ผลักดันผ้าบาติกชายแดนใต้ สู่โลกแฟชั่นเครื่องแต่งกายร่วมสมัย

ผ้าท้องถิ่นมีอัตลักษณ์และมีเสน่ห์ของตัวเอง แต่ความมีเสน่ห์แบบท้องถิ่นก็เป็นได้ทั้งจุดเด่นและจุดด้อยในเวลาเดียวกัน จุดเด่นก็ชัดเจนอยู่แล้วคือ บ่งบอกตัวตนความเป็นท้องถิ่นนั้น ๆ อย่างชัดเจน ส่วนจุดด้อยคือ ความเป็นท้องถิ่นมาก ๆ นั้นให้ความรู้สึก “ไม่สากล” นั่นทำให้ผ้าไทยไม่ได้ถูกนำมาใช้ในชีวิตประจำวันมากนัก

ที่ผ่านมา ทั้งภาครัฐและมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ พยายามผลักดันอย่างมากที่จะให้ผ้าท้องถิ่นถูกนำไปใช้อย่างร่วมสมัยในชีวิตประจำวันของคนทั่วไป โดยเฉพาะกลุ่มคนเมือง แต่ก็ไม่ง่ายเลย

ล่าสุดกระทรวงวัฒนธรรม โดยสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ร่วมกับแฟชั่นดีไซเนอร์และนักออกแบบผลิตภัณฑ์ เปิดตัวผลงานออกแบบเครื่องแต่งกายและผลิตภัณฑ์จากผ้าไทยที่สร้างสรรค์ขึ้นภายใต้โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์และออกแบบลายผ้าไทยร่วมสมัยชายแดนใต้ (Contemporary Southern Batik by OCAC) ซึ่งจัดทำโครงการขึ้นเพื่อต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่นผ่านกระบวนการคิดสร้างสรรค์ มุ่งยกระดับผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาสู่ระดับสากล โดยมี 15 กลุ่มผู้ประกอบการผ้าบาติกจากจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา (จะนะ เทพา นาทวี สะบ้าย้อย) เข้าร่วมโครงการ

แฟชั่นดีไซเนอร์ชาวไทยที่เข้าร่วมโครงการนี้ ได้แก่ เอก ทองประเสริฐ ธีระ ฉันทสวัสดิ์ ศรันรัตน์ พรรจิรเจริญ ส่วนนักออกแบบผลิตภัณฑ์ที่เข้าร่วมโครงการ ได้แก่ หิรัญกฤษฎิ์ ภัทรพิบูลย์กุล ทรงวุฒิ ทองทั่ว และปฏิพัทธ์ ชัยวิเทศ นอกจากนี้ยังมีแฟชั่นดีไซเนอร์และนักออกแบบผลิตภัณฑ์จากประเทศเพื่อนบ้านด้วย คือ เอริค ชุง จากมาเลเซีย เอ็ดวิน อาว จากฟิลิปปินส์ แดเนียล ซู จากมาเลเซีย และโนนิตา เรสปาตี จากอินโดนีเซีย

การทำงานของโครงการนี้ ดีไซเนอร์จะลงพื้นที่ไปดูผ้าของกลุ่มผู้ผลิตผ้าที่เข้าร่วมโครงการเพื่อให้เห็นศักยภาพ สไตล์ และความถนัดของแต่ละกลุ่ม จากนั้นกลับมาออกแบบชิ้นงานและลายผ้า แล้วนำลวดลายที่ออกแบบไปให้กลุ่มผู้ผลิตผ้าผลิตตามโจทย์ พร้อมทั้งให้คำแนะนำด้านเทคนิคต่าง ๆ เป็นการพัฒนากระบวนการสร้างสรรค์ลายผ้าร่วมกัน เมื่อได้ผ้าตามต้องการแล้วดีไซเนอร์จึงนำผ้ามาเข้าสู่กระบวนการตัดเย็บและสร้างสรรค์โปรดักต์ ออกมาเป็นผลงานเสื้อผ้า 51 ชุด และผลิตภัณฑ์ 36 ชิ้น

ปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า ผ้าไทย เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่สำคัญของชาติที่มีเรื่องเล่า อัตลักษณ์ความเป็นไทย แต่ละลวดลายของผ้าไทยล้วนมีศิลปะของแต่ละท้องถิ่น ซึ่งกระทรวงวัฒนธรรมได้ตระหนักถึงความสำคัญและมีโครงการเกี่ยวกับผ้ามาโดยตลอด เมื่อรัฐบาลมีแผนยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ กระทรวงวัฒนธรรมจึงมีแนวคิดจะใช้ผ้าอันเป็นมรดกทางภูมิปัญญาของจังหวัดชายแดนภาคใต้มาเป็นตัวขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาในมิติของงานศิลปะและวัฒนธรรม

ในมุมมองของ เอก ทองประเสริฐ แฟชั่นดีไซเนอร์ชื่อดังที่เข้าร่วมโครงการมองว่า ผ้าท้องถิ่นชายแดนภาคใต้ มีความเรียบง่ายมากที่สุดเมื่อเทียบกับผ้าท้องถิ่นทั่วประเทศ และไม่มีปัจจัยทางวัฒนธรรมที่ลึกซึ้ง สิ่งที่สื่อออกมาในผ้าคือความไร้เดียงสาที่น่าสนใจ อีกทั้งเป็นผ้าที่ไม่แสดงถึงความเก่า ลายผ้าส่วนใหญ่เป็นลายสมัยใหม่ แต่การจะนำผ้ามาดีไซน์ชุดก็ต้องปรับหลายอย่างให้เขากับบริบทของตลาด โดยเฉพาะกับความต้องการของสังคมเมืองที่ถือว่าเป็นตลาดใหญ่ของประเทศ

แม้ว่าจะเป็นลวดลายทันสมัย ไม่มีความเป็น traditional มากอย่างภาคอื่น แต่ผ้าบาติกมีข้อจำกัดคือเป็นผ้าที่ให้ความรู้สึกถึงการไปทะเลมากเกินไป ทำให้โอกาสในการสวมใส่จำกัดอยู่ที่การใส่ไปทะเล ยังไม่เข้าถึงชีวิตประจำวันของคน ดังนั้นในการลงพื้นที่ไปพัฒนาลายผ้าร่วมกับกลุ่มผู้ผลิตผ้าจึงมีเรื่องนี้เป็นหนึ่งโจทย์สำคัญ ซึ่งดีไซเนอร์แต่ละคนก็ลงไปพร้อมลวดลายที่ต้องการ

ในส่วนการดีไซน์ชิ้นงาน คอนเซ็ปต์ที่เอกนำเสนอ คือ อยากสร้างวิชั่นในการทำผ้าบาติกให้เป็น work wear สามารถสวมใส่ไปออกงานได้ ใส่ไปปาร์ตี้ได้ ใส่ทำงานได้ ใส่ขึ้นรถไฟฟ้าได้ ใส่ในเมืองได้โดยไม่รู้สึกเคอะเขิน ทำให้ผ้าท้องถิ่นเข้ามาอยู่ในความต้องการของคนเมือง

“โดยปกติเวลาที่เขาเอาผ้าพื้นถิ่นมาใช้ สิ่งที่อยากสื่อออกไปคือ จะทำอย่างไรให้ผ้าเหล่านี้เข้ามาอยู่ในความต้องการของคนเมือง ถ้าไม่สามารถสร้างความต้องการได้ เวลาทำออกมาก็ไม่มีตลาดรองรับ ผมอยากทำให้ผ้าเหล่านี้กลับเข้าสู่ความสนใจของคนรุ่นใหม่ให้ได้มากที่สุด ฉะนั้นผมพยายามใช้โครงสร้างที่สมัยใหม่มาก ๆ จะไม่ใช้โครงสร้างชุดที่ชินตา อย่างเช่นเอาผ้าไหมไปทำชุดราตรี หรือชุดออกงานเท่านั้น”

