“จูน ชนากานต์” ไวโอลินแนวใหม่…ที่อยากให้คุณฟัง

ถ้าพูดถึงไวโอลิน คนส่วนมากจะนึกถึงไวโอลินคลาสสิกที่เล่นในวงออร์เคสตร้า หรือไม่ก็เล่นบรรเลงตามงานต่าง ๆ ในท่วงทำนองแบบดนตรีคลาสสิก พูดตามจริงก็คือเรายังไม่รู้จักไวโอลินในแบบอื่นกันเท่าไหร่นัก เพราะไวโอลินที่รู้จักกันในฐานะเครื่องดนตรีคลาสสิกนั้นคนก็เข้าถึงยากอยู่แล้ว ดังนั้นถ้าจะพูดถึงไวโอลินที่เล่นในแบบอื่น ๆ คนก็ยิ่งรู้จักน้อยกันไปใหญ่

ไม่รู้ว่าจะทำให้คนไทยรู้จักไวโอลินได้มากขึ้นหรือไม่ แต่ตอนนี้มีนักไวโอลินสาวคนหนึ่งชื่อ จูน-ชนากานต์ วิสุขโช เธอมาพร้อมกับไวโอลินไฟฟ้าคู่ใจและผลงานเพลงบรรเลงไวโอลินที่อยากแนะนำให้คนไทยรู้จักและลองฟังเสียงไวโอลินในอีกแบบหนึ่ง

เพลงของเธอเป็นการนำเสนอการบรรเลงไวโอลินในแบบที่เธอบอกว่า “คนทั่วไปเข้าถึงได้” แม้จะไม่ใหม่ในระดับโลก แต่ “ใหม่” ในเมืองไทยแน่นอน เพราะยังไม่มีศิลปินคนไหนทำเพลงแบบนี้ออกมา

เพลงนี้เป็นผลงานเพลงแรกของเธอ ชื่อเพลง “Unforgettable Desire” ที่สื่อความหมายว่า “อย่าลืมทำตามใจปรารถนาที่อยากทำ” เป็นเพลงที่สาวจูนทำเองตั้งแต่กระบวนการแต่งเพลง อัดเสียง ทำมิวสิควิดีโอ

เธอให้คำจำกัดความแนวดนตรีว่า “เป็นอิเล็กทรอนิกส์มิวสิกค่ะ อารมณ์ประมาณวาเนสซ่า เม เป็นเจนใหม่ของวาเนสซ่า เม”

จูนแนะนำตัวและเล่าความเป็นมาในการทำเพลงให้ฟังว่า เธอเรียนจบเอกไวโอลินคลาสสิก จากวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล และรับงานมาตั้งแต่สมัยเรียน ทั้งรับเล่นตามงานอีเวนต์ต่าง ๆ เล่นให้แบรนด์รถยนต์หลายแบรนด์ในงานมอเตอร์โชว์ รับอัดเสียงรายการทีวี อัดเสียงแบ็กอัพให้คนอื่น อัดเสียงเพลงลูกทุ่งให้ครูสลาก็เคยมาแล้ว

พอรับงานมาก ๆ เข้าเธอก็รู้ว่าตัวเองชอบทางนี้ จึงเบนเข็มออกมา ไม่ได้เล่นไวโอลินในวงออร์เคสตร้าอย่างที่เรียนมา

“ถ้าเรามีฝีมือเราจะกลับไปเล่นออร์เคสตร้าก็ได้ แต่ช่วงเวลานี้มันเป็นช่วงเวลาการค้นหาตัวเอง พอเราออกไปเจอคน เราได้รู้ว่ามันมีแบบนู้นแบบนี้ให้เราตื่นเต้น มันมีอะไรหลายอย่างที่เรายังไม่รู้ ถ้าเราไม่ออกไปข้างนอก จูนก็เลยขอออกมาเรียนรู้ข้างนอกให้เต็มที่ แล้วรู้ว่าจูนสามารถเล่นไปได้ ทำหลายอย่าง สนุกดี แต่ไม่ใช่ว่าออร์เคเสตร้าไม่ดีนะ ออร์เคสตร้าดีมาก คนที่เล่นได้ก็เก่งมาก แต่มันแค่ไม่เหมือนกัน คนละแบบ”  

