
ปัญหาสิ่งแวดล้อมสารพัดรูปแบบกำลังส่งผลกระทบต่อโลกและสิ่งมีชีวิต และมีแนวโน้มว่าจะรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ ในอนาคต ซึ่งตัวการที่ก่อให้เกิดปัญหาก็ไม่ใช่ใครอื่น มนุษย์อย่างเรา ๆ นี่เองที่ทำให้สิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรมจนส่งผลตีกลับมาทำร้ายเราเอง
หลายฝ่ายพยายามเน้นย้ำถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากปัญหาสิ่งแวดล้อม เพื่อกระตุ้นให้เกิดความตระหนักและตื่นตัวที่จะแก้ปัญหาและลดการทำลายสิ่งแวดล้อม วงการภาพยนตร์ก็เป็นภาคส่วนหนึ่งที่สื่อสารประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมตลอดมา อย่างภาพยนตร์ที่เข้าฉายในสัปดาห์นี้ (23 มกราคม 2563) ก็มีเรื่องหนึ่งที่นำเสนอประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มข้น นั่นก็คือ “DARK WATERS พลิกน้ำเน่าคดีฉาวโลก” ภาพยนตร์ดราม่าสุดเข้มข้น ผลงานการกำกับของ ทอดด์ เฮย์นส์ (Todd Haynes) ผู้กำกับฝีมือเยี่ยมเจ้าของผลงานสายรางวัลอย่าง Carol และ Far from Heaven ร่วมสร้างสรรค์ความระทึกโดย แมทธิว ไมเคิล คาร์นาฮาน (Matthew Michael Carnahan) ผู้เขียนบทจาก The Kingdom และ World War Z นำแสดงโดย มาร์ก รัฟฟาโล (Mark Ruffalo) และ แอนน์ แฮตทาเวย์ (Anne Hathaway)
DARK WATERS ดัดแปลงบทภาพยนตร์มาจากเรื่องจริงของคดีฉาวช็อกโลก เมื่อบริษัทใหญ่ชั้นนำได้ทิ้งสารเคมีอันตรายลงสู่ชุมชนนำไปสู่การทำลายสิ่งแวดล้อมจนถึงขั้นทำลายชีวิตคนผู้บริสุทธิ์ โรเบิร์ต บิลอตต์ (Robert Bilott) ทนายหนุ่มอุดมการณ์แรงกล้าได้รับคดีนี้มาทำเพราะไม่มีใครกล้าสู้กับอำนาจมืด งานนี้เขาจึงต้องยอมเดิมพันด้วยชีวิต
การเปิดโปงคอร์รัปชั่นอันเป็นที่มาของเรื่องทั้งหมดเริ่มขึ้นในวันที่ 6 มกราคม 2016 เมื่อ The New York Times Magazine ตีพิมพ์บทความของนาธาเนียล ริช ว่าด้วยเรื่องทนายความในเมืองซินซินเนติ ชื่อโรเบิร์ต บิลอตต์ ลูกจ้างของบริษัทกฎหมาย Taft Stettinius & Hollister LLP ทนายคนนี้เป็นผู้กล้าที่ออกมาเปิดโปงความอันตรายของสารเคมีที่ปนเปื้อนมานานหลายปีจนส่งผลต่อสุขภาพของชุมชนเล็ก ๆ แห่งหนึ่ง เขาทุ่มเทเพื่อให้องค์กรยักษ์ใหญ่ชดใช้อย่างสาสม
สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ต่างจากหนังสยองขวัญ เมื่อเกิดเหตุร้ายขึ้นในไร่ของครอบครัวเทนแนนต์ ซึ่งเป็นเจ้าของไร่ในละแวกนั้นมาหลายชั่วอายุคน จู่ ๆ ปศุสัตว์ในไร่ก็เริ่มล้มตาย สัตว์เลี้ยงที่เคยเชื่องก็เริ่มดื้อและดุร้าย ขี้เรื้อนขึ้น ตาแดงก่ำ น้ำลายย้อยจากปาก เมื่อลูกวัวตัวหนึ่งตาย ตามันกลายเป็นสีฟ้าอ่อน ยิ่งชัดเจนว่าอาจเป็นเพราะสารพิษที่รั่วไหลมาจากที่ทิ้งขยะ dry run ที่ซึ่งโรงงานวอชิงตันเวิร์กส (Washington Works) ของบริษัท ดูปองท์ (DuPont) ใช้ทิ้งซากเคมีตกค้าง
