ที่มา นสพ.มติชนรายวัน
โดย ดอกฝน
นาทีนี้คงไม่มีละครเรื่องไหนที่จะเป็นทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์ไปกว่าละครพีเรียดอิงประวัติศาสตร์ ที่ย้อนอดีตไปยังช่วงรัชสมัยของพระนารายณ์มหาราชแห่งกรุงศรีอยุธยา อย่าง ‘บุพเพสันนิวาส’ อีกแล้ว
ขนาดคนที่แทบไม่ดูละครอย่างเรา พอถึงวันพุธ-พฤหัสบดีปั๊บ ถึงกับจองทีวีนั่งเฝ้าช่อง 33 HD เพื่อรอดูความน่ารักสดใสของ ‘เกศสุรางค์’ ในร่าง ‘แม่หญิงการะเกด’ ที่ เบลลา ราณี ตีบทได้แตกกระจุยแบบไม่มีห่วงสวยเลยสักนิด ราวกับตัวละครในนวนิยายได้กระโดดจากหน้ากระดาษมาสู่หน้าจอ
อย่างไรก็ตามอยากชวนให้ไปอ่านตัวบทในนิยายด้วย เพราะบอกเลยว่าละครสนุกแล้ว นิยายสนุกไม่แพ้กัน บุพเพสันนิวาส โดย ‘รอมแพง’ เป็นนิยายอิงประวัติศาสตร์เรื่องหนึ่งในใจเราเลยก็ว่าได้ และคิดว่าคงมีคนอ่านคิดเหมือนกันหลายคนแน่ๆ เพราะตอนนี้จํานวนพิมพ์ที่รู้มาคือกําลังจะเตรียมพิมพ์ครั้งที่ 35 36 และ 37 แล้ว !!
“เริ่มเข้าสู่การเขียนตั้งแต่ปี 2549 ค่ะ เริ่มจากการเล่นเกมส์ออนไลน์pc แล้วแชทในโปรแกรมเกมส์เพื่อนๆในเกมส์เห็นสำนวนการตอบก็เลยยุให้ลองเขียนนิยายค่ะ” จันทร์ยวีร์ สมปรีดา หรือที่รู้จักกันในนามปากกา ‘รอมแพง’ เล่าถึงจุดเริ่มต้นให้เราฟังด้วยรอยยิ้มสดใส
“พื้นฐานการอ่านของเรา เกิดจากความต้องการอ่านของตัวเองค่ะ พ่อแม่ไม่เคยบังคับให้อ่าน มีแต่บังคับให้เลิกอ่านเพราะกลัวสายตาเราจะแย่ เล่มโปรดจะเป็นพวกไพรัชนิยาย ที่ไปในเมืองสมมติ เล่มโปรดมากๆคือ ‘เสราดารัล’ของกิ่งฉัตร กับ ‘ดั่งดวงหฤทัย’ของคุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ หรือ ‘ทมยันตี’ ค่ะ ซึ่งคิดว่าน่าจะได้รับอิทธิพลในงานเขียนมาพอสมควร ในแง่ของวิธีการบรรยายการพรรณาต่างๆ”
จริงๆแล้วไม่ใช่แค่ ‘บุพเพสันนิวาส’ เท่านั้น ที่เป็นเล่มฮอตฮิตของเธอ ยังมีนิยายอีกหลายเรื่องที่อยู่ในใจของคอนิยาย ไม่ว่าจะเป็น ‘ดาวเกี้ยวเดือน’ , ‘ปักษานาคา’ , ‘ยมธิดา’ , ‘โภคีธรา’ ซีรีส์สายลับอย่าง ‘สายลับลิปกลอส’ , ‘สายลับไวท์โรส’ , ‘สายลับอายแชโดว์’ และอื่นๆอีกมากมาย ซึ่งบางเรื่องก็กลายเป็นละครฮิตไม่แพ้ ‘บุพเพสันนิวาส’
โดยสิ่งหนึ่งที่เป็นเอกลักษณ์ในงานของรอมแพง ไม่ว่าจะเขียนแนวไหนก็ตาม คือการสร้างคาแรคเตอร์ตัวละครโดยเฉพาะนางเอกให้มีบุคลิกที่สดใสร่าเริง มีความเป็นตัวของตัวเองสูง ฝีมือเขียนของเธอทําให้คนอ่านหลงรักได้อย่างไม่ยากเย็น ลองคิดภาพของ ‘ออเจ้าการะเกด’ หรือ ‘ประกายดาว’ ใน ‘ดาวเกี้ยวเดือน’ ที่ เจนี่ เทียนโพธิ์สุวรรณ์ เคยเล่นไว้ได้น่ารักมากๆดู จะประมาณนั้นนั่นล่ะ
“ปกติจะเป็นคนชอบคิดอะไรแปลกๆอยู่แล้วค่ะ แนวทางในการทำงานคือพยายามสื่อสิ่งที่ตัวเองคิดให้มากที่สุด และเป็นคนขี้เบื่อก็เลยพยายามไม่ให้ซ้ำค่ะ” รอมแพงอธิบายถึงวิธีการสร้างคาแรคเตอร์นางเอกที่ฉีกซะจนคนอ่านหลงรัก
