เรียนจาก ‘ลูก’ เพราะ ‘เราเองก็ไม่ได้ดีมากมาย’

“ผมว่าครอบครัวคือสถาบันพื้นฐานของมนุษย์นะ” ในฐานะของคนซึ่งเป็นลูก เป็นหลาน เป็นพี่ เป็นน้อง เป็นสามี และเป็นพ่อ ป๋อ ณัฐวุฒิ สกิดใจ บอกความรู้สึก ถึงคำว่า ‘ครอบครัว’ อย่างนั้น

แล้วว่า ในความรู้สึกเขา นี่คือสถาบันซึ่งมีความสำคัญเหลือเกิน

“เป็นสถาบันท่ถ้าเราสร้างให้แข็งแรง สิ่งที่เกิดขึ้นคือความมั่นใจระหว่างลูกกับพ่อแม่ที่จะมีให้ต่อกัน และถ้าลูกมั่นใจในตัวพ่แม่ ลูกจะรู้สึกว่าทุกอย่างมันเริ่มจากที่นั่น ไม่ว่าจะเป็นคำสอนต่างๆ เขาจะมั่นใจว่ามันคือสิ่งที่ถูกต้อง แม้ว่าเพื่อนจะพยายามบอกอะไร ลูกจะไม่เชื่อ เพราะต้องถามพ่อแม่ก่อน”

“แต่ถ้าสถาบันครอบครัวไม่แข็งแรง เราก็จะเห็นเลยว่าลูกจะเชื่อเพื่อนมากกว่า เด็กจะมีโอกาสเขว”

ดังนั้นเขาและเอ๋ พรทิพย์ ผู้เป็นภรรยาจึงใส่ใจในเรื่องนี้อย่างยิ่ง

เปิดใจด้วยว่า ช่วงก่อนนี้ตอนที่ยังไม่แต่งงาน กับ ณ ปัจจุบัน ซึ่งเป็นคุณพ่อลูก 2 ของน้องภู ภูดิศ วัย 5 ปี และน้องเภา วัย 2 ปี ความคิดของเขาเกี่ยวกับเรื่องครอบครัวนั้น แตกต่างกันเยอะ

“ถ้าไม่มีลูกไม่มีวันเข้าใจเลยนะ” ป๋อในวัย 43 บอก

“เพราะว่ามันจะมาโดยอัตโนมัติ พอมีลูกมันจะเกิดต่อมอะไรสักต่อม” ถึงตอนนี้ป๋อยิ้่มน้อยๆ

แล้วว่าต่อมนั้นจะทำให้ ทุกคนหันกลับไปรักพ่อแม่มากขึ้น ซึ่งสิ่งนี้ “ถ้าคุณตัวคนเดียว จะไม่มีทางเข้าใจเลย”

“เวลามีทายาท เราจะรู้สึกว่ารักเขามาก เห่อเขามา แล้วนั่งย้อนกลับไปคิดว่า แสดงว่าพ่อแม่รักเรามากเหมือนกัน เราก็จะกลับไปรักพ่อแม่ แล้วจะเริ่มอินกับครอบครัว”

 

ต่างจากตอนวัยรุ่น ตอนเป็นโสด มักจะใช้ชีวิตสนุกอยู่กับเพื่อน  “ซึ่งไม่ผิด เพราะเด็กจะรู้สึกอยากเป็นตัวของตัวเอง รู้สึกว่าครอบครัวเป็นสิ่งน่าเบื่อ”

กับความพยายามสร้างให้สถาบันครอบครัว ‘สกิดใจ’ แข็งแรงนั้น ป๋อว่าเขากับเอ๋ก็พยายามเรียนรู้ และปรับให้อยู่ในจุดที่สมดุลย์ที่สุด

“จริงๆผมเป็นคนสตริคมากนะเมื่อก่อน” เขาเล่า

แต่พอสังเกตุว่า การสตริคส่งผลให้ลูกไม่มีความสุข ก็เปลี่ยนวิธี จนปัจจุบัน “ค่อนข้างปล่อยนะ”

“แน่นอนว่าบางครั้งเขาทำผิด ดึงกระโปรงแม่ บ้าๆบอๆ แต่นั่นคือเด็ก เราไม่มีสิทธิ์ไปโทษเขาว่าผิด หรือถามว่าทำไมไม่ทำแบบนี้ คือเด็กไง เด็กไม่รู้อะไร สิ่งที่เกิดขึ้คือเขาจะเรียนรู้ไปเรื่อยๆ ว่าเวลามีคนมาสัมภาษณ์เขาควรทำอย่างไร เขาอาจจะทำไม่ถูกในครั้งแรก เราเป็นผู้ใหญ่ต้องให้โอกาสเขาในครั้งที่สอง เชื่อสิว่าไม่เกินสามครั้ง ต่อไปเขาจะยืนเฉยๆตอนคุณจ่อไมค์ จะกล้าพูดมากขึ้น”

“อาจตอบไม่ดี ต้องพัฒนา แต่ว่าพอสิบขวบ ก็ต้องดีกว่านี้ พวกนี้ต้องเรียนรู้จากประสบการณ์”

“อย่างวันนี้เป็นวันแรกๆ เขาวิ่งไปทั่ว ถ้าสะดุดล้มเขาจะยิ่งได้เรียนรู้ ยิ่งมีคนมาดุด้วยแล้ว ซึ่งผมโอเคนะถ้าเขาจะโดนคนดุ เพราะนั่นคือประสบการณ์จากสิ่งแวดล้อม เราสอนเขาได้ไม่หมด ต้องให้คนอื่นช่วยสอน”

