FDC 2017 โอกาสดีไซเนอร์รุ่นใหม่

อุตสาหกรรมแฟชั่นถือเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจและการจ้างงานของไทยมานาน หลายภาคส่วนทั้งภาครัฐและภาคเอกชนจึงส่งเสริมผลักดันอุตสาหกรรมแฟชั่นมาโดย ตลอด

เมื่อเร็ว ๆ นี้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมจัดโครงการสร้างนักออกแบบอุตสาหกรรมแฟชั่น “Fashion Designer Creation 2017″หรือ “FDC 2017” เพื่อพัฒนาศักยภาพนักออกแบบ และเฟ้นหานักออกแบบ 3 สาขา คือ สาขาสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม สาขาเครื่องหนังและรองเท้า สาขาอัญมณีและเครื่องประดับ โดยมีผู้เชี่ยวชาญงานออกแบบแฟชั่น 3 คน ได้แก่ มิลิน ยุวจรัสกุล

เจ้าของแบรนด์เสื้อผ้า มิลิน พัชรพิมล ยังประภากร เจ้าของแบรนด์เครื่องหนัง S?uvimol และภิรดา เสนีวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสร้างสรรค์ แบรนด์อัญมณีและเครื่องประดับ Trimode มาถ่ายทอดความรู้และให้คะแนนคัดเลือกผู้ชนะ

พรเทพ การศัพท์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า แนวทางในการพัฒนาอุตสาหกรรมแฟชั่นไทยคือการส่งเสริมและสนับสนุนบุคลากรด้าน การออกแบบให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่มีเอกลักษณ์ โดดเด่น มีความแตกต่างและน่าสนใจ เพื่อให้ออกสู่ตลาดในภูมิภาคและตลาดโลก กรมจึงจัดโครงการนี้เพราะเห็นความสำคัญว่าจะช่วยสร้างและพัฒนาศักยภาพด้าน การออกแบบสินค้าแฟชั่นให้แก่นักออกแบบและผู้ประกอบการกิจการเล็ก ๆ ที่ไม่สามารถจ้างนักออกแบบประจำโรงงานได้

พัชรพิมล ยังประภากร หนึ่งในกรรมการบอกว่า ชิ้นงานของผู้เข้าแข่งขันโดดเด่นกันคนละมุม เนื่องจากมีโจทย์ที่ตั้งไว้ก่อนลงมือ ยกตัวอย่างผลงานของผู้ชนะเลิศในสาขาสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เป็นชิ้นงานที่แตกต่าง ดีไซน์เรียบหรู ทุกคนใส่ได้ สามารถขายได้จริง

พัชรพิมลอธิบายว่า เกณฑ์การตัดสินของกิจกรรมครั้งนี้มีองค์ประกอบ 5-6 ข้อ เช่น ความโดดเด่นด้านการดีไซน์ การใช้วัสดุตัดเย็บที่ต้องเป็นของในท้องถิ่น และฝีมือการตัดเย็บที่ต้องประณีต เป็นต้น ซึ่งการตัดสินในแต่ละสาขาจะใช้เกณฑ์รูปแบบเดียวกัน

สำหรับผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศสาขาเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ได้แก่ พีรดนย์ ก้อนทอง หนุ่มวัย 24 ปี ที่บอกว่าหลังจบกิจกรรมนี้เขามีแผนจะต่อยอดสร้างแบรนด์ ซึ่งน่าจะเห็นภาพชัดเจนช่วงต้นปีหน้า และเขายังได้รับข่าวดีจากผู้จัดงานว่าห้างที่สิงคโปร์สนใจให้นำแบรนด์ของเขา ไปฝากขาย

สาขาเครื่องหนังและรองเท้าตกเป็นของ สัมฤทธิ์ ชูกลิ่น ที่ออกแบบกระเป๋าอเนกประสงค์ในธีมภูเขาไฟระเบิด โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นคนปั่นจักรยาน สัมฤทธิ์บอกว่า เขามีแผนจะทำธุรกิจการสร้างแบรนด์อยู่แล้ว แต่ยังติดอยู่ในเรื่องเงินทุน

ส่วนผู้ชนะสาขาอัญมณีและเครื่องประดับคือ ศิริณา เมืองมูล น้องใหม่วัย 21 ปีที่กำลังเรียนมหาวิทยาลัยชั้นปีที่ 3 เธอออกแบบเครื่องประดับแนวออร์แกนิก ลวดลายคงคอนเซ็ปต์กราฟิตี้ในธีมทะเล ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากพิกเซลเล็กที่นำมาต่อกัน สาวน้อยคนนี้บอกว่าตอนแรกยังไม่ได้คิดเรื่องการสร้างแบรนด์ คิดแค่ว่าประกวดเพื่อหาประสบการณ์ แต่พออยู่ในโครงการนี้ไปเรื่อย ๆ ก็ฝันอยากมีแบรนด์ของตัวเอง

การเข้าแข่งขันในกิจกรรมหรือโครงการ ต่าง ๆ นอกจากเป็นการเพิ่มประสบการณ์แล้วก็ยังเป็นโอกาสที่จะได้รับการสนับสนุนให้ ก้าวเข้าสู่วงการ หรือสามารถสร้างแบรนด์ของตัวเองได้ง่ายขึ้น ใครอยากมีแบรนด์ของตัวเอง ฝึกไอเดียและฝีมือไว้รอแข่งขันครั้งต่อไปได้เลย