ใน ‘บุพเพสันนิวาส’ นั้น เมื่ออ่านจบและพลิกดูหน้าท้ายๆ สิ่งหนึ่งที่เตะตาเรามากคือบรรณานุกรมยาวเหยียด ถูกแล้วบรรณานุกรมในงานฟีลโรแมนติกคอเมดี้นี่ล่ะ ซึ่งไม่น่าแปลกใจหรอก เพราะรอมแพงสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีจากคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร เอกประวัติศาสตร์ศิลปะ โทภาษาไทย เพราะฉะนั้นข้อมูลจากการค้นคว้าจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ
“การเขียนบุพเพสันนิวาสเริ่มต้น เพราะความที่อยากจะเขียนนิยายอิงประวัติศาสตร์สักเรื่องที่เด็กอ่านได้ผู้ใหญ่อ่านดี ให้คนอ่านมีความสุขที่ได้อ่านสักเรื่องก็เลยค้นหาข้อมูลว่าเราจะเขียนยุคไหนดี จากนั้นก็สร้างตัวละครออกมาให้เป็นมนุษย์มากที่สุดมีทั้งด้านดีและไม่ดีในทุกตัวละคร พร้อมกับวางพล็อตไว้คร่าวๆก่อนลงมือเขียนในแต่ละตอน และให้ตัวเอกเป็นคนปัจจุบันที่ต้องไปอยู่ในโลกอดีตค่ะ”
รอมแพงเล่าว่าการเรียนจบประวัติศาสตร์ศิลปะ มีส่วนไม่น้อยที่ทําให้เธอค้นคว้าหาข้อมูลหลักฐานต่างๆในการเขียนนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ เพราะในการเรียนของเธอนั้นอาจารย์จะเน้นย้ำเรื่องหลักฐานมาก
“การเขียนนิยายอิงประวัติศาสตร์ จะต้องใช้เวลาในการหาข้อมูลอ่านและวิเคราะห์พร้อมทั้งสรุปออกมาเรียกว่าการย่อยข้อมูล เพื่อจับเอาข้อมูลเหล่านั้นมาเรียงร้อยกับพล๊อตที่คิดไว้ การหาข้อมูลก็จะไปหอสมุดต่างๆ และมีในอินเตอร์เน็ตบ้าง แต่ช่วงที่เขียนบุพเพสันนิวาสข้อมูลในอินเตอร์เน็ตจะยังน้อยอยู่ค่ะเลยค่อนข้างลำบากนิดหน่อย วิธีการบาลานซ์คือเราต้องยึดตัวละครและพล๊อตที่วางไว้เป็นหลัก และสอดแทรกข้อมูลไปในการกระทำของตัวละครแบบพยายามให้เนียนที่สุดค่ะ” รอมแพงเล่าถึงวิธีการทํางาน
ถามถึงตัวละครที่เธอรักที่สุดในบุพเพสันนิวาส ผิดคาดมาก เพราะไม่ใช่ออเจ้าการะเกดหรือพี่หมื่นหรอกนะ แต่เป็น “แม่มะลิ” หรือที่เรารู้จักกันในชื่อของท้าวทองกีบม้าต่างหาก
“ในนิยายเรื่องนี้รักการที่ตัวนางเอก ได้ไปพบเจอเหตุการณ์ต่างๆและคนสำคัญในประวัติศาสตร์รวมทั้งพบเจอสถานที่ในประวัติศาสตร์ต่างๆ และรักตัวละครแม่มะลิ หรือตองกีมาร์มากที่สุดค่ะ เพราะว่ารู้สึกเห็นใจในชะตากรรมของตัวละครในประวัติศาสตร์คนนี้มาก” รอมแพงเอ่ยพร้อมยิ้มหวาน
รอมแพงเคยให้สัมภาษณ์ในเซ็คชั่นบันเทิง มติชนออนไลน์ว่า นวนิยายเรื่องนี้เธอเขียนตั้งแต่ปี 2552 นั้น และสิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้ถือเป็นปรากฏการณ์สำหรับเธอ เพราะตั้งแต่ละครออกอากาศก็ได้รับแจ้งจากสำนักพิมพ์ว่าตีพิมพ์เพิ่มไปหมื่นกว่าเล่ม และตอนนี้ความแรงก็ยังไม่ตก
“ขอบคุณนะคะที่สนับสนุนเอาใจช่วยมาโดยตลอด” เธอฝากบอกออเจ้าทั้งหลายด้วยแววตาสดใส
“วงการนิยายในตอนนี้มีนักเขียนเพิ่มมากขึ้น แสดงถึงความหลากหลายของคนอ่านไปด้วย ถ้าหากว่าคนเขียนมีความใส่ใจรักงานของตัวเองและรักคนอ่าน อย่างไรคนอ่านก็คงไม่ทิ้งคนเขียนค่ะ ตอนนี้ก็จะเขียนนิยายไปเรื่อยๆเท่าที่อยากเขียนและเท่าที่มีคนอยากอ่านงานของเรา เล่มใหม่จะมีแน่นอนปีนี้กำลังเขียนอยู่ค่ะ ออกแนวแฟนตาซีไปโลกอนาคตค่ะ”
“ขอให้ช่วยติดตามกันด้วยนะคะ”