The Lion King มิวสิคอลอันดับ 1 ร่ายมนตร์เสน่ห์แอฟริกันอย่างน่าประทับใจ

ท้องฟ้าสีเทา : เรื่อง

Disney’s The Lion King Musical ละครเพลงอันดับ 1 ของโลกที่หลายคนอยากดูได้เดินทางมาเปิดการแสดงครั้งแรกในเมืองไทยแล้ว นำเข้ามาโดยบีอีซี-เทโร ซีเนริโอ ซึ่งการมาครั้งนี้ถือว่าเป็นโอกาสอันดีสำหรับคนที่อยากดูจะได้ดูง่าย ๆ ไม่ต้องไปดูไกลถึงอเมริกาหรืออังกฤษ

The Lion King เป็นบทประพันธ์เรื่องดังของดิสนีย์ที่คนทั่วโลกคุ้นเคยและรู้เรื่องราวในเรื่องกันอยู่แล้ว ไม่ว่าจะถูกนำมาสร้างสรรค์กี่เวอร์ชั่น กี่รูปแบบการแสดงก็ได้รับความสนใจเสมอ และสำหรับ Disney’s The Lion King Musical ที่ผ่านสายตาผู้ชมมาแล้วมากกว่าร้อยล้านคนก็เป็นหนึ่งโปรดักชั่นที่ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลา 20 กว่าปี

Disney’s The Lion King Musical เปิดตัวในปี 1997 ด้วยงบฯโปรดักชั่นที่คิดเป็นมูลค่าในปัจจุบันสูงถึง 27.5 ล้านเหรียญสหรัฐ การสร้างสรรค์มิวสิคอลเรื่องนี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากดนตรี ภาษา และศิลปะของชาวแอฟริกัน เกิดเป็นการแสดงโปรดักชั่นระดับยักษ์ที่มีเอกลักษณ์ และสร้างมาตรฐานใหม่ด้านงานศิลป์ให้กับวงการละครเวที ทั้งเรื่องเวที เครื่องแต่งกาย การออกแบบท่าเต้น ที่ทำให้คนดูรู้สึกถึงภาพทุ่งหญ้าสะวันนาอันกว้างใหญ่และวิถีชีวิตของสัตว์ป่าแอฟริกา

การมาเปิดการแสดงในเมืองไทยครั้งนี้เป็นไปตามมาตรฐานระดับโลกของ The Lion King Musical ที่ขนมาเต็มทุกฉาก ทุกแสงสี และเอฟเฟ็กต์ แบบที่ผู้ชมจะสามารถเห็นได้จากเวทีบรอดเวย์เท่านั้น อุปกรณ์ทุกชิ้นส่วนมีน้ำหนักรวมกันมากถึง 195.5 ตัน ถูกขนมาในตู้คอนเทนเนอร์ ขนาด 40 ฟุต จำนวน 27 ตู้ ใช้ทีมงาน 154 คน กับเวลา 232 ชั่วโมงในการเซตอัพโครงสร้างและฉากต่าง ๆ เพื่อสร้างความมหัศจรรย์ให้เกิดขึ้นต่อหน้าผู้ชม

ละครเพลงยอดนิยมตลอดกาลที่จะได้ชมกันนี้ อยู่ภายใต้การกำกับการแสดงของจูลี่ เทย์มอร์ ส่วนมิวสิคอลกำกับโดยแอนดี้ แมสซีย์ ควบคุมดนตรีโดยเดวิด เครปเปล สร้างสรรค์ดนตรีและคำร้องโดยเซอร์ เอลตัน จอห์น และทิม ไรซ์ ร่วมด้วยเลโบ้ เอ็ม, มาร์ก แมนชินา, เจย์ ริฟกิน, จูลี่ เทย์มอร์ และฮานส์ ซิมเมอร์

เรื่องราวของซิมบ้า มูฟาซ่า สการ์และฝูงสัตว์ป่าแห่งแอฟริกา ถูกนำมาเสนอผ่านการแสดง-การร้องของนักแสดง และผ่านหุ่นเชิดที่นำศาสตร์และศิลป์การเชิดหุ่นรูปแบบต่าง ๆ มาปรับใช้หลากหลายสไตล์ โดยมีองค์ประกอบที่รังสรรค์ขึ้นมาอย่างพิถีพิถันช่วยเสริมส่งให้การแสดงดึงดูดความสนใจมากขึ้น ทั้งฉาก เครื่องแต่งกาย ตัวหุ่นและหน้ากากต่าง ๆ แต่สิ่งที่ผู้เขียนประทับใจมากกลับเป็นองค์ประกอบที่เรียบง่ายอย่างการนำผืนผ้ามาสร้างสรรค์ฉากได้อย่างน่าสนใจ

