ยูเนสโกขึ้นทะเบียนฟิล์มกระจก-ภาพต้นฉบับ สมัย ร.5-ร.6 เป็น “มรดกความทรงจำแห่งโลก” ปี 60

นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) เปิดเผยว่า ได้รับรายงานว่า องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม แห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก ได้ประกาศรับรองการขึ้นทะเบียนฟิล์มกระจก 35,427 รายการและภาพต้นฉบับ 50,000 ภาพเป็นมรดกความทรงจำแห่งโลก ประจำปี 2560 อย่างเป็นทางการในเว็บไซต์ unesco.org ซึ่งเป็นฟิล์มกระจกและภาพต้นฉบับดังกล่าวได้มีการส่งมอบและเก็บรักษาไว้ที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรมมาอย่างยาวนาน

นายวีระ กล่าวว่า การประกาศขึ้นทะเบียนฟิล์มกระจกและภาพต้นฉบับนั้น เสนอโดยคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยแผนงานความทรงจำแห่งโลก ประเทศไทย และได้รับการบรรจุในทะเบียนเอกสารมรดกความทรงจำแห่งโลกในปี 2560 ประกอบด้วยภาพฟิล์มกระจก 35,427 รายการ และภาพต้นฉบับ 50,000 รายการ โดยเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องและยาวนานตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 ซึ่งรวบรวมจากฟิล์มกระจกของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และกรมพระยาดำรงราชานุภาพที่ทรงถ่ายไว้

เอกสารดังกล่าวสะท้อนถึงหลักฐานสำคัญทางประวัติศาสตร์ทางด้านสังคม วัฒนธรรม การเปลี่ยนแปลงทางเมืองและความสัมพันธ์ด้านต่างประเทศของสยาม โดยแสดงถึงบุคคล สถานที่ และเหตุการณ์ที่มีความสำคัญระดับประเทศและนานาชาติในยุคที่อาณานิคมตะวันตกแพร่ขยายมายังเอเชีย ซึ่งทำให้สยามเลือกที่จะรักษาเอกลักษณ์ของชาติและปฏิรูปประเทศในทุกด้าน ซึ่งนำไปสู่ยุคของการปกครองแบบประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

ทั้งนี้ หอจดหมายเหตุแห่งชาติได้เก็บรักษาเอกสารดังกล่าวมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2520 ปัจจุบันนี้ หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ได้ดำเนินการสแกนจัดเก็บเอกสารดังกล่าวในรูปแบบดิจิทัลไฟล์เพื่ออนุรักษ์ต้นฉบับและให้บริการด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศ

รมว.วธ. กล่าวอีกว่า “มรดกความทรงจำแห่งโลก” นี้ ประเทศเจ้าของมรดกต้องเขียนรายละเอียดตามแบบฟอร์มของยูเนสโกที่ระบุความสำคัญในแง่ของเหตุการณ์บุคคล สถานที่และช่วงเวลา และระบุความเป็นของแท้จริงที่อนุรักษ์ไว้อย่างดี เพื่อเปิดให้ผู้สนใจเข้าศึกษาวิจัยได้ พร้อมภาพถ่ายหรือเทป แต่ละปีมีประเทศเสนอเข้าไปมาก ต้องมีคณะกรรมการกลั่นกรองตรวจสอบและเสนอความเห็นว่าควรขึ้นทะเบียนมรดกระดับนานาชาติหรือไม่ โดยในปี 2560 มีประเทศที่ได้ขึ้นทะเบียนหลายราย เช่น 1.จารึกบนกระดูกที่ใช้เสี่ยงทายของจีนโบราณ 2.หอจดหมายเหตุหลักฐานการอนุรักษ์มรดกโลกโบโรพุทโธ อินโดนีเซีย 3.จารึกบนระฆังของพระเจ้าบุเรงนองแห่งพม่า 4.ฟิล์มกระจกที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่บันทึกภาพอ่าวท่าเรือซิดนีย์ 5.เอกสารเรื่องปันหยีของชวาที่ได้ส่งอิทธิพลต่อวรรณคดีในหลายประเทศ 6.เอกสารเกี่ยวกับชนดั้งเดิมในหลายประเทศที่เสนอต่อสหประชาชาติเก็บรักษาไว้ที่สวิสเซอร์แลนด์ 7.เอกสารจดหมายเหตุที่เขียนด้วยลายมือเกี่ยวกับเชคสเปียร์เสนอโดยอังกฤษและสหรัฐอเมริกา เป็นต้น

นายวีระ กล่าวต่อว่า ได้รับรายงานว่าจากข้อมูลของสำนักเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษาฯ สหประชาชาติ พบว่า เมื่อปี 2535 องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม แห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก ได้ก่อตั้งแผนงานมรดกความทรงจำแห่งโลกขึ้น (The Memory of the World Programme of UNESCO) เพื่อให้ทั่วโลกได้ตระหนักถึงการอนุรักษ์มรดกเอกสาร และเผยแพร่มรดกภูมิปัญญาของโลกที่บันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร หรือสื่อผสม เช่น หนังสือตัวเขียน สิ่งพิมพ์ โสตทัศนวัสดุ ซึ่งเก็บอยู่ ณ ห้องสมุด และหอจดหมายเหตุทั่วโลก ซึ่งถือเป็นแหล่งรวบรวมความคิด และประสบการณ์ที่สะท้อนให้เห็นความหลากหลายของความคิดริเริ่ม และวัฒนธรรมของชนชาติต่าง ๆ ทั่วโลก

