GIRLS DON’T CRY … เมื่อความพยายามอย่างเดียวยังไม่เพียงพอ

ท้องฟ้าสีเทา : เรื่อง
Girls Don’t Cry ภาพยนตร์สารคดีเปิดเผยความรู้สึกหลังเวที หลังภาพความสำเร็จอันสวยงามของสาว ๆ ไอดอลกรุ๊ป BNK48 ผลงานการกำกับของเต๋อ-นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ เข้าฉายสร้างความฮือฮาไปเมื่อเร็ว ๆ นี้ โดยเฉพาะในหมู่คนที่เป็นแฟนคลับของสาว ๆ กลุ่มนี้
 
เต๋อ-นวพล สัมภาษณ์สมาชิก BNK48 ทีละคนในห้องแคบ ๆ ให้แต่ละคนบอกเล่าความรู้สึกของตัวเอง ซึ่งไม่รู้ว่าแต่ละคนได้รับคำถามเหมือนกันหรือต่างกันมากน้อยแค่ไหน
 
ประเด็นของหนังเทน้ำหนักไปที่เรื่องความพยายามของน้อง ๆ ตั้งแต่กว่าจะได้เข้ามาเป็น BNK48 และความพยายามที่จะก้าวเข้าไปติดเซ็มบัตสึ (คือตัวจริงที่ได้ร้อง แสดง และได้รับการโปรโมตในแต่ละซิงเกิล BNK48 มีทั้งหมดเกือบ 30 คน แต่ใน 1 เพลง จะคัดเลือกตัวจริง 16 คนเท่านั้น) ซึ่งเกณฑ์สำคัญในการคัดเลือกก็คือ “ความนิยม” โดยใช้ยอดฟอลโลว์ในโซเชียลมีเดียเป็นดัชนีชี้วัดความนิยม
 
เราสามารถแบ่งกลุ่มสมาชิก BNK48 ตามความนิยมและการติดเซ็มบัตสึออกเป็นกลุ่มบน กลุ่มล่าง ซึ่งในกลุ่มบนแยกย่อยได้อีกว่า บนระดับสูง ระดับกลาง ระดับล่าง (บรรดาแฟน ๆ เขารู้กัน)
 
Girls Don’t Cry ไม่ได้นำเสนอความขัดแย้งในหมู่สาว ๆ อาจจะด้วยตัวน้อง ๆ เองที่ไม่ได้พาดพิงหรือต่อว่าคนอื่น แต่เราก็เห็นและรู้สึกได้ว่ากลุ่มอันเดอร์มีความน้อยใจ มีความแอบอิจฉาเล็ก ๆ ซึ่งก็เป็นธรรมดาที่เกิดขึ้นในทุกสังคม
 
สิ่งที่เราได้เห็นชัดเจนที่สุดคือความพยายามของน้อง ๆ และความรู้สึกจากต่างมุม ระหว่างคนที่อยู่กลุ่มบนและคนที่อยู่กลุ่มล่าง หลายคนคิดว่าคนที่อยู่จุดอื่นไม่เข้าใจจุดที่ตัวเองอยู่ คนข้างล่างก็บอกว่าคนข้างบนไม่มีทางเข้าใจความรู้สึกของคนที่อยู่ข้างล่าง คนที่อยู่ข้างบนก็บอกว่าคนที่อยู่ข้างล่างก็ไม่เข้าใจความรู้สึกคนที่อยู่ข้างบนเหมือนกัน
 
“ความพยายาม” คือสตอรี่ที่เป็นจุดขายของ BNK48 มาตั้งแต่แรกเริ่ม และบริษัทนำมาขายต่อยอดจนถึงการสร้างหนังเรื่องนี้
 
“ความพยายามไม่เคยทำร้ายสักคนที่ตั้งใจ” ท่อนหนึ่งจากเนื้อเพลงของ BNK48 เป็นคีย์เวิร์ดสำคัญที่ปรากฏอยู่หลายช่วงหลายตอน
 
