T-ra คัมแบ็กในรอบ 7 ปี พร้อมดันแบรนด์ท้องถิ่นเข้า ICONCRAFT

ต่าย-ธีระ ฉันทสวัสดิ์ หรือ “อาจารย์ต่าย” แฟชั่นดีไซเนอร์ผู้สร้างชื่อเสียงให้กับวงการแฟชั่นไทย ห่างหายจากการออกผลงานใหม่นาน 7 ปี ได้ตอบรับคำชวนของ ICONCRAFT ของ ICONSIAM กลับมารังสรรค์ผลงานคอลเล็กชั่นใหม่ชื่อ “New Romantic” ที่ดีไซน์พิเศษสำหรับ ICONCRAFT โดยเฉพาะ

คอลเล็กชั่นนี้รังสรรค์จากผ้าไหมทอมือย้อมสีธรรมชาติฝีมือสุดประณีตของเหล่าช่างทอผู้เชี่ยวชาญแห่งแดนอีสาน ที่ผ่านการตีความในบริบทใหม่ให้โดดเด่นด้วยแรงบันดาลใจจากยุค 60s พร้อมเทคนิคการเดรปอันซับซ้อนแต่ดูเรียบโก้ อันเป็นซิกเนเจอร์ของแบรนด์ T-ra ในรูปทรงโคร่ง ๆ และการจับคู่สีที่งดงามอย่างลงตัว บวกกับลายพิมพ์สไตล์ ecoprint เทคนิคการพิมพ์ลายผ้าโดยใช้วัสดุธรรมชาติเป็นแม่พิมพ์ บวกนวัตกรรมการ fix สีให้ได้สีธรรมชาติที่สดใสกว่า ecoprint แบบทั่วไป ซึ่งในกระบวนการพิมพ์ลายผ้านั้น อาจารย์ต่ายลงมือพิมพ์ลายร่วมกับชาวบ้านด้วย

นอกจากผลงานของตัวเองแล้ว อาจารย์ต่ายยังผลักดันลูกศิษย์จากหลากหลายชุมชนพัฒนาสร้างสรรค์ผลงานอันเป็นเอกลักษณ์ จนได้มาอวดโฉมที่ ICONCRAFT เช่นกัน อย่าง Jutatip แบรนด์ผ้าฝ้ายทอมือจากขอนแก่นที่กำลังเป็นที่นิยมในหมู่ชาวญี่ปุ่น, Nine Chaidee ผ้าฝ้ายทอมือและงานปักผ้าสุดประณีตจากเชียงใหม่, Nidda ผ้าไหมมัดหมี่เก๋ ๆ จากขอนแก่น เป็นต้น

ความทุ่มเทของอาจารย์ต่าย เริ่มตั้งแต่เสาะหาแหล่งผ้าทอมือ ลงพื้นที่ไปพูดคุยให้ความรู้ ศึกษาและดึงจุดเด่นของแต่ละท้องถิ่นออกมาพัฒนาให้เกิดชิ้นงานฝีมือที่ร่วมสมัยและตรงกับความต้องการของตลาด ให้คำแนะนำเรื่องโทนสี สอนเทคนิคการย้อม การทอ การออกแบบลาย ทดลองเทคนิคใหม่ ๆ

และมีการประเมินเทรนด์ที่ไม่ได้อิงแต่กับเทรนด์โลก แต่ประเมินบริบทของสังคม วัฒนธรรม และเศรษฐกิจของปลายทาง รวมถึงแนะนำการประเมินต้นทุน ราคาขาย จนถึงปลูกฝังแนวคิดและทัศนคติในการทำงานไปพร้อม ๆ กัน ซึ่งความพยายามทั้งหมดนี้ช่วยพัฒนาผ้าไทยให้โกอินเตอร์ได้อย่างแท้จริง

สิ่งที่อาจารย์ต่ายทำก่อให้เกิด “ช้างเผือก” ของวงการผ้าไทยมากมาย ฟื้นฟูชุมชนทอผ้าให้เติบโตอย่างแข็งแกร่ง สร้างรายได้และพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน สามารถสร้างสรรค์ผลงานผ้าทอมือร่วมสมัยที่เป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดญี่ปุ่นและมิลาน

สร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศไทยเป็นอย่างมาก ขณะเดียวกันก็เป็นการช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนให้ดีขึ้น มีหลายครอบครัวที่ลูกหลานกลับไปสืบสานกิจการครอบครัว กลับไปเห็นคุณค่าของกี่ หูก และภูมิปัญญาท้องถิ่น ครอบครัวได้อยู่กันพร้อมหน้า