ศิลปินแห่งชาติ มีคุณสมบัติเป็นอย่างไร ได้รับสวัสดิการอะไรบ้าง ?

National Artist ศิลปินแห่งชาติ

เปิดคุณสมบัติ-สวัสดิการ ศิลปินแห่งชาติ มีคุณสมบัติอย่างไร ได้รับการยกย่องแล้ว จะได้รับสวัสดิการอะไรบ้าง ?

ศิลปินแห่งชาติ รางวัลแห่งความภาคภูมิใจของศิลปินผู้ทำงานสร้างสรรค์ สืบสานงานศิลปะให้ยังคงอยู่จนถึงยุคปัจจุบัน ทั้งงานด้านทัศนศิลป์ วรรณศิลป์ และศิลปะการแสดง โดยผู้ที่เป็นศิลปินแห่งชาติ นอกจากการได้รับยกย่องเชิดชูเกียรติแล้ว ยังได้รับสวัสดิการต่าง ๆ อีกด้วย

“ประชาชาติธุรกิจ” รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับศิลปินแห่งชาติ ว่ามีเกณฑ์การคัดเลือกอย่างไร และจะได้รับสวัสดิการอะไรบ้าง ?

เป็น “ศิลปินแห่งชาติ” มีสวัสดิการอะไรบ้าง ?

ผู้ที่ได้รับยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติ จะได้รับสวัสดิการ ประกอบด้วย

  • ค่าตอบแทนรายเดือน เดือนละ 25,000 บาท ตลอดระยะเวลาที่มีชีวิตอยู่
  • ค่ารักษาพยาบาลตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลโดยอนุโลม เว้นแต่มีสิทธิเบิกจากหน่วยงานอื่น ให้เบิกจากหน่วยงานนั้นก่อน
  • ถ้าเบิกจากหน่วยงานนั้นได้ต่ำกว่าสิทธิตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล ให้มีสิทธิเบิกในส่วนที่ยังขาดอยู่ได้อีกภายในวงเงินไม่เกิน 100,000 บาท ต่อปีงบประมาณ
  • เงินช่วยเหลือเมื่อประสบสาธารณภัยเท่าที่เสียหายจริง รายละไม่เกิน 50,000 บาท ต่อครั้ง
  • ค่าของเยี่ยมในยามเจ็บป่วย หรือในโอกาสสำคัญเท่าที่จ่ายจริง รายละไม่เกิน 3,000 บาทต่อครั้ง
  • กรณีเสียชีวิตจะได้รับเงินช่วยเหลือบำเพ็ญกุศลศพ รายละ 20,000 บาท เงินช่วยเหลือค่าจัดทำหนังสือเผยแพร่ผลงานเมื่อเสียชีวิตเท่าที่จ่ายจริง รายละไม่เกิน 150,000 บาท

ที่มา “ศิลปินแห่งชาติ”

สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ได้จัดทำโครงการศิลปินแห่งชาติ มาตั้งแต่ พุทธศักราช 2527 เพื่อสรรหา ส่งเสริมสนับสนุน และช่วยเหลือศิลปินผู้สร้างสรรค์ ผลงาน ศิลปะล้ำค่า อันทรงคุณค่าของแผ่นดิน ยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ โดยมีสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติเป็นผู้พิจารณา

ศิลปินแห่งชาติ นับเป็นทรัพยากรบุคคลสำคัญทางด้านศิลปะ ที่ได้สืบสานงานศิลปะ ของชาติให้เชื่อมโยงจากอดีตมาสู่ปัจจุบันเป็นการถ่ายทอดภูมิปัญญาของบรรพบุรุษในอดีต ให้มีความรุ่งโรจน์สืบไปยังอนาคตข้างหน้า

Advertisment

อนึ่ง จากพระราชดำรัสของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสที่ คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ นำศิลปินเข้าเฝ้าฯเพื่อรับพระราชทานเข็มเชิดชูเกียรติศิลปินแห่งชาติว่า

“ผลงานของศิลปินแห่งชาติเป็นมรดกศิลปะอันล้ำค่าของชาติ เป็นเครื่องหมาย แสดงอารยธรรมอันสูงส่งของชาติไทย ควรแก่ความภูมิใจของคนไทยทั้งชาติ ผลงานของท่านเหล่านี้นับวันจะสูญหายไปด้วยสาเหตุต่าง ๆ จึงจำเป็นอย่างเร่งด่วนที่จะต้องศึกษาผลงานของทุกท่านเหล่านี้ แล้วจัดทำเนียบขึ้นบัญชีอย่างเป็นระบบ เพื่อประโยชน์ในการศึกษา และรักษาไว้เป็นสมบัติของชาติโดยส่วนรวมต่อไป”

Advertisment

การจัดทำโครงการศิลปินแห่งชาติ ได้มีการกำหนดวัตถุประสงค์ของการจัดทำโครงการไว้ 5 ข้อ ได้แก่

  • จัดทำทำเนียบศิลปินทุกแขนงทั่วประเทศ
  • สรรหาศิลปินเพื่อประกาศยกย่องเกียรติคุณขึ้นเป็นศิลปินแห่งชาติ
  • จัดตั้งกองทุน (มูลนิธิ) สวัสดิการเพื่อศิลปิน
  • สนับสนุนให้ศิลปินได้มีโอกาสเผยแพร่ผลงาน
  • อนุรักษ์และส่งเสริมให้มีการสืบทอดความรู้ ความสามารถของศิลปิน

โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้วันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ของทุกปี เป็น “วันศิลปินแห่งชาติ”

