Darkest Hour พลิกโลกด้วยวาทศิลป์

Darkest Hour ชั่วโมงพลิกโลกภาพยนตร์ดราม่า ผลงานผู้กำกับ โจ ไรต์ (Joe Wright) เขียนบทโดย แอนโทนี่ แม็กคาร์เทน (Anthony McCarten) นำแสดงโดย แกรี่ โอลด์แมน (Gary Oldman) ที่เพิ่งคว้ารางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยมจากเวทีลูกโลกทองคำ 2018 มาหมาด ๆ

Darkest Hour เป็นเรื่องราวของ วินสตันเชอร์ชิลล์ (Winston Churchill) นายกรัฐมนตรีผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์อังกฤษ นำเสนอช่วงเวลาหนึ่งเดือนแรกที่เชอร์ชิลล์

รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีใน ช่วงเวลาอันมืดมิดของอังกฤษและยุโรป เพราะเกือบทั้งแผ่นทวีปยุโรปเป็นสมรภูมิสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศฝ่ายสัมพันธมิตรกำลังพ่ายแพ้เยอรมนี และกองทัพนาซีของฮิตเลอร์กำลังจะบุกเกาะอังกฤษ

เชอร์ชิลล์เจอทั้งศึก นอกคือสงครามโลก และศึกภายในพรรคของเขาเอง เนื่องจากเขาไม่ใช่คนที่สมาชิกพรรคสนับสนุน แต่ได้ขึ้นมารับตำแหน่งนายกฯ เพราะดันเป็นคนเดียวในพรรคที่ ส.ส.นอกพรรคยอมรับภารกิจแรกของเชอร์ชิลล์คือประกาศว่าจะหาทางออกของวิกฤตสงครามนี้อย่างไร

ปีที่แล้วหนังเรื่อง Dunkirk ของผู้กำกับคริสโตเฟอร์ โนแลน นำเสนอเรื่องราวชีวิตของกองทัพทหารที่ชายหาดดันเคิร์ก ประเทศฝรั่งเศส ส่วน Darkest Hour เป็นการนำเสนออีกด้านหนึ่งของสถานการณ์ที่จะทำให้เห็นว่า บนเกาะอังกฤษในช่วงเวลาอันมืดมิด เชอร์ชิลล์ต้องต่อสู้หนักขนาดไหนเพื่อช่วยชีวิตทหาร 300,000 นาย และหาหนทางให้อังกฤษไม่ต้องเป็นผู้แพ้สงคราม

ขณะที่ทุกคนในคณะรัฐมนตรีสงครามกำลังยอมรับชะตากรรมความพ่ายแพ้ อยากเจรจายุติสงครามกับเยอรมนี เชอร์ชิลล์เป็นคนเดียวที่ยืนกรานว่า “ไม่” เขาจึงใช้คำพูดจุดไฟและหาหนทางต่อสู้ แม้ทุกคนจะบอกว่าเขาหลอกตัวเอง

เราเคยได้ยินกันมาว่า “การกระทำเสียงดังกว่าคำพูด” แต่ Darkest Hour ทำให้เห็นว่า วินสตัน เชอร์ชิลล์ ใช้คำพูดผลักดันให้เกิด

การกระทำซึ่งกลายเป็นวีรกรรมอันยิ่งใหญ่ และการยืนกรานของเขาก็นำมาซึ่งชัยชนะ อย่างที่ถูกเขียนไว้ในประวัติศาสตร์

“เขาใช้คำพูดเป็นอาวุธ แล้วส่งมันออกไปรบ”

เนวิลล์ เชมเบอร์เลน อริร่วมพรรคกล่าวและจำใจยอมรับแนวทางของเชอร์ชิลล์

แม้จะเป็นหนังที่มีตัวละครเยอะ แต่ก็พูดได้ว่า Darkest Hour เป็นหนังแบบ “การแสดงเดี่ยว” ของแกรี่ โอลด์แมน เขาถ่ายทอดตัวตนของวินสตัน เชอร์ชิลล์ ออกมาอย่างทรงพลังจนน่าทึ่ง ในหนังหลายเรื่องที่มีตัวละครเพียงตัวเด่นตัวเดียว ที่เหลือเป็นตัวประกอบที่ไม่ค่อยมีบทบาท ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ตัวละครนั้นจะโดดเด่นแบบฉายเดี่ยว แต่ในเรื่องนี้แกรี่ โอลด์แมนโดดเด่นท่ามกลางตัวละครอื่น ๆ ที่มีบทบาทในเรื่องพอสมควรและฝีมือการแสดงไม่มีใครด้อย

ด้วยความที่ในชีวิตจริง วินสตัน เชอร์ชิลล์ เป็นนักการเมืองที่เคยเป็นทหาร และเขียนหนังสือ เขียนบทกวี ฉะนั้นเขามีทั้งความเข้มแข็ง แข็งกร้าว มีความขึงขังดุดันแบบทหาร แต่ก็มีวาทศิลป์แบบนักเขียนที่ดึงดูดให้คนคล้อยตาม และมีความอารมณ์ดี (เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย) แบบศิลปิน ด้วยคุณสมบัติเหล่านี้ของเชอร์ชิลล์ ทำให้หนังเรื่องนี้มีจุดเด่นอีกอย่างหนึ่งคือบทสนทนา

โดยเฉพาะจากตัวละครเชอร์ชิลล์เอง ที่เอ่ยคำพูดชวนคิดและคมคายออกมาแทบทุกฉาก ซึ่งกว่าจะมาเป็นบทและไดอะล็อกที่เห็น แม็กคาร์เทน ผู้เขียนบทได้ศึกษาค้นคว้าอย่างเข้มข้นจากสุนทรพจน์ของเชอร์ชิลล์ และบันทึกการประชุมคณะรัฐมนตรีสงครามของอังกฤษ

“ทำไมเราไม่เคยจำ จะต้องมีเผด็จการอีกสักกี่คนที่ถูกเอาอกเอาใจจนเคยตัว” คำพูดที่เชอร์ชิลล์ (ในเรื่อง) ใช้อธิบายเหตุผลที่เขายืนกรานไม่ยอมเจรจากับฮิตเลอร์ …เป็นคำถามชวนคิด ที่น่าจะยังใช้ได้ในทุกยุคทุกสมัย