“ยันต์” จากความเชื่อไทย ๆ สู่แผ่นแปะแก้ปวดลวดลายสนุก-สวยงาม

แผ่นกระดาษหกสีมีลายยันต์ที่วางอยู่บนเชลฟ์ในไอคอนคราฟต์ (ICONCRAFT) คงจะดึงดูดสายตาผู้ที่เดินในโซนนั้นให้เดินเข้าไปดูใกล้ ๆ ว่าโปรดักต์สีจัดจ้านที่เห็นนั้นคืออะไร เมื่อเข้าไปแล้วจะพบว่ามันคือแผ่นแปะแก้ปวด ชื่อแบรนด์ “ยันต์” เขียนภาษาอังกฤษว่า “YANTR”

แผ่นแปะแบรนด์ยันต์ เป็นการเจอกันของความเชื่อแบบไทย ๆ กับยาสมุนไพรไทย เกิดเป็นโปรดักต์ที่มีแคแร็กเตอร์สนุกสนาน เช่นกันกับสตอรี่ความเป็นมาที่สนุกสนานน่าสนใจมาก

พริษฐ์ดล อัครสิทธิหิรัญ หรือ เอ็ม ผู้ก่อตั้งและเจ้าของไอเดียเล่าความเป็นมาว่า ก่อนหน้าจะทำแบรนด์ยันต์ เขาทำผลิตภัณฑ์บำรุงผมแก้ปัญหาผมร่วงและสกินแคร์ที่แปรรูปจากข้าวหอมมะลิ ชื่อแบรนด์มินดารา ระหว่างทำแบรนด์นั้น เขาคิดอยากทำสินค้าที่ขายนักท่องเที่ยวได้ เขามองว่าสินค้าแบรนด์เดิมเป็นโปรดักต์ที่แก้ปัญหาเฉพาะบุคคล ไม่ใช่ของที่เหมาะจะซื้อฝากคนอื่น จึงไม่ได้ลูกค้ากลุ่มนักท่องเที่ยว

วันหนึ่งขณะกินข้าวอยู่กับเพื่อน ๆ เขาปิ๊งไอเดียว่าอยากเอาเรื่องความเชื่อของคนไทยมานำเสนอในโปรดักต์ แล้วก็รีบจดไอเดียลงบนกระดาษรองจานบนโต๊ะอาหาร ความคิดพรั่งพรูมากมายจนต้องใช้กระดาษรองจาน 5-6 แผ่น ไอเดียที่เกิดขึ้นในตอนนั้นมีหลายอย่างที่เป็นความเชื่อแบบไทย แต่มาสรุปลงตัวที่ลายสักยันต์ ซึ่งเขารู้สึกว่ารีเลตกับตัวเอง เพราะก่อนหน้านั้นเคยบวชเป็นพระอยู่เป็นเวลาปีครึ่ง

เมื่อได้ไอเดียว่าจะนำเสนอเรื่องยันต์แล้วเขาไปสำรวจตลาด โดยไปเดินที่คิง เพาเวอร์ แอบดูนักท่องเที่ยวจีนซื้อของ ถึงขนาดแอบถ่ายรูปตระกร้าที่นักท่องเที่ยวถือเลยทีเดียว

จากการสำรวจเขาพบว่านักท่องเที่ยวจีนนิยมซื้อของที่ไม่แพง เช่น แผ่นแปะแก้ปวด น้ำมันมวย น้ำมันนวด “พูดโดยส่วนตัวคือ อะไรที่เราเห็นว่าสวย ดูดี ดูแพง เขาจะไม่จับ ส่วนอันที่เขาเลือกก็เป็นสิ่งที่เราไม่เลือก คนจีนชอบซื้ออะไรที่โป๊งชึ่ง พูดภาษาเราคือลิเก ๆ หน่อย”

เขาเอาความสงสัยไปถามน้องที่เคยใช้ชีวิตอยู่ที่จีนหลายปีว่า ทำไมคนจีนชอบซื้อของแบบนี้ ได้คำตอบว่า คนจีนไม่ค่อยกล้าหยิบของราคาแพง เพราะหยิบมาแล้วต้องซื้อ ถ้าไม่ซื้อจะรู้สึกว่าเสียหน้า ฉะนั้นจะหยิบของที่มั่นใจว่าซื้อได้ พอได้คำตอบแล้วเขาก็คิดได้ว่าจะทำแผ่นแปะแก้ปวดลายยันต์