คุณสมบัติของศิลปินแห่งชาติ

สำหรับคุณสมบัติของศิลปินแห่งชาติ มีดังนี้

  • เป็นผู้มีสัญชาติไทยและยังมีชีวิตอยู่ในวันตัดสิน
  • เป็นผู้ที่มีความสามารถ มีความเชี่ยวชาญ และมีผลงานดีเด่น เป็นที่ยอมรับของวงการศิลปินแขนงนั้น
  • เป็นผู้สร้างสรรค์และพัฒนาศิลปะแขนงนั้นจนถึงปัจจุบัน
  • เป็นผู้ผดุงและถ่ายทอดศิลปะแขนงนั้น
  • เป็นผู้ปฏิบัติงานศิลปะแขนงนั้นอยู่ในปัจจุบัน
  • เป็นผู้มีคุณธรรมและมีความรักในวิชาชีพของตน
  • เป็นผู้มีผลงานที่ยังประโยชน์ต่อสังคมและมนุษยชาติ

การจำแนกสาขาศิลปะของโครงการศิลปินแห่งชาติ

ศิลปินแห่งชาติ มีการจำแนกสาขาศิลปะ ดังนี้

สาขาทัศนศิลป์ (Visual Art)

ศิลปะที่มองเห็นได้ด้วยตา จะเป็นศิลปะสองมิติหรือสามมิติ ซึ่งได้แก่ ผลงานศิลปกรรมประเภทต่าง ๆ ที่แสดงถึงภูมิปัญญาของผู้สร้างสรรค์และมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่น ดังต่อไปนี้

  • จิตรกรรม หมายถึง ภาพเขียนสีและภาพลายเส้น
  • ประติมากรรม หมายถึง งานปั้นและแกะสลัก
  • ภาพพิมพ์ หมายถึง ศิลปะการพิมพ์ด้วยกรรมวิธีต่าง ๆ เช่น การพิมพ์ด้วยแม่พิมพ์ไม้ โลหะ ฯลฯ
  • ภาพถ่าย หมายถึง ผลงานศิลปะภาพถ่ายที่เสนอด้วยสื่อและกรรมวิธีต่าง ๆ
  • สื่อประสม หมายถึง ผลงานศิลปะที่สร้างสรรค์ขึ้นด้วยกรรมวิธีและเทคนิคต่าง ๆ อย่างอิสระ

สาขาศิลปะสถาปัตยกรรม (Architecture)

งานออกแบบ หรืองานออกแบบและงานก่อสร้างอาคารสวยงาม มีคุณค่าทางศิลปะ และมีวิทยาการ ซึ่งแสดงภูมิปัญญาของผู้ออกแบบอย่างโดดเด่น ได้แก่ สถาปัตยกรรมไทยและสถาปัตยกรรมร่วมสมัย

สาขาวรรณศิลป์ (Literature)

บทประพันธ์ที่ปลุกมโนคติของผู้อ่าน ทำให้เกิดจินตนาการความเพลิดเพลิน และเกิดอารมณ์ต่าง ๆ ตามเจตนารมณ์ของผู้ประพันธ์ ได้แก่ กวีนิพนธ์ เรื่องสั้น นวนิยาย บันเทิงคดี สำหรับเด็กและเยาวชน อาทิ หนังสือเด็ก วรรณกรรมเยาวชนที่ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่อย่างกว้างขวาง

สาขาศิลปะการแสดง (Performing Art)

ศิลปะที่เกี่ยวข้องกับการแสดง ซึ่งเป็นได้ทั้งแบบดั้งเดิมหรือพัฒนาขึ้นใหม่ ได้แก่

ก. การละคร ประกอบด้วย ละครรำ เช่น โนห์รา ชาตรี ฯลฯ ละครร้อง โขน ลิเก ระบำ (ประดิษฐ์ขึ้นมาใหม่) รำ (ประดิษฐ์ขึ้นมาใหม่) ฟ้อน (ประดิษฐ์ขึ้นมาใหม่) เซิ้ง (ประดิษฐ์ขึ้นมาใหม่) หุ่น เช่น หุ่นละครเล็ก หุ่นกระบอก หนังใหญ่ หนังตะลุง การเขียนบทร้องหรือบทละครรำ (เพื่อการแสดง)

ข. การดนตรี แบ่งออกเป็นดนตรีไทย และดนตรีสากล

  • นักดนตรี ต้องเป็นนักดนตรีเด่นเฉพาะเครื่องมือ
  • นักร้อง ต้องมีความสามารถทั้งร้องส่งและร้องรับในการแสดงต่าง ๆ และสามารถแหล่ทำนองต่าง ๆ ได้ (แหล่เฉพาะแบบดั้งเดิม)
  • นักประพันธ์เพลง ต้องประพันธ์ ทั้งทางร้องและทางดนตรี
  • ผู้อำนวยเพลง ต้องเป็นผู้อำนวยเพลงดีเด่น
  • ผู้ผลิตเครื่องดนตรี

ค. การแสดงพื้นบ้าน ประกอบด้วย หมอลำ ซอ ลำตัด เพลงฉ่อย เพลงอีแซว เพลงบอก สวดคฤหัสถ์ ฯลฯ

ทั้งนี้ นับตั้งแต่เริ่มโครงการศิลปินแห่งชาติเมื่อปี พ.ศ. 2527 มีศิลปินแห่งชาติได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติตั้งแต่ พ.ศ. 2528-2565 แล้วจำนวน 355 คน และในปี พ.ศ. 2565 จำนวน 12 คน รวมทั้งสิ้น 367 คน ซึ่งมีศิลปินแห่งชาติเสียชีวิตไปแล้ว 183 คน และยังมีชีวิตอยู่รวม 184 คน

ข้อมูลจาก กรมส่งเสริมวัฒนธรรม