมนิทรรศการถาวรในครั้งนี้ ให้ข้อมูลว่า นิทรรศการชุดเก่าพูดถึงรากฐานของสังคมไทย โดยนิทรรศการชุดใหม่จะพูดถึงผลของมัน

“โจทย์คือ ทำอย่างไรให้ใหม่ นิทรรศการชุดเก่าเหมือนพ็อกเกตบุ๊กทำเเล้วทำเลย นิทรรศการชุดใหม่ต้องมาคิดว่าจะทำอย่างไรให้เหมือนหนังสือพิมพ์ ที่ปรับได้ทันที เมื่อมีเหตุการณ์สำคัญในสังคมสามารถปรับเปลี่ยนได้ ซึ่งนิทรรศการชุดนี้จะตอบคำถามว่าความเป็นไทยมีความเป็นมาอย่างไร รวมไปถึงเผยให้เห็นถึงความเป็นไทยที่ถูกสร้างขึ้นในเเต่ละยุคสมัย” นายปรามินทร์ เล่าขณะพาเราเเละเหล่าบล็อกเกอร์เข้าชมมิวเซียมสยาม

อย่างที่รู้กันว่ามิวเซียมสยามปิดเพื่อรีโนเวตเเละสร้างนิทรรศการถาวรชุดใหม่ขึ้นมาเพื่อเข้ากับยุคสมัยเเละการเปลี่ยนเเปลงในสังคม ตึกสีเหลืองขนาดใหญ่ ที่เคยเป็นอาคารกระทรวงพาณิชย์มีรูปแบบทางสถาปัตยกรรมทรงโคโลเนียล ถูกบูรณะซ่อมเเซมกลายมาเป็นมิวเซียมสยาม ในวันนี้เราจะพาไปเปิดนิทรรศการ “ถอดรหัสไทย” ที่ยังไม่มีผู้ใดได้รับชม งานนี้สุดยอดของความเอ็กซ์คลูซีฟ

เดินเข้ามาห้องเเรกเราได้เเต่ยืนจ้องหุ่นสีขาวตรงหน้า สวมชุดคล้ายกับนักร้องต่างชาติ บนศีรษะสวมชฎา ลุคช่างดูขัดตาเหลือเกิน โดยที่ปรึกษาสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้เเห่งชาติ เล่าถึงที่มาที่ไปของห้องนี้ว่านี่คือห้อง “ไทย” หรือเปล่า? ซึ่งหุ่นที่เราเห็นก่อนหน้านี้ ตั้งโชว์อยู่กลางห้องคือหุ่น “เลดี้กาก้าสวมชฎา” ในคอนเสิร์ต LADY GAGA THE BORN THIS WAY BALL LIVE IN BANGKOK 2012 เเม้จะผ่านมาหลายปีเเต่กระเเสวิจารณ์ถึงความเป็นไทยยังคงมีให้เห็น โดยภายในห้องยังได้รวบรวมคำพูด คำถามจากเหล่าชาวเน็ตที่สงสัยกันว่า เเบบนี้เรียก ไทยหรือเปล่า?

แค่ห้องเเรกก็ทำเราเข้าใจเเล้วว่า การรีโนเวตครั้งใหม่นี้ นำเรื่องราวที่มีผลกระทบกับสังคมมาเล่นให้เข้ากับผู้คนจริงๆ

เดินต่อไปห้องที่สอง “ไทยเเปลไทย” สายตาไปสะดุดเข้ากับวัตถุมากมายล้วนเเต่เป็นของตั้งเเต่โบราณจวบจนปัจจุบัน หม้อเเม่นาคที่ถูกฝังไว้ที่พื้นปิดทับด้วยกระจกใส พระพุทธรูปถูกวางโชว์ หนังสือสี่เเผ่นดิน ด้านบนเต็มไปด้วยโปสเตอร์ เเละเรื่องราวในประวัติศาสตร์ ห้องนี่เพิ่มกิมมิกด้วยการซ่อนลิ้นชักไว้ตามผนัง เราสามารถดึงออกมาดูเรื่องราวต่างๆ ในลิ้นชัก ซึ่งจะมีเรื่องราวเเตกต่างกันออกไป

เราตื่นเต้นกับห้องนี้มาก เหมือนต้องเปิดลิ้นชักให้ครบเพื่อดูว่าข้างในมีเรื่องราวประวัติศาสตร์อะไรซ่อนอยู่

ถัดมาที่ห้องสาม “ไทยตั้งเเต่เกิด” เป็นความหลากหลายที่ไม่มีความหมายตายตัว ขึ้นอยู่กับ “ผู้นำ” เเต่ละยุคสมัยเเละกระเเสนิยมจะหยิบจับอะไรขึ้นมาสร้างความเป็นไทย เราบอกเคล็ดลับสำหรับห้องนี้ หากใครวางเเพลนจะไปเที่ยวล่วงหน้า ให้ยืนตรงกลาง จะเรียกว่าตู้ไม้ก็ไม่ใช่่ จะเรียกเเท่นไม้ขนาดใหญ่ก็อย่างไรอยู่ ตั้งเด่นอยู่ตรงกลาง ความพิเศษเมื่อปิดไฟ เเท่นไม้ที่มีเรื่องราวความเป็นไทย จะค่อยๆ เล่าเรื่องราวตั้งเเต่ครั้งประเทศไทยยังชื่อสยาม จุดดึงดูดสายตาคือลูกเล่นของกล่องที่ข้างในมีเรื่องราวความเป็นไทย ตั้งเเต่การเเต่งกาย อาหาร การปกครอง ค่อยๆ ผุดขึ้นมา ไม่ต่างจากเวลาไปดูคอนเสิร์ตเเล้วศิลปินค่อยๆ โผล่ขึ้นมาจากใต้เวที

