ถอดรหัส “ความหว่อง” กับ หว่อง กาไว 20 ปี IN THE MOOD FOR LOVE

“กระทำความหว่อง” เป็นกริยาที่ถูกหยิบมาใช้บ่อย ๆ สำหรับเป็นแคปชั่นรูปภาพการใช้ชีวิตตอนกลางคืนใต้แสงไฟโทนสีแดง ส้ม เหลือง มู้ดโดยรวมของภาพเป็นความรู้สึกเหงา เปล่าเปลี่ยว เดียวดาย จนทำให้คำว่า “ความหว่อง” แทบจะกลายเป็นคำสามัญที่ได้ยินปุ๊บก็นึกภาพออกว่าคงประมาณนี้ บวกลบไปจากนี้ก็ไม่มาก

ปี 2020 นี้ ครบรอบ 20 ปี In the Mood for Love ภาพยนตร์เรื่องดังของหว่อง การ์ไว (Wong Kar-Wai) ในเมืองไทยซึ่งมีแฟนหว่อง การ์ไว และผู้รักความหว่องอยู่จำนวนไม่น้อย จึงมีการนำภาพยนตร์เรื่องนี้เข้าโรงฉายอีกครั้งในวันที่ 29 ตุลาคมนี้ ที่โรงภาพยนตร์ HOUSE SAMYAN, MAJOR CINEPLEX และ SF CINEMA

ในโอกาสนี้ เราอยากชวนถอดรหัสความหว่องจากบทสัมภาษณ์หว่อง การ์ไว ผู้กำกับที่กระทำความหว่องในวงการภาพยนตร์มานาน 30 กว่าปี

Photo by JOHANNES EISELE / AFP

Q : คุณคิดพลอตเรื่องนี้ขึ้นมาได้อย่างไร

ตอนแรกเราถ่ายหนังซึ่งเป็นคนละเรื่องกันเลย เดิมทีเราเรียกหนังที่เราถ่ายกันว่า A Story About Food แล้วเรื่องสั้น ๆ หนึ่งในนั้น คือเรื่องของเพื่อนบ้านสองคนที่ออกมาเจอกันเวลาพวกเขามาซื้อบะหมี่ ผ่านไปสักพักผมก็รู้สึกว่า เหตุผลหลักที่ผมทำโปรเจ็กต์นี้เพราะผมชอบเรื่องพาร์ตนี้ ผมเลยตัดสินใจทิ้งพาร์ตอื่น ๆ แล้วขยายพาร์ตนี้ให้เป็นหนังยาว

Q : มันดูเป็นหนังแบบคิดไปถ่ายไป คุณเปลี่ยนแปลงอะไรมากน้อยแค่ไหนตอนอยู่ในห้องตัดต่อ

ตอนแรกผมคิดว่าจะทำหนังง่าย ๆ สักเรื่อง เพราะมันมีแค่ตัวละคร 2 ตัว ทั้งเรื่องมีแค่คน 2 คนคุยกัน แต่ผมก็พบว่ามันยากกว่าหนังทุกเรื่องที่ผมทำมา ทั้ง ๆ ที่ผมเคยทำหนังที่เคยมีตัวละคร 10 ตัวมาแล้ว เรื่องนี้ด้วยความที่มีแค่ 2 คน ผมจึงต้องใส่รายละเอียดเข้าไปเยอะมาก เราถ่ายตัวละครจากช่วงปี 1962-1972 คือ ช่วง 10 ปีของความสัมพันธ์ แต่พอไปดูในห้องตัดต่อ ผมตัดสินใจให้หนังจบแค่ปี 1966 แล้วตัดส่วนที่เหลือทิ้งไป

Q : ทำไมเลือกฉากหลังเป็นยุค 1960s ของฮ่องกง

ผมมักจะเลือกช่วงเวลานั้นมาทำหนัง เพราะผมคิดว่ามันเป็นช่วงเวลาที่สำคัญทางประวัติศาสตร์สำหรับฮ่องกง เพราะนับตั้งแต่ปี 1949 (เหมา เจ๋อตงพาจีนเข้าสู่ระบอบสังคมนิยม) คนจีนแผ่นดินใหญ่ที่มาอาศัยอยู่ในฮ่องกงยังคงฝันถึงบ้านเกิดของตนเอง เหมือนชุมชนชาวจีนในหนัง พวกเขามาจากเซี่ยงไฮ้ พวกเขาพูดภาษาของตนเอง และไม่ข้องแวะกับคนกวางตุ้งซึ่งเป็นคนท้องถิ่นของฮ่องกง พวกเขาดูหนัง ฟังเพลง และมีพิธีกรรมที่ไม่เหมือนคนฮ่องกง ผมคิดว่าช่วงเวลานั้นมันพิเศษ และผมก็เติบโตมากับสภาพแวดล้อมแบบนั้น ผมจึงอยากทำหนังด้วยบรรยากาศและอารมณ์แบบนั้น

