“สยามเจมส์” เปิดโครงการ “สืบสานงานเงิน” ต่อยอดเครื่องเงินไทยสู่ตลาดโลก

หากเอ่ยถึง “เครื่องประดับ” หลายคนคงนึกถึงเครื่องประดับที่ทำจากเพชรนิลจินดาเท่านั้น แต่ใครจะรู้ว่า “เครื่องเงิน” ก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ของตลาดเครื่องประดับที่มีมูลค่าส่งออกถึง 1,700 ล้านดอลลาร์เลยทีเดียว…สยามเจมส์ กรุ๊ป จัดทำโครงการ “สืบสานงานเงิน” เชิญชวนผู้ประกอบการ และช่างฝีมือเครื่องเงินทั่วประเทศ เข้าร่วมโครงการเพื่อพัฒนาทักษะฝีมือ และต่อยอดในการสร้างโอกาสในการขายระดับสากล

ฐวัฒน์ สมมะโนพัฒน์ ผู้อำนวยการการตลาด สยามเจมส์ กรุ๊ป เปิดเผยถึงที่มาของโครงการ “สืบสานงานเงิน” ว่า สยามเจมส์ได้ดำเนินธุรกิจให้บริการและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับจิวเวลรี่มากว่า 56 ปี ทำให้บริษัทมีความเข้าใจในธุรกิจค้าปลีกเครื่องประดับ รวมถึงเข้าใจตลาดผู้บริโภคชาวต่างชาติได้เป็นอย่างดี ผนวกกับต้องการอนุรักษ์ สืบสานศิลปวัฒนธรรมไทย และสามารถสร้างประโยชน์ให้กับสังคมไทยได้จริงจึงเป็นจุดเริ่มต้นของการจัดทำโครงการ “สืบสานงานเงิน” ขึ้น

“สยามเจมส์อาจจะเก่งในเรื่องของการตลาด เพราะเรามีช่องทางการจำหน่าย แต่เราอาจจะไม่เก่งด้านการดีไซน์ เพราะฉะนั้นการต่อยอดก็จะไม่สามารถทำด้วยตัวคนเดียวได้ จึงได้ร่วมมือกับภาครัฐ และหน่วยงานการศึกษา และผู้ประกอบการในท้องถิ่นด้วย”

ส่วนเหตุผลที่เลือกต่อยอดผลิตภัณฑ์ “เครื่องเงิน” นั้น ผู้อำนวยการการตลาดสยามเจมส์ฯ ระบุว่า ผลิตภัณฑ์เครื่องเงินนั้น ยังมีช่องว่างทางการตลาดที่ยังสามารถขายได้ รวมถึงช่างฝีมือของไทยเองก็มีความสามารถไม่แพ้ใคร รวมถึงกับการหยิบยกอัตลักษณ์การทำเครื่องเงินของแต่ละภาคขึ้นมาเชื่อว่าสิ่งนี้จะเป็นจุดขายได้ไม่ยาก

ด้านนายณัฐพล ปฐมกุล ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารสินค้า สยามเจมส์ กรุ๊ป ยังได้กล่าวเสริมว่า ด้วยเครื่องเงินของไทยมีประวัติความเป็นมาที่ยาวนาน ถือว่าเป็นงานศิลปะที่ทรงคุณค่า ต้องใช้ฝีมือ มีความประณีตสูง และ

เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นของไทย ซึ่งแต่ละท้องถิ่นก็จะมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวมาแต่โบราณ สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น เพื่อไม่ให้สิ่งเหล่านี้เลือนหายไป ผนวกกับการออกแบบของช่างฝีมือที่มีการออกแบบแบบร่วมสมัยทำให้สามารถตอบโจทย์ของนักท่องเที่ยวได้มากขึ้น ซึ่งในปัจจุบันทักท่องเที่ยวทั้งชาวจีน ญี่ปุ่น เกาหลี และยุโรปให้ความสนใจผลิตภัณฑ์เครื่องเงินมากขึ้น

“สินค้าเครื่องเงินที่นักท่องเที่ยวชอบนั้นมีอยู่ 2 ประเภท คือของใช้ และเครื่องประดับ ไม่ว่าจะเป็นกำไล ต่างหู โดยของที่เป็นชิ้นเล็กๆ จะได้รับความนิยมมากที่สุด”

ทั้งนี้โครงการ “สืบสานงานเงิน” เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการ และช่างฝีมือเครื่องเงินไทย รายย่อยที่ยังขาดความรู้ด้านการพัฒนาสินค้าและการสร้างแบรนด์ ได้มาเข้าร่วมเสนอผลิตภัณฑ์กับโครงการฯ และเรียนรู้เกี่ยวกับการออกแบบสินค้าที่สอดรับกับความชื่นชอบ และพฤติกรรมการเลือกซื้อสินค้าของนักท่องเที่ยว โดยโครงการฯ จะมีผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาด และการออกแบบพัฒนาผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาไทยสู่เครื่องประดับร่วมสมัย คอยให้คำแนะนำกับผู้ประกอบการที่เข้าร่วม ตลอดทั้งโครงการ รวมถึงการจัดสรรงบประมาณในการพัฒนาสินค้า 50,000 บาทต่อรายอีกด้วย