การกลับมาของ TOY STORY 4 สู่เส้นทางผจญภัยอันไกลโพ้น

ปี 1995 แอนิเมชั่นสุดน่ารักที่มีเหล่าชาวแก๊งของเล่นพูดได้จาก Toy Story ทำความรู้จักกับแฟนหนังเป็นครั้งแรกในโรงภาพยนตร์ จนสามารถสร้างความประทับใจไปได้ทั่วโลก

ด้วยจำนวนฐานแฟนคลับของ Toy Story จึงทำให้มีการสร้างภาคต่อมาถึง 3 ภาคก่อนหน้านี้ และล่าสุด Toy Story 4 เข้าฉายสร้างรอยยิ้มให้คนดูอยู่ขณะนี้ ซึ่งนอกจากจะเต็มไปด้วยความตลกสนุกสนานอัดแน่นเหมือนเดิมแล้ว ในภาคนี้เรายังจะได้พบกับการผจญภัยที่นำมาซึ่งจุดเปลี่ยน และการเติบโตของตัวละครที่ทำเอาหลายคนเสียน้ำตาให้กับเหล่าตัวการ์ตูนที่เราผูกพันกันด้วย

Toy Story 4 ได้ จอช คูลีย์ มารับหน้าที่การกำกับที่แม้จะเป็นครั้งแรกในบทบาทนี้ แต่อันที่จริง คูลีย์คลุกคลีในสตูดิโอพิกซาร์มานานแล้ว ทั้งจากงานเขียนบทให้กับ Inside Out เมื่อปี 2015 แอนิเมชั่นเรื่องเยี่ยมที่ได้รับคำชมอย่างท่วมท้น รวมถึงเคยกำกับหนังสั้นอย่าง Riley’s First Date? มาแล้วด้วย แฟน ๆ เองก็ไม่ต้องกังวลไปว่า กลิ่นอายของ Toy Story จะไม่เหมือนเดิม เพราะในส่วนงานเขียนบท ยังคงเป็น จอห์น แลสเซตเตอร์ และแอนดรูว์ สแตนตัน ผู้รับหน้าที่เขียนบทตั้งแต่ภาคแรก ยืนพื้นดูในส่วนนี้ทั้งหมดเหมือนเดิม

เรื่องราวการผจญภัยครั้งใหม่นี้ต่อเนื่องจากภาค 3 ที่แอนดี้ตัดสินใจส่งต่อของเล่นให้กับบอนนี่ เด็กสาวที่จะกลายมาเป็นเพื่อนเล่นคนใหม่ของแก๊งของเล่น แต่เรื่องราวกลับปั่นป่วนมากขึ้น เมื่อบอนนี่ได้ประดิษฐ์ของเล่นชิ้นใหม่จากส้อมในถังขยะ “ฟอร์กกี้”
บอนนี่รักเจ้าฟอร์กกี้มาก แต่เจ้าตัวกลับไม่รู้สึกว่าตัวเองเป็นของเล่น เพราะรู้ว่าจริง ๆ แล้วเกิดมาจากถังขยะ ฟอร์กกี้จึงพยายามกลับไปยังที่ที่ตัวเองจากมาตลอดเวลา วูดดี้ และเหล่าผองเพื่อนของเล่นจึงต้องช่วยกันหยุดยั้งเจ้าฟอร์กกี้ไว้ เพื่อรักษาความรู้สึกของบอนนี่ไว้ให้ได้ดีที่สุด

ความตลกสนุกสนานในครั้งนี้เรียกว่า มากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของเรื่องเลยก็ว่าได้ โดยเฉพาะจากเจ้าฟอร์กกี้ ตัวละครใหม่ ด้วยแคแร็กเตอร์ของมันที่ไม่ว่าจะพูดจะทำอะไรก็เรียกเสียงหัวเราะจากคนดูทั้งโรงได้ตลอดเวลา รวมถึงอีกสองตัวละครที่เพิ่มขึ้นมาอย่าง ดุ๊ก คาบูม ตุ๊กตาสตันต์แมนจากแคนาดา และบันนี่ คู่หูตุ๊กตากระต่ายจากร้านปาเป้าที่กวนโอ๊ยสุด ๆ บทของตัวละครใหม่ที่สอดแทรกมาทำให้หนังมีอรรถรสเพิ่มมากขึ้น แม้ว่าในภาคก่อนหน้าจะจบไปอย่างสมบูรณ์แบบแล้วก็ตาม ทำให้แฟน ๆ หลายคนกังวลว่า ครั้งนี้จะเป็นการพยายามเล่าเรื่องที่ยืดกว่าเดิมหรือไม่

ในภาคนี้ความตลกขบขันของตัวละครใหม่ ๆ และความร้ายกาจของแก๊งของเล่นในร้าน Second Chance Antiques เป็นส่วนที่ทำให้หนังมีไดนามิกมากขึ้นก็จริง แต่เราคิดว่าพาร์ตที่สำคัญที่สุดของ Toy Story 4 คือการเติบโตของตัวละครในเรื่อง โดยเฉพาะการเจอกันของวูดดี้ และโบ ปี๊ป ที่ทำให้ตัววูดดี้ได้เรียนรู้และทลายกำแพงความคิดแบบเดิม ๆ นอกจากวูดดี้จะพยายามอย่างหนักในการเป็นเพื่อนเล่นที่ดีของบอนนี่แล้ว เขายังได้ตระหนักอีกเรื่องที่สำคัญที่สุด นั่นก็คือการมองเห็นคุณค่าที่แท้จริงของตัวเอง รวมถึงการกลับมาตั้งคำถามกับโจทย์ที่ Toy Story ขีดไว้ตั้งแต่ภาคแรก คือที่สุดแล้ว ของเล่นต้องเกิดมาเพื่อเป็นของเล่นเด็กอย่างเดียว จริงหรือไม่

ดูจบแล้ว ความรู้สึกในภาคนี้อาจจะไม่ได้อิ่มเอมใจเท่าภาคก่อน แต่เรากลับรู้สึกว่า พลอตในครั้งนี้พาให้หวนกลับไปคิดถึงของเล่นในวัยเด็กมากขึ้น และไม่ใช่แค่วูดดี้ หรือโบ ปี๊ป ที่เติบโตขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ตัวคนดูเองก็ได้เรียนรู้และเติบโตไปพร้อมกับตัวละครเหล่านี้ด้วยเหมือนกัน