ถามว่าผ้าชายแดนภาคใต้มีศักยภาพที่จะมาอยู่ในแวดวงแฟชั่นจริง ๆ หรือไม่ ดีไซเนอร์ชื่อดังบอกว่า ขึ้นอยู่กับหลายภาคส่วน ผู้ประกอบการทำผ้าต้องเปิดใจรับสิ่งใหม่ ๆ อย่างการพัฒนาลาย พัฒนาสี เพราะในปัจจุบันผู้ผลิตผ้านิยมทำสีฉูดฉาด ซึ่งยากที่จะสวมใส่ในชีวิตประจำวัน และอีกอย่างหนึ่งที่ยากคือติดเรื่อง perception ของคนในสังคมที่มองว่าผ้าปาเต๊ะเป็นผ้าของคนใช้แรงงาน เพราะเป็นผ้าราคาถูก คนทำงานออฟฟิศหรือคนที่มีตังค์จึงไม่อยากนำมาใช้ ฉะนั้นต้องปรับความเข้าใจของคนในปัจจุบันว่า ผ้าบาติกหรือผ้าปาเต๊ะสามารถใช้ได้หลายโอกาส ใช้ได้กับคนหลาย ๆ สังคม

ส่วน ธีระ ฉันทสวัสดิ์ บอกว่า เสน่ห์ของผ้าชายแดนภาคใต้คือ การทำบาติก การวาดลวดลาย การลงสี ซึ่งอยู่ที่แคแร็กเตอร์ของคนทำว่ามีเส้นสายในการวาดอย่างไร ส่วนการจะนำมาปรับแต่งดีไซน์ให้ใช้ได้ในชีวิตประจำวันให้มีความร่วมสมัยนั้น ขึ้นอยู่กับสไตล์และแคแร็กเตอร์ของดีไซเนอร์แต่ละคนที่จะดึงเอาผ้ามาดีไซน์ให้เป็นแบบไหน
อย่างตัวเขาเองชอบทำเสื้อผ้าออกงานกลางคืนที่ไม่ทางการมาก ก็จะใส่แคแร็กเตอร์ของตัวเองด้วยการทำเดรปปิ้ง คือการทำแพตเทิร์นประหลาด ๆ ให้ออกมาเป็นเสื้อผ้าที่ร่วมสมัย

ในด้านศักยภาพและโอกาสของผ้าชายแดนภาคใต้ที่จะเข้าสู่อุตสาหกรรมแฟชั่นจริง ๆ ธีระบอกว่า ในเรื่องคุณภาพและฝีมือในการผลิตผ้าไม่มีอะไรต้องห่วง เพราะคนไทยฝีมือดีมาก หลายกลุ่มทำผ้าส่งออกไปญี่ปุ่นอยู่แล้ว แต่ติดข้อจำกัดที่กำลังการผลิตไม่มากพอต่อความต้องการผ้าจำนวนมาก ๆ


โครงการนี้จะผลักดันให้ผ้าท้องถิ่นชายแดนภาคใต้เข้ามาอยู่ในความสนใจของคนเมืองได้หรือไม่ ก็ต้องให้คนเมืองได้เห็นชิ้นงานซะก่อนว่าดูดีมีสไตล์น่าสวมใส่-น่าใช้มากน้อยขนาดไหน ดังนั้นชิ้นงานทั้งหมดจากโครงการนี้จะถูกนำมาจัดแสดงในนิทรรศการแสดงผลงานการออกแบบผลิตภัณฑ์จากลายผ้าไทยร่วมสมัยชายแดนใต้ระหว่างวันที่ 29 สิงหาคม-1 กันยายน 2562 และมีการแสดงแบบแฟชั่นโชว์ในงาน ELLE Fashion Week 2019 ในวันอาทิตย์ที่ 1 กันยายน 2562 เวลา 13.30 น. ณ ลานหน้าศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์กรุงเทพมหานคร หากใครสนใจสามารถไปชมในงานได้เลย