ทั้งนี้ สำหรับเอกสารหรือการเสนอขึ้นทะเบียนเป็นความทรงจำแห่งโลก (Memory of the World) นั้นต้องเป็นมรดกเอกสารที่บันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร (Documentary Heritage) เกี่ยวกับมรดกวัฒนธรรมแห่งโลก แสดงให้เห็นวิวัฒนาการของความคิด การค้นพบ และผลงานของสังคมมนุษย์ ซึ่งเป็นมรดกตกทอดจากสังคมในอดีตให้กับสังคมปัจจุบันเพื่อที่จะสืบสานให้แก่สังคมในอนาคต

การประกาศขึ้นทะเบียนฟิล์มกระจกและภาพต้นฉบับครั้งนี้ เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์รายการที่ 5 ของไทยที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากยูเนสโกเป็นมรดกความทรงจำแห่งโลก ก่อนหน้านี้ประเทศไทยได้ขึ้นทะเบียนมรดกความทรงจำแห่งโลกมาแล้ว 4 ชิ้น ได้แก่

1.ศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหง หลักที่ 1 ขึ้นทะเบียนเมื่อปี 2546 เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์สำคัญ ที่บันทึกและประกาศข้อมูลข่าวสารสาธารณะ และนโยบายของรัฐโบราณให้สาธารณชนรับทราบ และมีผลต่อประวัติของโลกนอกพรมแดนวัฒนธรรมของไทย ทำให้เข้าใจความสำคัญของการปกครอง การค้าขาย การติดต่อแลกเปลี่ยนกับชาติต่างๆ ในช่วงเวลาของยุคสุโขทัย มีความสมบูรณ์ในตัวเอง นับเป็นเอกสารสาธารณะที่หาได้ยากยิ่ง

2.เอกสารสำคัญทางประวัติศาสตร์ของรัชกาลที่ 5 ขึ้นทะเบียนปี 2552 เป็นเอกสารเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของสยาม รวมพระอัจริยภาพทุกด้านที่ทรงปรับปรุงเปลี่ยนแปลงส่งเสริมให้สยามอยู่ได้ อย่างสงบประกอบด้วยเอกสารการเลิกทาสและเอกสารอื่นที่แสดงให้เห็นถึงนโยบาย และการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ที่ส่งเสริมให้กรุงสยาม ดำเนินนโยบายต่างประเทศ ที่ทำให้ประเทศสามารถอยู่ในความสงบได้อย่างดี โดยเป็นเอกสารต้นฉบับทั้งหมด 8 แสนหน้า ปัจจุบันจัดเก็บไว้ที่หอสมุดแห่งชาติและหอจดหมายเหตุแห่งชาติ

3.จารึกวัดโพธิ์ ประกาศขึ้นทะเบียนในระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เมื่อปี 2551 และขึ้นทะเบียนในระดับโลกใน ปี 2554 “วัดโพธิ์” หรือ “วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร” ซึ่งจารึกวัดโพธิ์เป็นองค์ความรู้จากปราชญ์ของไทยและสรรพศิลปวิทยาการต่างๆ เช่น ตำราการแพทย์ โบราณคดี และวรรณกรรม โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอนทั้งหลาย ฯลฯ มาจารึกลงบนแผ่นหินอ่อน ประดับไว้ตามบริเวณผนัง-เสาพระระเบียงรอบพระอุโบสถ พระวิหาร พระวิหารคด และศาลารายรอบพระมณฑปภายในวัดและแม้ว่าเวลาผ่านไปกว่า 178 ปี วัดโพธิ์ยังคงเป็นแหล่งเรียนรู้สรรพวิทยา เห็นได้จากความรู้เกี่ยวกับโยคะศาสตร์และตำราการนวดแผนโบราณวัดโพธิ์ เป็นที่รู้จักแพร่หลายออกไปทั่วโลกในปัจจุบัน

4.บันทึกการประชุมของสยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ ขึ้นทะเบียนไว้เมื่อปี พ.ศ.2556 เป็นเอกสารที่มีอายุกว่า 100 ปี ส่วนหนึ่งของบันทึกการประชุมของสยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่มีทั้งหมด 16 เล่ม บันทึกไว้ช่วงระหว่างปี 2447-2547 โดยเอกสารเหล่านี้ เป็นการรวบรวมบันทึกความคิด ความอ่าน หรือการระดมสมองของ สมาชิกสยามสมาคมที่มาจากหลายสาขาอาชีพ มีทั้งพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการระดับสูง ที่ปรึกษาชาวต่างชาติ สะท้อนภาพและมุมมองของสังคมในยุคสมัยนั้น ซึ่งเป็นประโยชน์ในการศึกษาวิจัย และอ้างอิง