“ต้องพยายามแค่ไหนถึงจะพอ คนที่บอกว่าก็พยายามอีกสิ เคยเห็นหรือยังว่าเราพยายามแค่ไหน” (ถ้าจำคำผิดต้องอภัย แต่ใจความประมาณนี้) น้องคนหนึ่งที่ไม่เคยติดเซ็มเลยสักซิงเกิลปล่อยคำถามที่เป็นทั้งคำถามและคำตัดพ้อ หลังจากที่พยายามแค่ไหนก็ไปไม่ถึงเป้าหมาย ทั้งที่ความพยายามของเธอไม่น้อยไปกว่าใคร
 
คนที่ได้รับความนิยมสูงสุดแสดงความเห็นในประเด็นเดียวกันว่า “ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมมันเป็นแบบนี้” (หมายถึงไม่รู้ว่าทำไมตัวเองถึงได้รับความนิยมมาก และได้รับเลือกเสมอ และมีบางคนที่ไม่ได้รับเลือกสักที)
 
ประเด็นนี้ในหนังเรื่องนี้ สะท้อนว่าสังคมเราไม่ค่อยกล้าพูดความจริงที่ว่า หน้าตาและบุคลิกภาพเป็นใบเบิกทางที่สำคัญ แม้ในสนามที่บอกว่าคัดเลือกกันด้วย “ความพยายาม” ก็เห็นอยู่แล้วว่า ลำพังความพยายามอย่างเดียวยังไม่พอ แต่ไม่มีใครกล้าพูดเหตุผลนั้นออกมา ก็เลยมีแต่คำถามว่า “ไม่รู้ทำไมเป็นแบบนี้”
 
อย่างที่บอกไปแล้วว่า การเลือกเซ็มบัตสึดูจากคะแนนนิยมเป็นสำคัญ แล้วคนที่ได้รับความนิยมมาก ๆ เป็นใคร ? ก็คือคนที่หน้าตาดี ซึ่งก็ไม่ใช่ความผิดของใคร เพราะโดยธรรมชาติมนุษย์เราชอบอะไรสวย ๆ งาม ๆ อยู่แล้ว ซึ่งเราต้องยอมรับว่าเราอยู่ในสังคมที่ให้คุณค่ากับหน้าตาและรูปลักษณ์ภายนอก คนที่หน้าตาดีมีเสน่ห์มากกว่าก็ได้รับความนิยมมากกว่า ถ้าเรากล้ายอมรับความจริงข้อนี้เราก็จะได้คำตอบว่า ทำไมความพยายามของบางคน พยายามเท่าไหร่ก็ไม่มากพอ
 
 
หนังเรื่องนี้เป็นหนังสารคดีที่ผู้กำกับเลือกนำเสนอความรู้สึกของตัวละครเป็นหลัก และทำออกมาได้ลงตัว ไม่ต้องพยายามดราม่า แต่ก็ทำให้คนดูเข้าอกเข้าใจความรู้สึกของตัวละครที่มีหลายแง่มุมความรู้สึก ส่วนตัวแอบเสียดายที่เขาเลือกไม่สื่อสารกับวงกว้าง ไม่ฉายเรื่องราวที่เป็นปรากฏการณ์ของยุคพอเน้นเรื่องความรู้สึก มันก็สื่อสารแต่กับคนที่ชื่นชอบหรือคนที่สนใจ ไม่ใช่หนังที่บันทึกปรากฏการณ์แห่งยุคสมัย ไม่ใช่หนังที่เป็นแหล่งข้อมูลให้คนดูในแบบที่ใครอยากรู้เรื่องของ BNK48 จะต้องดูหนังเรื่องนี้
 
ถ้าดูด้วยความคาดหวังแบบการดูหนังสารคดีที่อยากรู้ข้อมูล อยากรู้เบื้องลึกเบื้องหลัง อยากเห็นมุมด้านธุรกิจ หรือบริบทโดยรอบของไอดอล หนังเรื่องนี้ไม่ค่อยตอบโจทย์ แต่ถ้าไม่คาดหวัง Girl Don’t Cry ก็บอกเล่าช่วงชีวิตของวัยรุ่นสาวซึ่งยืนอยู่ในจุดที่ต้องรับมืออะไรที่เกินวัยได้อย่างน่าสนใจและลงตัวดีแล้ว