คุยกับ KLEAR มืออาชีพในวงการเพลง ศิลปินที่เป็นเพื่อนคอยปลอบใจคนฟัง

ถ้าจัดอันดับศิลปินที่มีเพลงฮิตต่อเนื่องสม่ำเสมอมากที่สุดในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ศิลปินที่ต้องติดอยู่อันดับต้น ๆ แน่นอนก็คือ 3 หนุ่ม 1 สาว วงเคลียร์ (Klear) จากค่ายจีนี่ เร็คคอร์ดส (genie records) ที่มีเพลงฮิตระดับ ปรากฏการณ์มาแล้วหลายเพลง อย่าง “คำยินดี”, “รักไม่ต้องการเวลา”, “สิ่งของ” รวมถึงเพลงคัฟเวอร์อย่าง “เล่นของสูง” ที่ทำเอาคนฟังคุ้นกับเวอร์ชั่นของพวกเขา พอ ๆ กับเวอร์ชั่นต้นฉบับของวงบิ๊กแอส (Big Ass)

ล่าสุด เคลียร์ได้รับเลือกจากผู้บริหารจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ให้เป็นศิลปินเบอร์แรกที่ออก “อัลบั้มเต็ม” ในปีนี้ ซึ่งนับว่าเป็นครั้งแรกในรอบหลายปีที่ศิลปินไทยได้รับโอกาสให้ทำอัลบั้มเต็ม โดยไม่ใช่การรวมซิงเกิลที่ปล่อยออกมาก่อนหน้าแล้ว

“ดีไลฟ์-ประชาชาติธุรกิจ” ถือโอกาสนี้พูดคุยกับวงเคลียร์ ซึ่งประกอบด้วย แพท (ร้องนำ), คีย์ (เบส), นัฐ (กลอง) และ ณัฐ (กีตาร์) พวกเขาบอกว่า รู้สึกดีใจ ตื่นเต้น และท้าทายที่ได้ทำอัลบั้มเต็มในยุคสมัยนี้

แม้จะมีเวลาทำงานเพียง 6 เดือนเท่านั้น จากวันที่ได้รับโจทย์จนถึงวันที่กำหนดการเปิดตัวอัลบั้มในช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา แต่พวกเขาก็พยายามทำจนสำเร็จออกมาเป็นอัลบั้ม Grow In The Dark ที่นำเสนอแนวคิด “เติบโตผ่านความยากลำบากในชีวิต” หรือ “เติบโตในความมืด” ตรง ๆ ตัว ซึ่งพวกเขาบอกว่า “เราแฮปปี้กับผลงานของเรา ที่เหลือก็อยู่ที่คนฟัง”

Q : การได้รับโจทย์ว่าต้องทำเป็นอัลบั้มเต็ม มันต้องวางคอนเซ็ปต์ของอัลบั้มให้ชัดเจนกว่าที่ผ่านมาที่ทำทีละเพลงไหม

ที่จริงอัลบั้มนี้เราไม่ได้หวังว่ามันจะต้องเป็น concept album อะไรขนาดนั้น แต่มันก็มีผล พอเราทำเพลงในช่วงเวลาเดียวกัน ทั้งเนื้อร้องและดนตรีมันเป็นกลุ่มก้อนเดียวกันหมดเลย เราอินกับอะไรมันก็จะออกมาอยู่ในกรอบความคิดเดียวกันหมดเลย ต่างจากเมื่อก่อนที่ช่วงหนึ่งคิดเรื่องหนึ่ง อีกช่วงหนึ่งคิดอีกเรื่องหนึ่ง มันกระจัดกระจาย

Q : อินอะไรกันอยู่ กรอบความคิดของอัลบั้มนี้คืออะไร

มันคือกรอบความคิดที่เราคิดกันว่า สิ่งที่ทำให้คนเราเติบโตหรือพัฒนาขึ้น เป็นคนที่ดีขึ้นกว่าเดิม มันคือสิ่งไม่ดีที่เข้ามาในชีวิตของเรา อย่างเช่น ความยากลำบาก อุปสรรค ความเศร้า ความผิดหวัง มันคือสิ่งที่ทำให้คนคนหนึ่งเติบโต ถ้าเราไม่กลัวความทุกข์ หรือไม่กลัวความยากลำบาก แล้วเรียนรู้ผ่านมัน เราจะเป็นคนที่ดีขึ้น เพลงทั้งหมดในอัลบั้มมันจะพูดในกรอบความคิดนี้ คือ เราไม่กลัวความมืด เราจะเรียนรู้ผ่านมัน

