เอ-อัญชลี กระดูกอุ้งเชิงกรานหัก ประสบอุบัติเหตุจักรยานล้ม

จากกรณีที่ เอ-อัญชลี หัสดีวิจิตร ประสบอุบัติเหตุจักรยานล้ม ระหว่างร่วมปั่นจักรยานระดมเงินบริจาคช่วยเหลือเด็ก 3 จังหวัดชายแดนใต้ จากกรุงเทพฯ-เบตง ล่าสุดได้เข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลเวชธานี ลาดพร้าว 111 โดยขณะนี้อาการโดยรวมปลอดภัยดี แต่ยังคงต้องพักรักษาตัวเป็นระยะเวลา 10 วัน เพื่อป้องกันการเคลื่อนตัวของกระดูก

นพ.ประพันธ์ โกมลมาลย์ ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ เฉพาะทางด้านศัลยกรรมอุบัติเหตุกระดูก รพ.เวชธานี เปิดเผยว่า หลังจากคุณเอ ประสบอุบัติเหตุจักรยานล้ม พบกระดูกเชิงกรานซีกซ้ายหัก แต่โชคดีที่กระดูกไม่เคลื่อน จึงยังไม่จำเป็นต้องผ่าตัดรักษา แต่ยังจำเป็นต้องนอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล เป็นระยะเวลา 10 วัน เพื่อป้องกันการเคลื่อนตัวของกระดูก

“ขณะนี้คุณเอปลอดภัยดี อยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด ในช่วงแรกที่มาถึงโรงพยาบาล คุณเอมีอาการปวดค่อนข้างมาก แต่ตอนนี้นับว่าดีขึ้นมากแล้ว อาการปวดทุเลาลง หลังจากได้นอนพัก และได้รับยาควบคุมอาการปวด โดยล่าสุดถอดสายน้ำเกลือออกแล้ว ส่วนคุณเอก็เริ่มชินกับการขยับตัวบนเตียงภายใต้ข้อจำกัดที่แพทย์แนะนำ” นพ.ประพันธ์กล่าว และว่า สำหรับระยะเวลาที่กระดูกจะเชื่อมติดดังเดิม ใช้เวลาประมาณ 6-8 สัปดาห์ การปั่นจักรยานในวันที่ 20 สิงหาคมนี้ ยังคงเร็วไปสำหรับคุณเอ แพทย์จึงยังไม่แนะนำให้กลับไปปั่นจักรยานในช่วงเร็วๆ นี้ อยากให้ คุณเอพักรักษาตัวให้หายดีก่อนเพื่อไม่ให้กระดูกเคลื่อนตัว โดยเฉพาะในช่วง 1-2 สัปดาห์แรก ซึ่งหากพ้นระยะเวลานี้แล้ว กระดูกมีการเชื่อมตัวดี คุณเอ ก็ไม่จำเป็นต้องผ่าตัดรักษา ส่วนในอนาคต คุณเอสามารถกลับมาปั่นจักรยานและทำกิจกรรมอื่นๆ ได้ตามปกติแน่นอน

นพ.ประพันธ์กล่าวว่า ส่วนใหญ่มักเกิดจากอุบัติเหตุรุนแรง เช่น จาการเล่นกีฬาผาดโผน การปั่นจักรยาน รวมไปถึงอุบัติเหตุบนท้องถนนทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น จักรยานยนต์ หรือรถยนต์ เป็นต้น สำหรับอาการที่สังเกตได้อย่างชัดเจน มีทั้งอาการเจ็บบริเวณขาหนีบและสะโพก มีเลือดออกหรือเกิดจ้ำเลือดในบริเวณที่หัก โดยอีกหนึ่งสิ่งทำสำคัญคือสัญญาณชีพ ซึ่งรวมถึง ความดันโลหิต ชีพจร อัตราการหายใจ เนื่องจากกระดูกหักมักมีเลือดออกมาก จึงมีผลต่อสัญญาณชีพ หากประสบอุบัติเหตุแล้วสงสัยว่ากระดูกหัก การวัดสัญญาณชีพถือเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อช่วยหาสาเหตุของกระดูกหักเช่นกัน นอกจากนี้ ผู้ป่วยยังอาจลุกไม่ขึ้น หรือมีอาการหน่วงบริเวณที่หักร่วมด้วย

“หากสงสัยว่ากระดูกเชิงกรานหัก ควรหาผ้ามารัดหุ้มไว้ เพื่อให้เกิดการเคลื่อนไหวในบริเวณนั้นน้อยที่สุด ป้องกันการเคลื่อนตัวของกระดูก และรีบแจ้งรถโรงพยาบาลให้มารับ ไม่ควรเคลื่อนย้ายผู้ป่วยเอง หากกระดูกเชิงกรานหักและจำเป็นต้องผ่าตัดรักษานั้น ปัจจุบันมีเทคโนโลยีทางการแพทย์เข้ามาช่วยให้การผ่าตัดแม่นยำและปลอดภัยมากขึ้น ทั้งการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ระหว่างผ่าตัด ช่วยให้ศัลยแพทย์ใส่ตัวยึดน็อตกับกระดูกได้ตรงตำแหน่ง อีกทั้งยังมีเทคนิคการผ่าตัดแบบแผลเล็กที่ทำให้การฟื้นตัวไวยิ่งขึ้น อีกทั้งลดโอกาสเสี่ยงจากภาวะแทรกซ้อนระหว่างผ่าตัดได้ดี” นพ.ประพันธ์กล่าว

ที่มา:มติชนออนไลน์