Q : ทำไมตั้งชื่อเรื่องว่า In the Mood for Love

ผมตั้งใจมาตลอดว่าจะตั้งชื่อหนังว่า Secrets หรือชื่ออะไรก็ได้ที่มีคำว่า “ความลับ” อยู่ในนั้น แต่คนที่เมืองคานส์บอกว่า อย่าเลย มีหนังเรื่องความลับเยอะแล้ว เราเลยต้องหาชื่อใหม่ จนเราได้ฟังเพลงของ ไบรอัน เฟอร์รี (Bryan Ferry) เพลง In the Mood for Love เราเลยใช้ชื่อนี้ ซึ่งมันก็เข้ากับเรื่องดี เพราะความรักทำให้คนสองคนแอบมาเจอกัน

Q : บรรยากาศในเรื่องมีความเป็นละตินสูงมาก คุณยังติดกลิ่นนี้มาจากตอนไปถ่าย Happy Together ที่อเมริกาใต้หรือเปล่า

ผมชอบวรรณกรรมละตินอเมริกา ผมคิดว่าคนละติน คนอิตาเลียน มีลักษณะคล้ายคนจีนมาก โดยเฉพาะผู้หญิงเวลาแสดงอารมณ์รักใคร หึงหวง และการเชิดชูครอบครัว เพลงละตินในหนัง ผมใส่เข้ามาเพราะว่ามันเป็นเพลงที่ได้รับความนิยมในฮ่องกงตอนนั้นจริง ๆ เนื่องจากวงดนตรีที่แสดงในฮ่องกงสมัยนั้นเป็นนักดนตรีจากฟิลิปปินส์ ไนต์คลับแทบทุกแห่งมีแต่นักร้องนักดนตรีจากฟิลิปปินส์ เพลงละตินจึงตัดไม่ขาดกับสังคมฮ่องกง นอกจากนี้ผมยังใส่เพลงของแนต คิง โคล (Nat King Cole) เข้ามาด้วย เพราะเขาเป็นนักร้องคนโปรดของแม่ผม

Q : คุณเป็นผู้กำกับที่ทำหนังด้วยสไตล์ปล่อยทุกอย่างให้เป็นอิสระ ทั้งมุมกล้องและการตัดต่อ แต่กับ In the Mood for Love คุณดูเคร่งขรึมขึ้นมาก คุณตั้งใจจะลองทำอะไรใหม่ ๆ หรือเปล่า

ผมและทีมงานชินกับการเล่าเรื่องแบบเดิมมาก จนมันกลายเป็นเครื่องหมายการค้าของเราไปแล้ว และเราก็คิดว่ามันคงน่าเบื่อถ้าต้องทำแบบเดิม เราเลยพยายามถ่ายหนังด้วยวิธีใหม่ อีกอย่างคือ คริส ดอยล์ (Christopher Doyle-ผู้กำกับภาพ)

ไม่ว่างถ่ายหนังให้ผมนานถึง 15 เดือน เราจึงต้องมีผู้กำกับภาพร่วมอีกคน ถ้าเป็นเมื่อก่อนผมก็จะขี้เกียจและปล่อยให้คริสจัดการทุกอย่าง พอผมต้องมาใช้ตากล้องคนใหม่ ผมเลยต้องขยันมากขึ้น ต้องคิดว่าแต่ละชอตควรถ่ายอย่างไรเพื่อสนับสนุนเนื้อหาหรืออารมณ์ของหนัง หลี่ ผิงปิงเป็นตากล้องชั้นยอด เขาทำให้ผมมองเห็นวิธีใหม่ ๆ ในการถ่ายหนัง

Q : หนังของคุณชอบมีอะไรวางอยู่หน้ากล้องเสมอ เพราะอะไร


ผมชอบวางอะไรไว้เป็นโฟร์กราวนด์ตลอดเวลา เพราะผมอยากให้คนดูรู้สึกเหมือนพวกเขากำลังแอบมองตัวละครอยู่ อย่างในหนังเรื่องนี้ เรากำลังแอบมองคน 2 คนพลอดรักกัน