Tote Bag Music Festival เทศกาลดนตรีที่มุ่งมั่นจะไม่สร้างขยะแม้แต่ชิ้นเดียว

เทศกาลดนตรีเป็นหนึ่งกิจกรรมที่ทำลายสิ่งแวดล้อมมาก ถ้าไม่วางแผนจัดการให้ดี ๆ ลองนึกภาพ… เทศกาลดนตรีส่วนมากมักออกไปจัดที่ต่างจังหวัด เป็นเทศกาลดนตรีกลางแจ้งบนพื้นที่ธรรมชาติ แล้วการที่คนจำนวนหลายพันหรือมากถึงหลักหมื่นคนไปรวมตัวกัน ทั้งขยะ ของเสีย เศษอาหาร มลพิษทางอากาศจากรถยนต์ที่เป็นพาหนะเดินทาง ฯลฯ ล้วนแต่เกิดขึ้น และสิ่งเหล่านี้จะเป็นปัญหามากหากผู้จัดงานไม่มีการจัดการที่ดีพอ ซึ่งส่วนมากก็ยังเป็นอย่างนั้นอยู่ คือก่อขยะกันงานละกองพะเนิน

ถ้าเทศกาลดนตรีส่วนมาก เป็นเทศกาลที่มีการจัดการแบบทั่ว ๆ ไป เทศกาลดนตรีที่ตั้งเป้าเรื่องสิ่งแวดล้อมก็คงนับเป็นส่วนน้อย ซึ่งในเร็ว ๆ นี้ (วันที่ 21-22 มีนาคม) จะมีเทศกาลดนตรีส่วนน้อยที่ว่านี้เกิดขึ้น ณ สนามเทพหัสดิน ชื่อเต็ม ๆ ว่า “Banpu Presents Tote Bag Music Festival” โดยความร่วมมือของคลื่นกรีนเวฟ106.5, บริษัท แก่น 555 จำกัด ผู้จัดเทศกาลดนตรีแถวหน้าของเมืองไทย และบริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ผู้นำธุรกิจด้านพลังงานแบบครบวงจรในเอเชีย-แปซิฟิก

Tote Bag Music Festival จะสร้างประวัติศาสตร์อีกหน้าหนึ่งของเทศกาลดนตรีในเมืองไทย เพราะจะเป็นเทศกาลดนตรีแรกของประเทศไทยที่นำเทคโนโลยีพลังงานมาขับเคลื่อนเต็มรูปแบบ และใช้กับทุกกิจกรรมในงาน

คีย์เมสเสจของเทศกาลดนตรีนี้คือ ลดการใช้พลังงานสิ้นเปลือง เพื่อเป้าหมายสูงสุดในอนาคต คือ เป็นเทศกาลดนตรีแบบ zero carbon footprint หรือปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็น 0 และลดการใช้วัสดุแบบใช้ครั้งเดียว (single use plastic) ของทุกอย่างภายในงานต้องใช้ซ้ำหรือนำไปรีไซเคิลได้ เพื่อเป้าหมายสร้างเทศกาลดนตรีแบบ zero waste หรือไม่มีขยะเกิดขึ้นในงานนั่นเอง

ดีเจ.อ้อย-นภาพร ไตรวิทย์วารีกุล และ ดีเจ.อั๋น-ภูวนาท คุนผลิน ตัวแทนจากคลื่นกรีนเวฟ บอกรายละเอียดว่า ในงานจะมีคอนเสิร์ตจากศิลปินชื่อดังและวงอินดี้ที่เป็นที่รู้จัก, กิจกรรมทอล์กดี ๆ มีสาระจาก “ตัวจริง” ในวงการกรีน,เวิร์กช็อปรักโลกน่ารัก ๆ, กรีนมาร์เก็ตที่รวบรวมร้าน อาหารเครื่องดื่ม สินค้าสำหรับคนรักโลก และตลาดนัดถุงผ้า แหล่งสินค้ามือสองที่จะส่งต่อสิ่งของที่ไม่ได้ใช้แล้วให้เจ้าของคนต่อไป ซึ่งรายได้จากการจำหน่ายสินค้าจะนำไปบริจาคให้กับ “มูลนิธิปันกัน”