Q : เพลงเด่นในอัลบั้มคือเพลงไหน เด่นตรงจุดไหนและมีที่มายังไงบ้าง

ทุกเพลงเลยได้ไหม เพราะว่ารสชาติไม่เหมือนกันเลย มันเป็น 10 เพลงที่ต่างกันหมดทั้งดนตรีและเนื้อหา เพลงที่คนคาดหวังอยากได้ยินจากเคลียร์ก็มี และเพลงที่เราอยากเสนอมุมมองใหม่ ๆ ก็มี

อย่างเพลง “รักให้ตาย” เป็นเพลงที่คนฟังอยากได้ยินจากเคลียร์ ในแง่ดนตรีและเมโลดี้ แต่เนื้อหาขยับแอตติจูดนิดหนึ่ง เมื่อก่อนเพลงของเคลียร์จะเป็นเพลงของคนที่ถูกกระทำ เราอกหัก เราโดนทำร้ายมา แต่ “รักให้ตาย” มันพูดว่า รักให้ตายก็กลับไปไม่ไหว คือ มูฟออนไปอีกสเต็ปหนึ่ง เราก็คุยกันว่ามันเสี่ยงนิด ๆ นะ เพราะว่าเพลงที่ขายดี มันคือเพลงที่กำลังอกหัก ยังจมอยู่ แต่เรารู้สึกว่าเราเดินมาถึงจุดที่เราอยากนำเสนออะไรแบบนี้บ้าง ก็ใส่ไปแบบในปริมาณที่คิดว่าคนฟังน่าจะยังชอบ น่าจะยังอินกับมันได้ หรือหวังว่าจะไปโดนใจใครที่กำลังอยู่ในจุดที่จะไม่ไหวแล้ว แต่ยังทนอยู่ ถ้าเขาฟังเพลงเราแล้ว เขารู้สึกว่าไม่ทนแล้ว มันก็น่าจะดี มันน่าจะช่วยใครได้

เพลง “Rain Song” เป็นเพลงแบบใหม่ที่คนไม่เคยได้ยินจากเคลียร์ ในพาร์ตดนตรี แต่เนื้อหาก็จม ๆ อยู่ เป็นเพลงคิดถึงแฟนเก่า

“ถ้าฉันเป็นแม่เธอ” ซิงเกิลแรกของอัลบั้ม เป็นเพลงเร็วที่พูดเรื่องไซเบอร์บูลลี่ การพิมพ์ข้อความในออนไลน์ เพลงนี้จะนำเสนอว่า ถ้าคิดว่าเขาเป็นแม่คุณ คุณจะกล้าพิมพ์แบบนั้นหรือเปล่า เป็นการเอาประเด็นสังคมมาทำเป็นเพลงสนุก ๆ สีสันสดใส เป็นประเด็นที่อยากพูดมานานแล้ว เพราะมันใกล้ตัวทุกคน

“หลังจากเธอ” เป็นเพลงที่แต่งนานแล้ว แต่ไม่ถูกรวมในอัลบั้มก่อนหน้า มันมีของแต่ยังขาดอะไรสักอย่าง เราเอามาดูหลายรอบแล้วเรียบเรียงดนตรีใหม่ช่วงท้าย และเติมเนื้อเข้าไปอีกก้อนหนึ่ง เพลงนี้มันเหมือนจะพูดถึงคนที่ยังจมอยู่ ซึ่งถ้ามองในภาพรวมอัลบั้ม เราอยากให้คนเข้าใจอย่างนั้น ไม่อยากให้อัลบั้มนี้มันดู “คิดได้” เกินไป มันควรมีเพลงที่เป็น loser อยู่บ้าง เป็นความเฟรนด์ลี่กับคนฟัง เพราะมันก็เป็นไปได้ที่จะยังมีคนที่จมอยู่ แต่ความจริงเรื่องเบื้องหลังของเพลงนี้มันไม่ใช่เรื่องของคนที่ยังจม มันเป็นเรื่องของคนที่ซื่อสัตย์กับความรักที่จากไปแล้ว ซึ่งเรื่องมาจากคุณแม่ของแพท ที่คุณพ่อเสียไปหลายปีแล้ว แต่เขาก็ไม่ได้ต้องการใครใหม่

