เปิดตำนานท้าวหิรัญพนาสูร เทพารักษ์ ขอพรด้านโรคภัยไข้เจ็บ

ท้าวหิรัญพนาสูร 

ย้อนรอยที่มา “ท้าวหิรัญพนาสูร” เทวดาเทพารักษ์ที่หลายคนนับถือขอพรให้สุขภาพแข็งแรง ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ 

หนึ่งในเรื่องราว ท้าวหิรัญพนาสูร ที่ถูกกล่าวขานกันมาอย่างยาวนาน คือ บอกเล่าบันทึกกันหลากหลาย อย่าง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อดีตนายกรัฐมนตรี มีบันทึกไว้ว่า เมื่อปี 2522 สตรีท่านหนึ่งได้รับอุบัติเหตุทางรถยนต์ ขาหักทั้ง 2 ข้าง นอนรักษาตัวอยู่ ณ โรงพยาบาลพระมงกุฎฯ ช่วงหนึ่งเจ็บปวดมาก จนสลบหมดสติได้เห็นชายผู้หนึ่งมายืนที่ข้างเตียง จิตรู้ได้ทันทีว่านั่นคือท้าวหิรัญพนาสูร ด้วยเหตุนี้สตรีท่านนี้จึงได้ยกมือไหว้ ขอให้ท่านช่วยให้หายบาดเจ็บ ไม่นานก็หายเป็นปกติ

อีกกรณีคือ น้องจ่อย-นายบุญมาก คล้ายทอง หรือ น้องจ่อย วัย 20 ปี พร้อมครอบครัว เล่าเรื่องราวเมื่อ 10 ปีก่อน เมื่อเขาอยู่ในวัย 10 ขวบ ที่ตายแล้วฟื้นขึ้นมา พร้อมระบุว่าได้พบกับท้าวหิรัญพนาสูร ที่มีรูปร่างใหญ่ขี่ม้าเข้ามาหาและได้ช่วยชีวิตน้องจ่อยให้ฟื้นกลับมา

ชวนทำความรู้จัก ท้าวหิรัญพนาสูร 

ท้าวหิรัญพนาสูร หรือ ท้าวหิรัญฮู เป็นอสูรที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี และสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ทรงนับถือเป็นเทพารักษ์ประจำพระองค์

เว็บไซต์พระราชวังพญาไท ระบุไว้ว่า ท้าวหิรัญพนาสูร เป็นอสูรผู้มีสัมมาทิฏฐิและสัมมาปฏิบัติ เป็นชายรูปร่างล่ำสันใหญ่โต คอยติดตามป้องกันภยันตรายทั้งปวงให้กับพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มิให้มากล้ำกรายพระองค์และข้าราชบริพารตั้งแต่เมื่อครั้งเสด็จประพาสมณฑลพายัพเมื่อปี 2449

ในครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระมงกฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ได้เสด็จประพาสมณฑลพายัพเมื่อจะออกเดินทางไปในป่า ผู้ที่ตามเสด็จพากันกลัวว่าจะเกิดภยันตรายต่าง ๆ

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงได้ทรงพระกรุณาดำรัสชี้แจงเพื่อให้คลายกังวลว่าเจ้าใหญู่นายโตเมื่อจะเสด็จที่ใดคงจะมีทั้งเทวดาและปีศาจ หรืออสูรอันเป็นสัมมาทิฏฐิคอยติดตามป้องกันภยันตราย มิให้มากล้ำกรายพระองค์และบริพารผู้โดยเสด็จฯ

จากนั้นปรากฏว่า ผู้ที่ตามเสด็จผู้หนึ่ง กล่าวว่า ฝันเห็นชายรูปร่างล่ำสันใหญ่โตแจ้งว่าชี่อ หิรันย์ เป็นอสูรชาวป่า จะมาตามเสด็จ เพื่อคอยดูแลระวังมิให้ภยัน-ตรายทั้งปวงมากล้ำกรายพระองค์และข้าราชบริพาร ครั้นทรงทราบความจึงมีพระราชดำรัสให้จัดธูปเทียน และอาหารไปเซ่นที่ในป่าริมพลับพลา

เวลาเสวยค่ำทุกวัน ได้โปรดเกล้าฯ ให้เเบ่งพระกระยาหารจากเครื่องเสวยไปตั้งเช่นเสมอ หลังจากที่เสด็จประพาสมณฑลพายัพแล้วข้าราชบริพารก็พร้อมกันเชิญหิรันยอสูร ให้ตามเสด็จ เมื่อเสด็จออกจากกรุงเทพฯด้วยเสมอ และโปรดให้เซ่นหิรันยอสูรอย่างเช่นเมี่อครั้งเสด็จมณฑลพายัพเป็นธรรมเนียม ตลอดมา

ครั้นเมื่อเสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติแล้วจึงโปรดเกล้าฯ ให้ช่างหล่อรูปหิรันยอสูรด้วยทองสัมฤทธิ์ และทรงพระราชทานนามใหม่ว่าท้าวหิรันยพนาสูร (สะกดตามลายพระราชหัตถเลขา) มีชฎาเทริดอย่างไทยโบราณ เเละไม้เท้าเป็นเครื่องประดับยศ

แรกนั้นรูปหล่อของท้าวหิรันยพนาสูรนี้สูงประมาณ 20 ซม. มีจำนวน 4 องค์ องค์แรกเดิมประดิษฐานอยู่ข้างพระที่ในห้องพระบรรทม ปัจจุบันอยู่ที่วังรื่นฤดี ซึ่งสมเด็จเจ้าฟ้าเพชรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ยังคงให้มีการถวายเครี่องเซ่นเป็นประจำทุกวัน

องค์ที่ 2 โปรดให้อัญเชิญไว้หน้าหม้อรถยนต์พระที่นั่ง ปัจจุบันอยู่ที่หมวดรถยนต์หลวง โดยอัญเชิญไว้บนหิ้งบูชา

องค์ที่ 3 โปรดให้อัญเชิญไว้ที่กรมมหาดเล็กหลวง ปัจจุบันอยู่ที่พระที่นั่งราชกรัญยสภา ในพระบรมมหาราชวัง และองค์สุดท้ายอยู่ที่บ้านพระยาอนิรุทธเทวา อดีตอธิบดีกรมมหาดเล็กหลวงในสมัยรัชกาลที่ 6

ในปี 2465 เมื่อการสร้างพระราชวังพญาไท สำหรับประทับเป็นการถาวรเสร็จเรียบร้อยแล้ว ได้โปรดเกล้าฯให้ช่างหล่อรูปท้าวหิรันยพนาสูรขนาดใหญ่ด้วยทองสัมฤทธิ์มีชฎาเทริดอย่างไทยโบราณ และไม้เท้าเป็นเครื่องประดับยศ มีพระราชพิธีบวงสรวงขอเชิญท้าวหิรันยพนาสูรเข้าสิงสถิตยนรูปสัมฤทธิ์เมื่อเป็นศาลเทพารักษ์ประจำพระราชวังพญาไทสืบไป

ความหมาย ท้าวหิรัญพนาสูร

  • หิรัญ หมายถึง เงิน สีเงิน หรือบางแห่งแปลความหมายว่า ทอง
  • พนาสูร เป็นคำเชื่อมกันระหว่าง “พนา” ที่แปลว่า “ป่า” กับ “อสูร” สื่อความหมายถึง เทพาสูรผู้เป็นใหญ่แห่งป่า

บทคาถาบูชาท้าวหิรัญพนาสูร

  • จุดธูป 16 ดอก นะโม 3 จบ
  • “ระหินะ ภูมาสี ภะสะติ นิรันตะรัง ลาภะสุขัง ภะวันตุเม” (สวด 9 จบ)

เมื่อท่านสำเร็จผล ควรจะถวายสังฆทานให้ท่านสิ่งที่ควรถวายท่านท้าวหิรัญพนาสูรบายศรีพรหม บายศรีเทพ บายศรีปากชามท่านโปรดขนุนเป็นพิเศษ นอกจากนี้ก็มีมะพร้าวอ่อน 2 ลูกกล้วยน้ำว้า 1 หวี ดาวเรือง 9 พวง สับปะรด