
วันที่ 1 พฤศจิกายน 2560 ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) ลงนามร่วมมือ (MOU) กับวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม และวัดชนะสงครามราชวรมหาวิหาร
นางอัมพวัน พิชาลัย ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ กล่าวว่า ในโอกาสครบรอบ 14 ปี วันสถาปนาศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ หรือ SACICT และก้าวเข้าสู่ปีที่ 15 ตลอดปี 2560 SACICT ให้ความสำคัญต่อการขับเคลื่อนองค์กรสู่การเป็นศูนย์กลางด้านงานหัตถศิลป์ของประเทศไทย และเป็นที่ยอมรับในระดับสากล โดยเน้นการสร้างความแข็งแกร่งให้กับผู้ทำงานหัตถศิลป์ ได้แก่ ครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม ทายาทศิลปหัตถกรรม ผู้สืบสานและต่อยอดภูมิปัญญา ศิลปหัตถกรรมพื้นบ้าน และสมาชิกของ SACICT
- เช็กเงินช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาท เข้าบัญชีวันนี้ 5 จังหวัด
- วิธีเช็กเงินช่วยเหลือชาวนา ไร่ละ 1,000 บาท chongkho.inbaac.com
- EV จีนทุบราคาเลือดสาด ฉางอานท้ารบ-BYD เกทับลดอีกแสน
นางอัมพวัน กล่าวต่อว่า SACICT เห็นความสำคัญของวัด ซึ่งเป็นโบราณสถาน ศูนย์กลางจิตใจของชาวไทย และเป็นแหล่งรวมองค์ความรู้ด้านงานศิลปะหัตถกรรมหลากหลายที่มีมาตั้งแต่อดีต ซึ่งหัตถกรรมบางอย่าง บางประเภท อาจจะสูญหายไปแล้วหรือกำลังจะสูญหาย และวัดยังเป็นสถานที่สะสมงานหัตถกรรมล้ำค่า ในโอกาสที่ SACICT ก้าวเข้าสู่ปีที่ 15 จึงถือโอกาสนี้ลงนามความร่วมมือกับ พระอารามหลวงที่สำคัญ 3 แห่ง ได้แก่ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามวรมหาวิหาร หรือวัดโพธิ์ วัดชนะสงครามราชวรมหาวิหาร และวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม ซึ่งจะนำไปสู่การส่งเสริม แนวคิด เทคนิคการเสริมสร้างชั้นสูงไปพัฒนาสร้างสรรค์ชิ้นงานใหม่ และสืบสานมรดกล้ำค่าในคงอยู่กับสังคมไทยสืบไป ด้วยพลังสนับสนุนจากสมาชิก ผู้ทำงานหัตถศิลป์ พันธมิตร และผู้อุปการะคุณทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติที่อุดหนุนผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการพัฒนาของ SACICT
“SACICT มุ่งมั่นจะก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางองค์ความรู้ด้านงานหัตถศิลป์ระดับประเทศในปี 2562 และเป็นที่รู้จัก ยอมรับในระดับสากล ในปี 2563” นางอัมพวัน กล่าว
ทั้งนี้ ในงานยังมีการปาฐกถาพิเศษเรื่อง “ตามรอยเบื้องพระยุคลบาท” ณ อาคารศาลาพระมิ่งมงคล ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อน้อมรำลึกในมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
นายสุวัฒน์ เทพอารักษ์ อดีตเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพิเศษ เพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 70 ปี ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงช่วยประชาชนมาโดยตลอด โครงงานแรกที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ 2495 พระองค์เสด็จไปที่ วัดห้วยมงคล ต.หินเหล็ก อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งในวันที่เสด็จไปปรากฏว่า รถพระที่นั่งเกิดติดหล่ม เจ้าหน้าที่ ทหาร ชาวบ้าน ช่วยกันเข็นรถพระที่นั่งจนกระทั่งสามารถเดินทางต่อไปได้ หลังจากนั้นพระองค์ทรงคิดว่าที่พระองค์เสด็จยังคงประสบกับความลำบากขนาดนี้ แล้วประชาชนที่อยู่แห่งนั้นจะลำบากขนาดไหน จึงคิดว่าอย่างไรก็ต้องช่วย ท่านจึงให้ ตชด. ไปสร้างถนนเส้นนี้ ปรับปรุงใหม่ให้ดีเพื่อให้ชาวบ้านเดินทางได้สะดวกขึ้น จึงถือว่าเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โครงการแรกในปี 2495 แล้วหลังจากนั้นโครงการต่างๆก็เกิดขึ้นมากมาย
“ที่มาของโครงการต่างๆมาจากปัญหาอย่างแท้จริง พระองค์ประสบเห็นและหาแนวทางแก้ไขปัญหาให้ประชาชนมีวิถีชีวิตที่ดีขึ้น…โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา จะเห็นได้ว่ามีแปลงนา ปลูกข้าว เลี้ยงปู มีโคนม ท่านทำทุกสิ่งทุกอย่าง เพื่อต้องการศึกษา เพื่อนำเอาตัวอย่างที่ดีขยายผลไปสู่ประชาชนได้ใช้ทั่วทั้งประเทศ”นายสุวัฒน์กล่าว และว่า 70 ปีที่ผ่านมา พระองค์ท่านทรงเน้นตลอดว่า ต้องทำเพื่อส่วนร่วม โดยเฉพาะโครงการทั้งหลาย สิ่งที่พระองค์ท่านได้ทำไว้ เป็นสิ่งที่มีคุณค่าที่สุด
ขณะเดียวกัน ในงานยังมีการจัดนิทรรศการและผลงานของศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) ก้าวเข้าสู่ปีที่ 15 “Enhancing to Today Life’s Crafts” นำหัตถศิลป์ไทยสู่ความร่วมสมัยโดยนิทรรศการเกี่ยวกับหัตถศิลป์ไทย เน้นสร้างองค์ความรู้และอนุรักษ์ มีการสืบสานคุณค่าศิลป์หัตถกรรมไทย ร่วมทั้งต่อยอดเพื่อให้ประชาชนกินดีอยู่ดีอย่างยั่งยืน อีกทั้งยังมีการส่งเสริมด้านการตลาด สร้างค่านิยมในงานศิลป์หัตถกรรมไทย ตลอดจนขยายช่องทางการจัดจำหน่ายทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ เพื่อให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
นิทรรศการและผลงานของศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) จัดแสดงตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ณ อาคารศาลาพระมิ่งมงคล ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา