นาฏศิลป์ไทย หาชมยากแต่ยังไม่หายไป ถ้าสนใจ…มีให้ดูตลอดปี

เป็นความจริงที่ว่า นาฏศิลป์ไทยถูกมองว่าเป็นการแสดงที่ไม่ร่วมสมัยในปัจจุบัน และก็เป็นการแสดงที่ห่างไกลจากความนิยมของคนไทยมาก เหมือนเป็นเรื่องไก่กับไข่ เพราะคนไม่นิยมจึงหาดูยาก หรือเพราะหาดูยากคนจึงไม่นิยม

ถ้าเกิดอยากดูการแสดงนาฏศิลป์ไทย คนที่อยู่ต่างจังหวัดคงจะหาดูยากทีเดียว แต่คนที่อยู่ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลนั้นหาดูได้ไม่ยากเลย อย่างน้อย ๆ ก็มีการแสดงที่อยู่ภายใต้การดูแลของกรมศิลปากร ที่มีให้ดูต่อเนื่องตลอดทั้งปี โดยหน่วยงานที่รับผิดชอบหลัก คือ สำนักการสังคีต กรมศิลปากร

ก่อนจะไปดูว่าใน 1 ปีมีการแสดงอะไรให้ดูบ้าง มาทบทวนความรู้เกี่ยวกับนาฏศิลป์ไทยต่าง ๆ กันก่อนว่า เรารู้จักนาฏศิลป์ไทยมากน้อยแค่ไหน

นายลสิต อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักการสังคีต กรมศิลปากร ให้ข้อมูลว่า นาฏศิลป์ไทยแบ่งเป็นประเภทใหญ่ ๆ คือ โขน ละคร ระบำ และรำ ซึ่งแต่ละประเภทก็มีการแบ่งประเภทย่อย ๆ อีก

โขน มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นมหรสพที่รวมศิลปะหลายแขนงเข้าด้วยกัน ได้แก่ วรรณศิลป์ วิจิตรศิลป์ หัตถศิลป์ นาฏศิลป์ ดุริยางคศิลป์ การแสดงโขนมีทั้งบทพากย์ บทร้อง กระบวนลีลาการร่ายรำ และประกอบด้วยงานฝีมือแขนงต่าง ๆ เช่น หัวโขน เครื่องแต่งกาย ฉากและอุปกรณ์ประกอบการแสดง ส่วนเนื้อเรื่องมีเรื่องเดียว คือ รามเกียรติ์ โขนแบ่งออกเป็น 5 ประเภท ได้แก่

โขนกลางแปลง แสดงบนพื้นดินกลางสนาม ในสมัยโบราณนิยมแสดงเนื้อหาเกี่ยวกับการยกทัพและการรบกันเป็นส่วนใหญ่

โขนนั่งราว หรือ โขนโรงนอก แสดงบนโรงไม่มีเตียงนั่ง ที่นั่งตัวเอกจะทำเป็นราวไม้พาดตามส่วนยาวของโรง ตรงหน้าฉากมีช่องทางให้ผู้แสดงเดินได้รอบราว

โขนหน้าจอ แสดงตรงหน้าจอผ้าโปร่งสีขาว สองข้างทำเป็นประตูให้ตัวโขนเข้า-ออก มีฉากเขียนไว้สองข้าง

โขนโรงใน เป็นการแสดงที่มีทั้งโขนและละครในผสมกัน ปรับปรุงวิธีแสดงให้ประณีตบรรจง และปลูกโรงสำหรับแสดง

โขนฉาก มีการสร้างฉากประกอบการแสดงบนเวที สันนิษฐานว่าเกิดขึ้นเมื่อสมัยรัชกาลที่ 5 ส่วนวิธีแสดงเป็นแบบโขนโรงใน

ละคร คือ การแสดงที่ผูกเป็นเรื่อง มีเนื้อความเหตุการณ์ มีความสัมพันธ์กันเป็นตอน ๆ ละครแบ่งออกเป็น 5 ประเภทใหญ่ ได้แก่