คอนเสิร์ตแบ่งออกเป็น 2 เวที ได้แก่ Mini Stage : “เวทีนั้น” เวทีเล็กที่รวมศิลปินอินดี้มาแรง อย่าง Stoondio, Yented, Whal & Dolph, Gym & Swim, Safeplanet, เขียนไขและวานิช ชื่อเล่นของเวทีนี้คือเวทีต้นไม้ หลังจบงานวันอาทิตย์แล้ว ผู้ชมสามารถนำต้นไม้ที่ใช้ตกแต่งเวทีกลับไปปลูกต่อที่บ้านได้เลย

อีกหนึ่งเวทีคือ Main Stage : “เวทีนี้” เวทีใหญ่ที่รวบรวมศิลปินขวัญใจชาวกรีนเวฟ ทั้ง Tom Isara, Two Popetorn, Stamp, Lipta, 25 hours, Ink Waranthorn, Mean, Lula, The Parkinson และ Klear เวทีนี้ถูกเพนต์ด้วยสีรุ้งซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความหวัง หลังจากจบงาน วัสดุที่ใช้บนเวทีจะถูกนำไปสร้างเป็นหลังคาให้แก่โรงเรียนชุมชนบ้านก่อดำ อ.บ้านลาว จ.เชียงรายต่อไป

เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายของงานโปรดักชั่นดีไซน์บนเวทีจึงถูกคิดขึ้นมาแบบ “ที่ไปก่อนที่มา” คือคำนึงก่อนว่าจะสร้างหลังคาโรงเรียน แล้วจึงคิดย้อนกลับมาว่าจากหลังคาดังกล่าว จะนำมาสร้างเป็นรูปแบบเวทีได้อย่างไร ที่ทำให้ไม่เหลือขยะจากการสร้างเวทีเลย

ป๋าเต็ด-ยุทธนา บุญอ้อม ประธานกรรมการ บริษัท แก่น 555 จำกัด กล่าวว่า จากที่เคยจัดเทศกาลดนตรีมาแล้วหลายครั้ง ครั้งนี้รู้สึกพิเศษและภูมิใจที่สุด เพราะเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่นำแนวคิดกรีนและการใช้พลังงานทางเลือกอย่างพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ในการจัดการเทศกาลดนตรีอย่างเต็มรูปแบบ หากจะบอกว่านี่คือการปฏิวัติวงการเทศกาลดนตรีของไทยก็ว่าได้

“โปรดักชั่น การตกแต่ง และทุกอย่างในงานจะเกิดขึ้นแบบมีที่มาที่ไปตั้งแต่ต้นจนจบ เพื่อลดการใช้วัสดุแบบใช้ครั้งเดียว ของทุกอย่างในงานเราดีไซน์ว่าต้องใช้ซ้ำได้หรือส่งต่อไปใช้ประโยชน์อื่น ๆ ได้อีก เพื่อตอบโจทย์เป้าหมายเทศกาลดนตรีแบบ zero waste ส่วนเรื่องความสนุกและสีสันภายในงาน ยังคงจัดเต็มให้แบบเต็มที่แน่นอนครับ”

ด้านผู้สนับสนุนหลัก สมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) บอกว่า บ้านปูมุ่งมั่นดำเนินงานตามแนวคิด greener & smarter ที่จะนำเสนอนวัตกรรมพลังงานสะอาดตามหลักความยั่งยืน หรือ ESG โดยนำความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในเรื่องการวางระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์และสมาร์ทซิตี้โซลูชั่นแบบครบวงจรมาขับเคลื่อนในเทศกาลดนตรีนี้ เพื่อให้เกิดการใช้พลังงานอย่างคุ้มค่ามากที่สุด

“หวังว่าผู้เข้าร่วมงานจะได้สัมผัสประสบการณ์ความสนุกและนวัตกรรมใหม่ทางด้านพลังงาน ที่บ้านปูนำเสนออย่างเต็มรูปแบบในงานค่ะ” ซีอีโอบ้านปูกล่าว

คอนเซ็ปต์ของงานก็ดี รายชื่อศิลปินก็น่าดู สถานที่จัดงานก็ไปง่าย ถือว่าเป็นหนึ่งเทศกาลดนตรีที่น่าสนใจและน่าไปดูว่าจะทำได้อย่างที่ตั้งเป้าไว้หรือเปล่า