เดินทอดน่องกันไปที่ห้องที่สี่ “ไทยดีโคตร” ต้นทางความเป็นไทยอาจมาจากเเดนไกล จากวัฒนธรรมอื่น เเต่เมื่อเรามาที่นี่ เราเลือก เรารับ เราปรับ เราสร้างสรรค์ ภายในห้องมีจอเเสดงภาพก่อนจะมาเป็นอักษรไทยอย่าง ก.ไก่ เเต่ก่อนเคยเป็นอย่างไร ตรงกลางห้องมีอะครีลิกซ้อนกันใช้ระบบมือเเมนนวลให้เห็นวิวัฒนาการของ “วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร” กว่าจะได้รูปทรงดังปัจจุบันต้องมีการบูรณะซ่อมเเซม ปรับเปลี่ยนมาเเล้วหลายครั้ง

ดูความเป็นไทยกันมาหลากหลายยังไม่เห็นถึงอาหารการกินจนมาถึงห้องที่ห้า “ไทยชิม” ว่ากันว่าถ้าจะถอดรหัสชนชาติไหน ให้บุกไปถึงก้นครัว ไปฟังเสียงตำน้ำพริกที่ดังไปแปดบ้านสิบบ้าน ไปดูสีสันจัดจ้านของเครื่องปรุงนานาชนิด สำหรับห้องนี้จะมีเเท่นทรงกลมขนาดใหญ่สองเเท่นตั้งอยู่ตรงกลาง รายล้อมไปด้วยจานอาหาร 2 ฝั่ง ด้านฝั่งที่เป็นจานเปล่าด้านหลังจะมีคิวอาร์โค้ด (QR Code) พร้อมชื่ออาหาร สามารถหยิบจานมาวางไว้ตรงรูบนเเท่น รอสักครู่จะมีการฉายภาพกรรมวิธีทำอาหารรวมถึงส่วนประกอบ จนออกมาเป็นเมนูสำเร็จ เช่น เมื่อนำจานที่ด้านหลังเขียนว่าไข่เจียวมาวางไว้ จะเห็นว่ามีไข่ เครื่องปรุง ช้อน ส้อม สักพักทุกอย่างจะหมุนรวมกันออกมาเป็นไข่เจียว พร้อมบอกว่าที่มาที่ไปของไข่เจียว

ส่วนอีกฝั่งที่เป็นจานมีเมนูอาหารสกรีนลงด้านหน้า จะมีคำถามทั้งภาษาไทยเเละภาษาอังกฤษ เเละด้านหลังจะมีคำตอบเฉลยเอาไว้ เช่น ปลาท่องโก๋ จริงๆเเล้วเรียกว่าอะไร? ถือเป็นการฉีกกฎการเข้าพิพิธภัณฑ์ที่ไม่สามารถหยิบจับ เเตะต้องอะไรได้ เเต่ห้องไทยชิมพิสูจน์ให้เห็นเเล้วว่าสามารถนำเทคโนโลยีมาผสมกับการบอกเล่าเรื่องราวในประวัติศาสตร์ได้อย่างร่วมสมัย เล่นกับผู้คนเเละสร้างความสนุกได้เป็นอย่างดี

สุดท้ายสำหรับการเข้าชมวันนี้กับห้อง “ไทยวิทยา” ความเป็นไทยมีรูปแบบเเละเนื้อหาปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย เชื่อว่าหลายคนคงชอบห้องนี้ เรารู้สึกเหมือนตัวเองเเก่อย่างไรไม่รู้ ห้องที่เเบ่งโซนเป็นชั้นเรียนตามยุคสมัยต่างๆ ตั้งเเต่เก้าอี้เรียน โต๊ะเรียน กระดานดำ ค่อยๆเปลี่ยนมาเรื่อยๆตามช่วงเวลา ทั้งยังมีมุมคอมพิวเตอร์ที่ยังมาในรูปแบบจอสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ ลูกเล่นที่ซ่อนอยู่ตามโต๊ะเรียน ปุ่มสีเขียวที่กดเเล้วจะมีเสียงเพลงในยุคนั้นออกมา ชุดนักเรียนสีขาวมีให้ผู้เข้าชมผลัดเปลี่ยนสำหรับถ่ายรูป เราประทับใจห้องนี้มาก เหมือนได้ย้อนวัยอีกครั้ง

นี่เเค่น้ำจิ้มที่เสร็จไปเเล้ว 95% เเต่ก็สมบูรณ์ในสายตาเราอย่างมาก ความสนุกที่เเฝงไว้ในเเต่ละห้องทำให้ลืมภาพพิพิธภัณฑ์ที่จะเข้าเเต่ละทีต้องระวังชนของตกเเตกบ้าง หรือหยิบจับอะไรไม่ได้บ้าง เเต่ที่ “มิวเซียมสยาม” ทำให้เห็นเเล้วว่าสามารถนำเรื่องราวประวัติศาสตร์มาเล่นกับผู้คนเเละสังคมได้อย่างร่วมสมัย

ช่างตรงจริตมนุษย์เหลือเกิน…

สำหรับมิวเซียมสยามตั้งอยู่ที่ถนนสนามไชย ท่าเตียน หากใครสะดวกเดินทางด้วย BTS สามารถนั่งไปลงที่สถานีสะพานตากสิน เเล้วออกไปที่ท่าเรือสาทร นั่งเรือด่วนเจ้าพระยาไปลงท่าเรือราชินี หรือท่าเตียน เเล้วเดินไปทางถนนสนามไชยราว 150 เมตร ก็จะเจอกับมิวเซียมสยาม หรือใครที่เดินทางด้วยรถประจำทางสาย 3, 6, 9, 12, 47, 53, 82, 524 ก็ผ่านมิวเซียมสยามเช่นกัน