ละครชาตรี คือ ละครรำแบบหนึ่งของไทย ตามโบราณกำหนดให้ผู้ชายแสดง และนิยมแสดงเรื่องมโนห์รา โดยยึดหลักการแสดงแบบละครนอก แต่ก็ยังคงให้มีเพลงร้องทำนองชาตรี และมีรำซัดชาตรี ไหว้ครูเบิกโรงก่อนเริ่มแสดงละครตามประเพณี

ละครนอก เป็นละครที่มุ่งดำเนินเรื่องรวดเร็ว ไม่เคร่งครัดในการใช้ถ้อยคำ มีการแทรกตลกขบขัน แต่เดิมใช้ผู้ชายแสดงล้วน ปัจจุบันแสดงได้ทั้งชายและหญิง เนื้อเรื่องจะเป็นวรรณคดีเรื่องใดก็ได้ ยกเว้น รามเกียรติ์ อุณรุท และอิเหนา (ซึ่งใช้แสดงละครใน)

ละครใน เป็นการแสดงละครในราชสำนัก ใช้ผู้แสดงเป็นผู้หญิงล้วน นิยมแสดงเพียง 3 เรื่อง คือ รามเกียรติ์ อิเหนา และอุณรุท

ละครดึกดำบรรพ์ เป็นละครรำที่ปรับปรุงขึ้นโดยยึดแนวการแสดงละครในเป็นหลัก และนำการแสดงละครตะวันตกเข้ามาผสมด้วย ชื่อเรียกละครดึกดำบรรพ์ เรียกตามชื่อของ “โรงละครดึกดำบรรพ์” ซึ่งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงร่วมกับเจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ ปรับปรุงการแสดงละครขึ้นใหม่ และนำออกแสดงที่โรงละครแห่งนี้เป็นครั้งแรก

ละครพันทาง เป็นละครรำแบบผสม ปรับปรุงขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ลักษณะการแสดงคล้ายละครพูดที่มีเจรจา การดำเนินเรื่องด้วยบทร้อง ลีลาท่ารำมีทั้งท่ารำของชาติต่าง ๆ ผสมกับท่ารำของไทย เพลงร้องและบรรเลงเป็นภาษาไทยและเพลงที่มีสำเนียงภาษาของชาตินั้น ๆ ส่วนการแต่งกายแต่งตามเชื้อชาติของตัวละคร

รำ คือ การแสดงท่าทางให้มีลีลาสวยงาม เน้นใช้มือและแขนเป็นหลัก

ระบำ คือ การแสดงการร่ายรำเป็นหมู่ ถ้ามีผู้แสดง 2 คนขึ้นไป เรียกว่า ระบำ

ผอ.สำนักการสังคีตบอกว่า ปัจจุบันการแสดงโดยกรมศิลปากรถูกพัฒนาขึ้นมาตามยุคสมัย ท่าทางการร่ายรำพัฒนามากขึ้น มีการคิดท่าใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น แต่ก็ยังทำการแสดงประเภทต่าง ๆ แบบเดิมที่เคยมีในสมัยก่อน เพื่อการอนุรักษ์ เพื่อแสดงให้ผู้ชมได้เห็นว่า โขนและละครประเภทต่าง ๆ ในอดีตเป็นอย่างไร มีองค์ประกอบอะไรบ้าง แต่ไม่ได้ลดทอนท่าร่ายรำลงให้เหมือนในสมัยก่อน

เมื่อรู้ข้อมูลว่าการแสดงอะไรเป็นอะไรแล้ว เรามาดูกันว่าใน 1 ปีนี้ จะมีอะไรให้ดูบ้าง

รายการสังคีตศาลา : ที่สนามหญ้าภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร มีการแสดง “โครงการดนตรีสำหรับประชาชน ปีที่ 63” เรียกกันสั้น ๆ ว่า “สังคีตศาลา” จัดแสดงในเวลา 17.00-19.00 น. ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ ไปจนถึงวันอาทิตย์ที่ 29 มีนาคม 2563 ซึ่งมีการแสดงหลากหลาย ทั้งดนตรีไทย โขน ละคร โขนสด การบรรเลง-ขับร้องดนตรีสากล ลิเก การแสดงชนเผ่าพื้นเมืองภาคเหนือ ฯลฯ