“เสมอตลอดมา” เป็นเพลงที่ชวนเนม Getsunova มาฟีเจอริ่ง เนื้อหาพูดถึงการคิดถึงคนที่ติดต่อไม่ได้อีกแล้ว เริ่มมาจากแพทคิดว่าทำไมไม่มีคนแต่งเพลงที่เนื้อหาเหมือนเพลง “เล่าสู่กันฟัง” ของพี่เบิร์ดอีกเลย เราก็มาคุยกันว่าเราอยากแต่งเพลงเนื้อหาแบบนั้น แต่เพลงนี้ต่างจากเพลงนั้นตรงที่ว่า “เล่าสู่กันฟัง” มันพูดกับคนที่ยังคุยกันอยู่ว่าให้เล่าสู่กันฟัง แต่เพลงนี้เราหากันไม่เจอ ไม่รู้ว่าเขาอยู่ที่ไหนแล้ว

Q : ที่ผ่านมาจะรู้สึกว่า เพลงของวงเคลียร์เหมือนเป็นเพื่อนของผู้หญิง คอยตบไหล่เวลาเศร้า อันนี้เป็นความตั้งใจปลอบประโลมคนฟัง หรือเป็นแค่เราพบเห็นเหตุการณ์ที่ทำให้อยากแต่งเพลงแบบนั้น

ต้องเล่าย้อนว่ามันมาจากปัญหาของแพทเอง ที่แพทไม่รู้สึกว่าตัวเองเป็นดารา เป็นศิลปิน แพทรู้สึกเขิน ก็เลยพยายามหามุมที่เราเป็นตัวเองได้เต็มที่ ก็รู้สึกว่าจุดที่เราสบายใจ คือ จุดที่เราเป็นเพื่อนกับคนฟัง-คนดู ในทางกลับกัน คือ เรารู้สึกได้ว่าเขาเห็นเราเป็นที่พึ่ง มันก็เลยเจอโพซิชั่นที่เราสบายใจ และดูแลเขาได้เต็มที่ไปด้วยในเวลาเดียวกัน ไม่รู้เรียกว่าเป็นการสร้างขึ้นมาหรือเปล่า มันก็เป็นความตั้งใจ แต่ตั้งใจเพราะข้างในเราเป็นแบบนั้น เราไม่อยากให้เขารู้สึกว่าเราเป็นศิลปิน เป็นคนอื่นไกล เราอยากให้เขารู้สึกว่าเราเป็นเพื่อน เป็นพี่ เป็นน้อง ก็ดีใจที่มันสื่อสารออกไปได้และคนก็รับรู้ตรงนี้

Q : พาร์ตดนตรีมีอะไรเปลี่ยนไปจากที่ผ่านมายังไงบ้าง

เยอะเลย มันมีซาวนด์ที่เป็นอิเล็กทรอนิกส์เยอะขึ้นมาก ๆ ยึดอิเล็กทรอนิกส์เป็นแกนหลักแล้วก็เอาดนตรีสดเข้าไปเสริม และเมื่อก่อนเราพยายามเล่นเยอะ ๆ แต่ตอนนี้เราพยายามเล่นให้น้อย เล่นสิ่งที่จำเป็นก็พอ แม้แต่ร้องก็ต้องร้องให้น้อย ร้องแบบไม่ใช้เทคนิคอะไรเลย ไม่ต้องใส่ทุกเทคนิคที่เรามี เราสื่อสารอารมณ์ให้ได้ก็พอ บางทีความน้อยมันก็เป็นความพอดีอย่างหนึ่ง และเท่าที่ซ้อมกันมามันทำให้รู้ว่า ตอนเล่นสดเราก็ไม่ควรเล่นอะไรมากไปกว่าตอนที่เราอัด ถ้าเป็นเมื่อก่อนเราคิดว่าเราจะเพิ่มอะไรได้บ้างในตอนเล่นสด แต่อัลบั้มนี้เรารู้สึกว่ามันเต็มแล้ว

Q : อยู่ในวงการมา 10 กว่าปีแล้ว เป้าหมาย ณ ตอนโน้น กับตอนนี้ต่างกันยังไงบ้าง

โอ้โห คนละเรื่องเลย ตอนนั้นได้ออกอัลบั้มก็ดีใจแล้ว พอได้ออกอัลบั้มก็รู้สึกว่า ถ้ามีเพลงดังก็ดีใจแล้ว พอเพลงดังก็คิดว่าเดี๋ยวมีงานเยอะ ๆ ก็ดีใจแล้ว …มันก็ขยับเป็นสเต็ปไปเรื่อย ๆ ส่วนตอนนี้เราหวังแค่ว่าจะได้ทำงานตรงนี้ไปเรื่อย ๆ