กับการเป็น ‘ลูกดารา’ ป๋อว่าไม่ส่งผลอะไร

“เพราะเราก็คนปกติ มันไม่มีหรอกว่าลูกดารา แล้วจะโตเป็นดารา เด็กก็ไม่เข้าใจหรอกคำว่าดาราน่ะ เป็นที่ความรู้สึกของพ่อแม่มากกว่า ว่าคนอื่นอาจจะคาดหวัง ว่าลูกเราน่ารัก ซึ่งจริงๆแล้ว ลูกเราอาจไม่น่ารักก็ได้ คนอื่นอาจจะคาดหวังว่า เราเป็นอารมณ์ดี แต่ลูกทำไมไม่ใช่” เขายกตัวอย่าง

ก่อนนั้นเวลาทำงานกับลูก เขาจึงพะวงนัก แต่หลังตัดสินใจจะปล่อยให้มากขึ้น ความพะวงที่ว่าก็ลดไปเยอะ

“คิดว่าเขาช่วยเหลือตัวเองได้แล้วด้วย อย่าง เมื่้อก่อนต้องป้อน เดี๋ยวนี้ไม่ ไม่กินก็เรื่องของเขา ถ้าหิว เขาจะกินเอง เพราะเรามัวป้อน เขาจะกินเองไม่เป็นเลย จะรู้สึกว่าไม่ต้องทำอะไร เคยเห็นพ่อแม่เดินตามป้อนข้าวลูกไหม เราไม่อยากเป็นแบบนั้น”

ด้วยเหตุนี้ถ้าลูกของเขาจะไม่กินข้าว ไม่แต่งตัว ไม่อาบน้ำไม่เป็นอะไร ไม่นอนไม่เป็นไร  แต่ในบางเรื่อง ‘กฎเหล็กก็ยังคงเป็นกฎเหล็ก’ นั่นคือ “ห้ามทำร้ายคนอื่น ห้ามทำร้ายน้อง จะตีน้องไม่ได้ ทำร้ายสัตว์ไม่ได้ อันนี้ห้าม”

ส่วนเรื่องของการทำโทษ ก่อหน้านี้เขาเคยตี โดยก่อนตีบอกเหตุผล หลังตีก็ยังอธิบาย “แต่ หลังๆแทบไม่ใช้แล้วนะ”

“เพราะการตีทำให้เขารู้สึกว่าเวลาที่เขาไม่ชอบน้อง เขาก็ตีน้องได้เหมือนกัน การที่เราทำ เป็นการปลูกฝังให้เขาไปทำกันคนอื่น เขาไม่สู้กับเราหรอก แต่จะไปตีคนที่อ่อนแอกว่าเขา”

เปิดใจด้วยว่า เขาเคยตั้งตามหวังไว้กับภูและเภามาก ก่อนจะตระหนักว่า นั่นอาจะเป็นการทำร้ายลูกทางอ้อม

“เมื่อก่อนคาดหวังมากเลย คิดว่าถ้ามีลูก อยากให้ลูกเป็นแบบนั้นแบบนี้  พอมาเลี้ยงจริงก็รู้ว่ามันไม่ได้สวยงามหรอกนะ ปล่อยให้เขาโตตามธรรมชาติดีกว่า เลี้ยงเขาให้เป็นธรรมชาติ เขาจะมีความสุขมากขึ้น แล้วเด็กเวลามีความสุขทุกอย่างจะดีหมดเลย”

“เคยเลี้ยงแบบบังคับ  ภูอย่าทำนั้น ภูอย่าทำนี้ แล้วเขาไม่มีความสุข เหมือนพ่อแม่จี้เราตลอดเวลา เป็นเราก็คงรำคาญ อย่างกินข้าวแล้วทำหก เพราะถือช้อนไม่ไหว เมื่อก่อนเราจะบอกว่าให้กินระวัง แล้วป้อน ตอนนี้ปล่อยให้หกแล้วเช็ดเอา การเช็ดนั้นทำให้รู้สึกว่ามันง่ายกว่า และเป็นการให้อิสระเขามากกว่า เขากล้าที่จะตักซุปในชามต่อไปมากกว่า”

“สำหรับการมองอนาคต ยิ่งเราไปคาดหวัง ไปบีบบังคับมาก แทนที่้ขาจะใช้ชีวิตแบบมีความสุข กลับต้องมาใช้ชีวิตบนความคาดหวังของเรา แบกภาระความคาดหวังของพ่อแม่ไว้ตลอดเวลา เลยคิดว่าอยากให้เขาเป็นตัวของตัวเอง ถ้าเขาไม่ได้ดีมาก เป็นคนปานกลางก็ไม่เป็นไร เพราะว่าเราก็เป็นคนปานกลาง ไม่ได้ดีมากมาย”

“เมื่อก่อนเรามีมาตราการกับลูก และมาเรียนรู้ว่ายิ่งทำยิ่งแย่ ไม่ได้ผล สิ่งสำคัญคือ เราก็รู้สึกว่าเราไม่ดี เมื่อก่อนเราไม่ได้ทำร้ายใคร แต่ทำไมถึงมาทำร้ายลูกตัวเอง ไม่เคยตีใคร มาตีลูกตัวเอง แล้วเขาร้องไห้ เราก็เลิกตี ใช้วิธีแบบธรรมชาติดีกว่า”

“เราก็เรียนรู้อะไรแบบนี้จากการมีลูก เพราะลูกก็คือครูของพ่อแม่เช่นกัน”

ที่มา:มติชนออนไลน์