รายการนาฏกรรมสังคีต : การแสดงนาฏศิลป์ โขน และละคร จัดแสดงวันเสาร์และวันอาทิตย์ เดือนละ 2 ครั้ง ณ โรงละครแห่งชาติ และหมุนเวียนไปแสดง ณ โรงละครแห่งชาติภาคตะวันตก จังหวัดสุพรรณบุรี และโรงละครแห่งชาติภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดนครราชสีมา ประกอบด้วย โขน 2 ตอน ละคร 1 เรื่อง คือ การแสดงโขน เรื่องรามเกียรติ์ ชุดปราบกากนาสูร การแสดงโขน เรื่องรามเกียรติ์ ชุดสืบมรรคา และละคร เรื่องโกมินทร์ ตอนโกมินทร์คะนอง

รายการศรีสุขนาฏกรรม : ประกอบด้วยโขน ละคร ระบำ ดนตรีและการขับร้อง การแสดงจินตลีลา การแสดงพื้นเมือง การแสดงแนวตลกในชุดหรือตอนสั้น ๆ แสดงทุกวันศุกร์สุดท้ายของเดือน เวลา 17.00 น. ณ โรงละครแห่งชาติ

รายการดนตรีไทย พุทธศักราช 2563 : ประกอบด้วย รายการดนตรีไทยพรรณนา และรายการดนตรีไทยไร้รส จัดแสดง 6 ครั้ง ดังนี้ วันเสาร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ การแสดงชุดหลากสำเนียงลีลานาฏศิลป์, วันเสาร์ที่ 18 กรกฎาคม การแสดงชุดยลแลยิน…..กลิ่นอายตลุง, วันเสาร์ที่ 12 กันยายน, วันเสาร์ที่ 3 ตุลาคม, วันอาทิตย์ที่ 4 ตุลาคม การแสดงละครซ้อนดนตรีพูดสลับร้อง เรื่องสี่บท, วันเสาร์ที่ 21 พฤศจิกายน ชุดนาฏการนิทานไทย เรื่องท้าวคูลูกับนางอั้ว

รายการศิลปากรคอนเสิร์ต : จัดแสดงปีละ 7 ครั้ง สำหรับปีนี้เหลืออีก 6 ครั้ง ในวันอาทิตย์ที่ 15 มีนาคม ชุด “Thai-Belgium Classical”, 17 พฤษภาคม ชุด “Great Russian”, วันอาทิตย์ที่ 19 กรกฎาคม ชุด “ดนตรีเริงร่า ลีลาลูกทุ่ง”, วันอาทิตย์ที่ 13 กันยายน ชุด “Classical Romantic”, วันอาทิตย์ที่ 18 ตุลาคม ชุด “That’s Life” Movies in concert และวันอาทิตย์ที่ 22 พฤศจิกายน ชุด “Art of Impressionist”

รายการพิเศษ : จัดแสดง 3 ครั้ง วันเสาร์ที่ 20 มิถุนายน “ย้อนรอยนาฏยกวี อาจารย์เสรี หวังในธรรม”, วันเสาร์ที่ 15 สิงหาคม รายการศิลปากรคอนเสิร์ต ชุด “Mom’m Spiritual” ในวาระวันแม่แห่งชาติ, วันเสาร์ที่ 17 ตุลาคม การแสดงโขน เรื่องรามเกียรติ์ ชุดศึกพรหมาสตร์

ผอ.ลสิตบอกอีกว่า หลังจากที่มีการทดลองเปิดจองบัตรชมการแสดงผ่านทางอินเทอร์เน็ตเมื่อกลางปีที่แล้ว พบว่ามีผู้เข้าชมมากขึ้น 20-30% ซึ่งจำนวนคนดูที่เพิ่มขึ้นมาจากการจองทางอินเทอร์เน็ตนี้มีนัยสำคัญ คือ เป็นผู้ชมหน้าใหม่ ดังนั้นจึงทำให้ทราบว่า จริง ๆ แล้วนาฏศิลป์ไทยยังมีคนอยากชมอยู่ ถ้ามีการประชาสัมพันธ์ให้ทราบกันในวงกว้างมากขึ้น ผู้ชมก็น่าจะมากขึ้น

สำหรับใครที่สนใจชมการแสดง หรืออยากรู้ข้อมูลเพิ่มเติม เข้าไปดูหรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่เฟซบุ๊ก Performing Arts, Fine Arts Department Thailand