หลังจากรับงาน มีประสบการณ์หลายอย่าง เห็นว่าตัวเองเพอร์ฟอร์มกับคนอื่นได้ จึงรู้สึกสนุก อยากทำเพลงของตัวเอง โดยมี ลินเซย์ สเตอร์ลิง (Lindsey Stirling) และ วาเนสซ่า เม (Vanessa-Mae) เป็นแรงบันดาลใจ

พออยากทำก็เริ่มลงมือแต่งเพลงเอง เธอบอกว่าใช้เวลาแต่งเพลงประมาณ 6 เดือน ซึ่งค่อนข้างนาน เพราะไม่มีแบบอย่าง ไม่รู้ว่าทำประมาณไหนคนจึงจะเข้าถึง ส่วนการเรียบเรียงเสียงประสานต่าง ๆ และการอัดเสียงมีเพื่อน ๆ มาช่วย

 หลังทำเพลงเสร็จก็ปล่อยออกไปตามช่องทางต่าง ๆ ทั้ง Youtube, Joox, iTunes เมื่อประมาณ 3 เดือนก่อน จูนบอกว่าได้เห็นฟีดแบ็กว่าคนที่สนใจคือนักดนตรีด้วยกันและคนจากต่างประเทศที่รู้จักดนตรีแบบนี้อยู่แล้ว มีคนจากอินโดนีเซียและอเมริกาติดต่อเข้ามา บอกว่าเป็นเอเจนซี่อยากร่วมงานด้วย แต่จูนยังไม่ได้ตกลงปลงใจ เพราะต้องตรวจสอบให้ดีก่อนว่าเชื่อถือได้แค่ไหน  

 “จูนทำเพลงออกมา ในสังคมดนตรีเขารู้กัน อ๋อ… จูน ไวโอลิน แต่จูนไม่รู้ว่าจะนำเสนอออกไปสู่คนทั่วไปได้ยังไง นักดนตรีด้วยกันรู้จัก เข้ามาชื่นชม แต่มันไปไม่ถึงคนฟังทั่วไป ไม่รู้ว่าเราต้องทำแมสขนาดไหนคนทั่วไปถึงจะฟัง มันเป็นสิ่งใหม่ มันเป็นการทดลองอย่างหนึ่ง มันท้าทายดี ก็ต้องกล้าด้วย ก็ลองทำดู เพราะมันเป็นสิ่งที่ไม่น่าเปื่อย”

ศิลปินหน้าใหม่บอกว่า ตอนนี้เป็นช่วงที่ไม่รู้ว่าจะไปยังไง ไม่มีแผนการโปรโมตหรือการตลาด แต่ทำเพราะอยากทำ คิดว่าทำตอนนี้หรือทำในวันข้างหน้าก็เหมือนกัน เพราะมันก็คือสิ่งใหม่อยู่ดี

“เราทำเร็วอย่างน้อยก็มีเวลาลองผิดลองถูก ที่อยากทำเพราะอยากสร้างแบรนด์ของตัวเอง อยากให้คนรู้จักว่าตัวตนเราเป็นแบบนี้ สไตล์ของเราเป็นแบบนี้ มีแบบนี้อยู่ในเมืองไทยนะ เพราะบางคนเวลานึกถึงไวโอลินก็คงนึกถึงการเล่นในออร์เคสตร้า หรือบรรเลงตามงานแต่งงาน แต่จูนว่ามันว้าวได้มากกว่านั้น”

“เพลงของจูนเป็นเพลงบรรเลง ไม่มีเสียงร้อง แต่ไม่น่าเบื่อแน่นอน เป็นเพลงแนวมัน ๆ สนุก ๆ คนทั่วไปฟังได้ ไม่ใช่คลาสิกจ๋า เป็นดนตรีที่ฟังแล้วรู้สึกสนุก เปิดในงาน เปิดให้เข้ากับแบรนด์ก็เข้าได้” เธอย้ำ อยากให้รู้ว่าไวโอลินไม่ใช่เล่นได้แค่ดนตรีคลาสสิกเท่านั้น และอยากให้ลองฟังว่าจะ “ว้าว” ขนาดไหน