เมื่อก่อนเราคิดว่าศิลปิน ดาราจะมีอายุงานประมาณหนึ่ง นักร้องจะต้องเป็นวัยรุ่นหรืออายุไม่เกิน 30 ปี แต่เทรนด์มันกำลังเปลี่ยนไป จริง ๆ แล้วมันไม่ได้ขึ้นอยู่กับอายุ แต่ขึ้นอยู่ที่ว่าเราทำเพลงแล้วตอบโจทย์ใครหรือเปล่า คิดว่าเทรนด์นี้มันจะมาในเมืองไทยแล้วอยู่ต่อไปอย่างยั่งยืน เพราะเราคิดว่ามันมีคนเจเนอเรชั่นอื่น ๆ อีกมากมายที่เขาต้องการเพลงสำหรับพวกเขา วงเคลียร์ก็รู้สึกว่าเราจะไปด้วยกัน

Q : มองการทำงานตรงนี้เป็นอาชีพ หรือคิดว่าอยากสร้างผลงานศิลปะเท่ ๆ ดี ๆ เท่านั้น

เราว่ามันมาคู่กัน เรื่องแรกเราต้องซื่อสัตย์กับสิ่งที่ทำ เราทำเพราะชอบ แล้วก็ต้องคิดว่าเราจะทำอะไรให้คนได้รับประโยชน์จากมัน ถามว่าคิดว่าเป็นอาชีพไหม คำตอบคือใช่ และเรามุ่งมั่นที่จะทำอะไรเท่ ๆ ออกไปไหม ก็ใช่ คือเราต้องซื่อสัตย์กับเมสเสจที่เราสื่อออกไป แต่การที่มันจะเป็นอาชีพได้ แปลว่าต้องมีคนฟังตอบรับเราด้วย แล้วเราจะทำยังไงให้มันมาเจอกัน ตัวเราเองก็ยอมรับว่าเราต้องการเป็นศิลปินแมส เพราะคำว่าแมส มันแปลว่า เรา impact กับคนได้เยอะขึ้น

เมื่อก่อนมันมีคำกล่าวที่ว่า ศิลปะต้องไม่เอาเงิน ซึ่งเรารู้สึกว่าคนที่คิดคำพูดนี้ขึ้นมามันไม่ถูกต้อง ทุกอย่างมันเกี่ยวกันหมด ถ้าเรามุ่งมั่นจะทำสิ่งที่ดีออกไป แล้วเราอยู่ได้ เราก็จะมีพลังทำสิ่งที่ดีต่อไปเรื่อย ๆ คนที่พูดแบบนั้น พอเขาไม่ได้เงิน สุดท้ายเขาก็จะ suffer แล้วก็ไม่มีแรงทำงานต่อไป ซึ่งเราคิดว่าอย่าทำให้มันทรมานเลย ต้องคิดว่าถ้าจะผลิตผลงานดี ๆ ชีวิตเราต้องดีก่อน ไม่งั้นเราจะเอาแรงที่ไหนไปทำงาน

Q : การที่จะเป็น “มืออาชีพ” มีคุณสมบัติอะไรบ้างที่วงเคลียร์บอกตัวเองว่า นี่คือคุณสมบัติที่เราต้องมี

เรื่องแรก คือ ที่พูดไปเมื่อกี้ว่า มันเป็นศิลปะก็จริง แต่การที่บอกว่าศิลปะต้องไม่ทำเงิน มันไม่ใช่ เรื่องที่สอง คือ ศิลปินต้องมีวินัย ไม่ใช่ความติสต์ การทำงานไม่ว่าคุณจะรักมันแค่ไหน สักวันมันก็ต้องมีความเหนื่อย การเป็นมืออาชีพ คือ เราต้องทำสิ่งที่เรารักได้ แม้แต่ในวันที่เราเหนื่อย ซึ่งนั่นคือวินัยล้วน ๆ หลายคนเข้าใจผิดว่า ศิลปินต้องมาคู่กับความติสต์ มันไม่ใช่เลย หลัก ๆ ก็คือ เรื่องวินัย มันเป็นเรื่องการบาลานซ์อารมณ์ ถ้าเราไม่ใช้อารมณ์ในการทำงานเลย มันก็ไม่เกิดงานศิลปะ แต่เราต้องวางแผนการทำงานอย่างมีวินัย แล้วเอาอารมณ์ไปใช้ในตอนทำงาน ตอนแต่งเพลง ตอนอยู่ในห้องอัด ตอนอยู่บนเวที