วิลเบอร์ เทนแนนต์ (Wilbur Tennant) พยายามไขปริศนานี้มาหลายปี แต่ไม่ได้คำตอบ เมื่อไร้หนทางเขาจึงหันไปขอความช่วยเหลือจากบิลอตต์ ซึ่งในวัยเด็กเคยอาศัยอยู่ใกล้ ๆ กับไร่ครอบครัวเทนแนนต์ที่ปาร์กเกอร์สเบิร์กในเวสต์เวอร์จิเนีย “ผมเคยทำคดีเกี่ยวกับสารเคมีต้องห้ามมาเยอะพอสมควร ผมเลยคิดว่ามันน่าจะไม่มีอะไรซับซ้อน” บิลอตต์กล่าว
ผ่านไปเกือบปี บิลอตต์ค้นพบว่าเขากำลังเจอกับอะไรอยู่ “มันเป็นเรื่องใหญ่กว่าที่เราคิด สารที่ว่าคือกรดเปอร์ฟลูโอโรออคตาโนอิก หรือเรียกสั้น ๆ ว่า PFOA ซึ่งใช้กันตั้งแต่ปี 1951 เกือบสองทศวรรษก่อนจะมีการก่อตั้งองค์การพิทักษ์สิ่งแวดล้อมที่ก่อตั้งขึ้นในปี 1970”
“โชคไม่ดีที่กฎข้อบังคับต่าง ๆ เกี่ยวกับสารเคมีที่รัฐเริ่มประกาศในช่วงทศวรรษ 1970 เน้นไปที่สารใหม่ ๆ ที่ถูกคิดค้นขึ้นหลังจากช่วงนั้น ไม่มีใครสนใจไล่เช็กย้อนหลังดูสารเคมีที่เคยใช้กันมานานเป็นสิบ ๆ ปี เราเลยต้องมารับกรรมจากสิ่งนั้น” บิลอตต์อธิบาย
การค้นพบของบิลอตต์ยิ่งน่าหวาดผวา เพราะดูปองท์ทิ้งขยะเหล่านั้นทั้งที่รู้มาตลอดว่าสาร PFOA อาจจะก่อให้เกิดอันตราย ในบทความของนาธาเนียล ริช บอกว่า จนถึงปี 1900 บริษัทนี้ได้ทิ้งสาร PFOA กว่า 7,100 ตันลงที่ทิ้งขยะจนสารดังกล่าวถูกดูดซึมลงดิน และระบบระบายน้ำเสียจนไปถึงฟาร์มของครอบครัวเทนแนนต์ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เป้าหมายของบิลอตต์ไม่ใช่แค่มอบความยุติธรรมให้กับครอบครัวเทนแนนต์ แต่ยังรวมไปถึงเหยื่อที่ได้รับผลกระทบจากสาร PFOA ทุกคน
การนำเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงมาสร้างสรรค์นำเสนอผ่านภาพยนตร์ ทีมงาน DARK WATERS ตระหนักดีว่าการทำงานครั้งนี้ต้องไม่ผิดพลาด โปรดิวเซอร์สาว พาเมล่า คอฟเฟลอร์ กล่าวว่า ทีมงานไม่สามารถยัดทุกคนที่มีบทบาทกับคดีนี้ลงไปทั้งหมดได้ จะถ่ายทอดทุกจุดพลิกผันของคดีลงไปก็ไม่ได้ ทีมงานจึงต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ รวบรัดให้กระชับและดูสนุก แต่แน่นอนว่าทุกจุดสำคัญในเรื่องอิงจากความจริงที่เกิดขึ้น ซึ่งโชคดีที่บุคคลจริงในเรื่องเกือบทุกคนให้ความร่วมมือกับทีมงาน พวกเขาทำงานอย่างใกล้ชิดกับนักแสดงที่มารับบท
น่าสนใจว่า เรื่องราวเข้มข้นที่เกิดขึ้นจริงนี้จะถูกสร้างสรรค์ออกมาเป็นภาพยนตร์ที่ดีมากน้อยแค่ไหน