THE CURRENT WAR อีกด้านของสงครามกระแสไฟฟ้า

The Current War Photo: Dean Rogers

หลังจากเลื่อนวันฉายมานานถึงสองปี ตอนนี้ก็ได้ฤกษ์ลงโรงฉายแล้ว สำหรับภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์ “The Current War” ที่เฉพาะในส่วนของนักแสดงนำก็ดึงดูดฐานคนดูได้ไม่น้อยเลย เพราะมีทั้งหมอแปลกอย่าง เบเนดิกต์ คัมเบอร์แบตช์ ที่มารับบท โทมัส อัลวา เอดิสัน, นิโคลัส เฮาต์ รับบท นิโคลา เทสลา, ทอม ฮอลแลนด์ รับบท ซามูเอล อินซูลล์ และไมเคิล แชนนอน รับบท จอร์จ เวสติงเฮาส์

แม้ว่าช่วงสองปีก่อนจะมีอุปสรรคหลายอย่าง แต่ตอนนี้ก็น่าจะเป็นจังหวะที่พอเหมาะพอดีอย่างยิ่ง หลังจากภาพยนตร์จักรวาลมาร์เวลเป็นกระแส-สร้างสถิติเมื่อหลายเดือนก่อน บวกกับกระแสสไปดี้จากน้องทอม ฮอลแลนด์ และฟอร์มภาพยนตร์อิงชีวประวัติบุคคลสำคัญของโลกอย่างเอดิสันเองก็พอจะทำให้ The Current War เป็นที่น่าจับตามองอยู่ไม่น้อยเลย

The Current War งานกำกับจาก อัลฟองโซ่ โกเมซ-รีจอน ที่มีผลงานสร้างชื่อทั้ง Me and Earl and the Dying Girl และ Chambers และยังเคยนั่งแท่นเป็นโปรดิวเซอร์ให้กับซีรีส์ชื่อดัง American Horror Story มาแล้วด้วย

ในหนังเรื่องนี้เราจะได้เห็นอีกมุมของเอดิสันที่หลาย ๆ คนไม่เคยรู้มาก่อน ทั้งจากหนังสือในโรงเรียน หรือคำบอกเล่าที่ถูกส่งต่อกันมาแบบคร่าว ๆ ว่า โทมัส อัลวา เอดิสัน คือ ผู้มีคุณูปการแก่โลกในการประดิษฐ์หลอดไฟเป็นคนแรก นั่นคือสิ่งที่อยู่ในความรับรู้ของคนทั่วไป แต่ครั้งนี้

อัลฟองโซ่เลือกเล่าด้านที่เป็นขั้วตรงข้าม เปิดให้เราเห็นความทะเยอทะยาน เอาชนะ เจ้าเล่ห์-เหลี่ยมจัดของเอดิสัน การปะทะอุดมการณ์ระหว่างเอดิสัน ผู้วางรากฐานการผลิตไฟฟ้ากระแสตรง และฟากเวสติ้งเฮาส์ กับนิโคลา เทสลา ที่เชื่อมั่นในระบบไฟฟ้ากระแสสลับ จนนำมาสู่สงครามกระแสไฟฟ้าอันน่าติดตามครั้งนี้

The Current War เนรมิตบรรยากาศในช่วงทศวรรษ 1880 ออกมาได้ค่อนข้างกลมกล่อม ทั้งมู้ดแอนด์โทนของหนัง คอสตูม สำเนียงการพูดที่เป็นบริติชกันตลอดเรื่อง รวมถึงพลังทางการแสดงของนักแสดงที่ไม่น่าเป็นห่วง โดยเฉพาะ

เบเนดิกต์ เพราะส่วนใหญ่พี่แกได้รับบทประมาณนี้อยู่บ่อย ๆ ส่วนที่นึกเสียดายคงจะเป็นทอม ฮอลแลนด์ และนิโคลัส เฮาต์ ที่ตัวบทไม่สามารถดึงศักยภาพของนักแสดงออกมาได้เท่าที่ควร อย่างนิโคลัส เฮาต์ ที่มารับบท นิโคลา เทสลา บุคคลที่แทบจะไม่ถูกจารึกในประวัติศาสตร์ หนังก็ดันเล่าให้เขากลืนหายไปกับหนัง ไม่ต่างจากที่เรารับรู้กันในหนังสือเรียนอยู่ดี

สิ่งสำคัญอีกอย่าง คือ ผู้ชมที่ตีตั๋วมาดูเรื่องนี้คงต้องมีความรู้ความเข้าใจพื้นฐานด้านวงจรไฟฟ้าอยู่ไม่น้อย เพราะการเล่าเรื่อง-ตัดต่อหนังสลับไปสลับมาพอสมควร ไม่มีการปูแบ็กกราวนด์ทำความเข้าใจให้คนดูในเรื่องที่มีความเฉพาะกลุ่ม พาร์ตแรกของหนังจึงอาจจะชวนหลับไปบ้าง

เพราะนอกจากการตัดต่อจะไม่สมูทแล้ว บางฉากที่ควรเล่าอย่างค่อยเป็นค่อยไปก็ดันโดนตัดฉับไปดื้อ ๆ เสียอย่างนั้น หรือบางฉากที่ดูไม่ค่อยจะมีอะไร ก็ถูกแช่ไว้ที่หน้าจอนานหลายนาที ความสนุกชวนตื่นเต้นกับจุดจบของสงครามครั้งนี้จึงไปอยู่ที่ครึ่งหลังของหนังเป็นต้นไปมากกว่า

แม้ว่าการเล่าเรื่องจะชวนง่วงไม่น้อย แต่ความดีงามของหนังเรื่องนี้คงจะอยู่ที่การไม่พยายามยัดเยียด ตัดสินผิดชอบชั่วดีประวัติศาสตร์ให้คนดู ไม่ได้บอกว่าใครถูก-ใครผิด เอดิสันอาจจะไม่ใช่ผู้ชนะในสงครามครั้งนี้อย่างใสสะอาดหมดจด เวสติ้งเฮาส์อาจจะไม่ใช่คนที่ฉลาดที่สุดในเกมนี้ แต่นี่แหละ คือ มนุษย์ เพราะหนังเปิดทั้งขาวและดำของตัวละครให้คนดูเป็นผู้พิจารณาเองมากกว่า