จากนั้นก็บรีฟคนออกแบบว่าอยากได้สีสันคัลเลอร์ฟูล และให้พระอาจารย์นพวรรณ ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งมีชื่อเสียงด้านการสักยันต์วาดลวดลายให้ ซึ่งทั้ง 6 ลายนั้นมีแคแร็กเตอร์มีความหมายเฉพาะตัว อย่างลายโพชฌังคปริตร เป็นลายรักษาโรค เขียนจากบทสวดที่พระอานนท์รักษาพระพุทธเจ้า, ลายชาตรี เป็นแคแร็กเตอร์ผู้ชายมีเสน่ห์ ช่วยเหลือผู้อื่น, ลายมณีเสน่ห์ เป็นแคแร็กเตอร์ผู้หญิงที่มีเสน่ห์

เมื่อด้านดีไซน์ลงตัวแล้ว ต้องคิดด้านฟังก์ชั่นการใช้งานคือหาเจลและตัวยาแก้ปวด ด้วยความตั้งใจอยากให้เป็นธรรมชาติจึงต้องหาสิ่งที่จะมาแทนเจลเคมี ซึ่งหลายคนใช้แล้วแพ้ เขาเอาไอเดียไปปรึกษา ศ.ดร.ภญ.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ ที่คณะเภสัชฯ จุฬาฯ อาจารย์ได้แนะนำแหล่งค้นงานวิจัย จากนั้นเขาไปค้นแล้วพบงานวิจัยที่บอกว่าเมือกเม็ดแมงลักมีคุณสมบัติใกล้เคียงกับเจลเคมีสามารถใช้แทนกันได้ จึงเลือกเม็ดแมงลักมาทำเจล

ส่วนตัวยาที่จะบำบัดอาการปวด เขานึกถึงลูกประคบในเวลาทำสปา เขาจึงไปดูว่าสมุนไพรในลูกประคบมีอะไรบ้าง แล้วให้อาจารย์ช่วยเอาส่วนประกอบต่าง ๆ ไปประกอบร่างให้ ออกมาเป็นโปรดักต์ต้นแบบ แล้วจ้างแล็บเล็ก ๆ ผลิต

จากตอนที่เริ่มคิดเมื่อประมาณเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว สำเร็จออกมาเป็นโปรดักต์ในเดือนตุลาคม ระหว่างพัฒนาโปรดักต์เขาเข้าอบรมกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม โปรดักต์นี้ได้รับรางวัล Design Excellence Award 2018 จากกรม แล้วได้รับโอกาสไปออกงานแฟร์ที่ชิคาโก สหรัฐอเมริกา ซึ่งในงานนั้นโปรดักต์ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก และจากนั้นก็ได้รับคำเชิญชวนให้นำสินค้ามาวางขายในไอคอนคราฟต์ ซึ่งเป็นโซนนำเสนองานคราฟต์และภูมิปัญญาไทยในไอคอนสยาม

หลังจากที่วางขายตั้งแต่ไอคอนสยามเปิดในเดือนพฤศจิกายนมาถึงปัจจุบัน เจ้าของแบรนด์บอกว่าผลตอบรับดีน่าพอใจ

ตอนนี้เขากำลังคิดต่อยอดทำผลิตภัณฑ์แปะแก้ปวดประจำเดือนสำหรับผู้หญิง เพราะเหตุผลส่วนตัวคือเขาอยากดูแลผู้หญิง เนื่องจากเห็นว่าผู้หญิงรอบตัว ทั้งแม่ น้องสาว แฟน เวลาเป็นประจำเดือนนั้นปวดท้องทรมานมากแบบที่ผู้ชายไม่มีทางเข้าใจ บวกกับเขาคิดว่า คนที่ซื้อแผ่นแปะยันต์ อาจจะซื้อเพราะความสวยงามและความสนุกของดีไซน์โดยที่ไม่ได้เชื่อว่ายาตัวนี้ดี แต่ตัวเขามั่นใจว่ายาตัวนี้ดี เขาจึงอยากโชว์สรรพคุณของมันอย่างเต็มที่โดยการทำโปรดักต์ที่ขายสรรพคุณของยาจริง ๆ