การแสดงมิวสิคอลเรื่องเยี่ยมเปิดด้วยฉาก circle of life ที่ pride rock ที่ตัวละครทุกตัวในเรื่องปรากฏตัวพร้อมกันอย่างยิ่งใหญ่ตระการตา ก่อนที่เรื่องราวการผจญภัยของซิมบ้าจะดำเนินไปอย่างสนุกสนานอย่างเคารพบทประพันธ์ แม้จะเป็นละครเพลงที่เล่าเรื่องราวด้วยเพลงเป็นหลัก แต่เมื่อเป็นบทพูดก็แทบจะเป็นประโยคเดียวกันกับที่เคยได้ชมในภาพยนตร์ของดิสนีย์เวอร์ชั่นปี 1994 นอกจากนั้น ก็ยังมีสีสันความสนุกเอาใจเจ้าบ้านด้วยการเติมมุขแบบไทย ๆ อย่างเช่น “อย่าพาข้าไปปล่อยที่เขาเขียวเลยนะ” และอีกหลาย ๆ มุขที่แม้บางมุขจะไม่ขำมากแต่ก็ทำให้ผู้ชมรู้สึกเอ็นดูในความตั้งใจ

การแสดงแบ่งออกเป็น 2 องก์ โดยองก์แรกจบลงตอนที่ซิมบ้าหนีออกจากไพรด์แลนด์ไปจนได้พบกับพุมบ้าและทีโมน แล้วตัดสินใจใช้ชีวิตอยู่กับเพื่อนใหม่ จากนั้นพักการแสดง 20 นาที ก่อนที่องก์สองจะเริ่มต้นขึ้นด้วยเรื่องราวต่อจากนั้น คือนาล่าออกไปหาแผ่นดินใหม่ และได้พบกับแก๊งของซิมบ้า การเจอกันของซิมบ้าและนาล่าทำให้ซิมบ้าต้องคิดทบทวนอย่างหนักว่าตัวเองคือใครและควรจะทำอย่างไรต่อไป

ในส่วนการแสดงแต่ละตัวละครถ่ายทอดบทบาทที่ตัวเองได้รับออกมาได้เป็นอย่างดี บวกกับการที่ผู้กำกับจูลี่ เทย์มอร์ ตั้งใจออกแบบหุ่นเชิดให้ไม่ปิดหรือซ่อนกลไกการขยับ รวมถึงไม่ให้ใส่หน้ากากปิดบังใบหน้าแต่สวมไว้บนหัวแทน คนดูจึงมองเห็นมนุษย์ที่ควบคุมหุ่นเชิดและสวมหน้ากากสัตว์ต่าง ๆ ได้เต็มที่ ทำให้ได้รับรู้อารมณ์ความรู้สึกของตัวละครจากสีหน้าแววตาของนักแสดงที่ไม่มีหน้ากากปิดบังใบหน้า

การแสดงที่โดดเด่นและผู้เขียนรู้สึกชอบที่สุดเป็นการส่วนตัว ก็คือ การแสดงของอแมนด้า คูนีน นักแสดงหลักของบท “นาล่า” ตอนโต เธอมีเสียงร้องที่น่าทึ่งเหลือเกิน ทั้งเสียงกลางหนาทรงพลัง และเสียงสูงบาง ๆ และอ่อนหวาน อย่างกับเป็นคนละคน แม้จะมีซีนไม่เยอะ แต่สะกดคนดูทุกครั้งที่เธอปรากฏตัว แต่ทั้งนี้ การแสดงมีการหมุนเวียนนักแสดง ในบางรอบจะไม่เจอเธอคนนี้ ซึ่งผู้เขียนก็ไม่ทราบว่านักแสดงคนอื่นเป็นอย่างไร แต่คิดว่างานระดับโลกแบบนี้ก็น่าจะอยู่ในมาตรฐานเดียวกัน ในส่วนดนตรีประกอบนั้นก็นำเสนอสุ้มเสียงความเป็นแอฟริกันออกมาอย่างเด่นชัด

แม้ว่าเนื้อหาจะไม่ได้สร้างเซอร์ไพรส์ เพราะคนดูส่วนมากรู้เรื่องราวในเรื่องกันอยู่แล้ว แต่การนำเสนอในรูปแบบละครเพลง ซึ่งเห็นคนแสดงเคลื่อนไหวอยู่ตรงหน้า บวกกับดนตรีสุ้มเสียงสำเนียงแอฟริกัน คอสตูม ฉากต่าง ๆ ก็ทำให้คนดูได้รสชาติแปลกใหม่ ได้สัมผัสความเป็นแอฟริกันมากกว่าในภาพยนตร์ที่มีความเป็นสากลมากกว่า


The Lion King Musical ทำการแสดง ณ เมืองไทยรัชดาลัยเธียเตอร์ โดยจะแสดงต่อเนื่องไปถึงวันที่ 10 พฤศจิกายนนี้ สำหรับผู้ที่สนใจ ซื้อบัตรได้ที่ www.thaiticketmajor.com สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมโทร.0-2262-3838