วุธ 4NOLOGUE รุกธุรกิจเพลง จาก “โมเดล 9×9” สู่คอร์สปั้นศิลปิน5หมื่นชั่วโมงบิน

ในช่วง3ปีที่ผ่านมาธุรกิจเพลงในประเทศไทยเริ่มขยับและดูท่าจะกลับมาคึกคักทั้งค่ายเก่าค่ายใหม่ทยอยเปิดตัวศิลปินนำร่องหยั่งเชิงตลาดตอบรับแค่ไหน ถ้าย้อนกลับไปจะเห็นว่ากลุ่มโปรโมเตอร์คอนเสิร์ตเกาหลีเบนเข็มสู่ธุรกิจเพลงอย่างจริงจังมากขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงทางธุรกิจ จากหลายปัจจัยภายนอกที่ควบคุมไม่ได้ ตั้งแต่เศรษฐกิจชะลอตัว การพัฒนาของเทคโนโลยี (Disruption) และการระบาดของโควิด-19

ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ วุธ อนุวัติ วิเชียรณรัตน์ ประธานกรรมการบริหารบริษัท โฟร์โนล็อค จำกัด (4NOLOGUE) ที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาตลอด 14 ปีจนกลายเป็นบริษัทธุรกิจบันเทิงครบวงจรทั้งรับจัดอีเวนต์ งานโฆษณา และเป็นค่ายเพลงในวันนี้

แม้จะรู้ว่าการทำค่ายเพลงจะหนักและเหนื่อย แต่ก็อยากทำ “วุธ” บอกอย่างนั้น ทำให้ในปี 2561 จึงเกิดทำให้เกิดโปรเจกต์บอยแบนด์เด็กไทยภายใต้ชื่อวงไนน์บายนาย (9×9) ที่ผสมผสานวัยรุ่นที่มีชื่อเสียงระดับหนึ่งกับเด็กฝึกหัดโนเนมที่มีดีตั้งแต่หน้าตา แต่มีความสามารถและคาแรกเตอร์ที่ชัดเจนแบบไม่ประดิษฐ์ ประกอบด้วย เจมส์ -ธีรดนย์ ศุภพันธุ์ภิญโญ เติร์ด-ลภัส งามเชวง กัปตัน-ชลธร คงยิ่งยง ต่อ-ธนภพ ลีรัตนขจร แจ๊คกี้-จักริน กังวานเกียรติชัย ปอร์เช่- ศิวกร อดุลสุทธิกุล ไอซ์-พาริส อินทรโกมาลย์สุต เจเจ-กฤษณภูมิ พิบูลสงคราม และ ริว-วชิรวิชญ์ อรัญธนวงศ์ หลังจากนั้นทำให้เห็นภาพของคำว่า T-pop ที่ชัดเจนมากขึ้น และในวันนี้ถือเป็นวันครบรอบ 2 ปี ที่ 9×9 เดบิวต์อย่างเป็นทางการ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งปรากฎการณ์ที่คนฟังเพลงที่ไม่ได้ฟังเพลงอย่างเดียว แต่ยังสามารถวิเคราะห์ ตีความอารมณ์เพลงและเครื่องมือเชิงสัญลักษณ์ที่ปรากฎในมิวสิควีดีโอเพลง หรืออาจจะเรียกได้ว่า คนฟังเพลงหรือแฟนคลับได้เริ่มเห็น “คุณค่า” กับชิ้นงานของศิลปินมากขึ้น ที่สำคัญค่ายต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจนว่าต้องการจะพาศิลปินไปถึงจุดไหน ซึ่งสำหรับ 4NOLOGUE แล้วคือ คนฟังเพลงยอมซื้อผลงานของศิลปิน และการมีคอนเสิร์ตเป็นของตัวเองบนเวทีอิมแพคอารีน่า เมืองทองธานี

“เมื่อก่อนต้องยอมรับว่าการทำวงบอยแบนด์ 9 -10 คนแค่ร้องเพลงและเต้นให้พร้อมกันแค่นั้น ง่ายๆ ก็จบ ขายได้ แต่เมื่อคนดูคนฟังได้เริ่ม “วิเคราะห์” ชิ้นงานก็เริ่มเห็นว่าอุตสาหกรรมเพลงน่าจะไปได้แน่นอน ก่อนหน้านี้ใแวดวงก็คุยกันมากขึ้นว่าเพลงไทยหายไปไหน ซึ่งจริงๆ แล้วมันก็ยังอยู่เพียงแต่ว่า เซคเมนท์ที่เป็นวัยรุ่นหายไปนาน จนกระทั่งเมื่อมี Social Media ขึ้นมา การสื่อสารและเสพชิ้นงานจากทั้งโลกมันง่ายแค่ปลายนิ้ว ก่อนหน้านี้คนฟังก็จะไปเสพงานเกาหลี หรือศิลปินจากตะวันตก จะว่าคนไม่ฟังเพลงไทยก็ไม่ได้อีก เพราะมันไม่มีเพลงใหม่ออกมาให้ฟังมากกว่า”

เมื่อถามถึงศิลปินที่ถูกพัฒนาจาก 4NOLOGUE ต้องมีคุณสมบัติอย่างไรบ้างนั้น “วุธ” ระบุว่า มีความพยายาม และเคารพต่อวิชาชีพหรือง่ายๆ ก็คือ คนที่เห็นอาชีพ Artis ที่เป็น Artis “ตัวจริง” สิ่งที่ต้องปูพื้นฐานเด็กฝึกก่อนเป็นลำดับแรก คือ ต้องเปลี่ยน “Mindset” ของเด็กฝึกใหม่ทั้งหมด รวมไปจนถึง Mindset ของคนทำงานด้วย ผมมองว่าทัศนคติ หรือ Mindset สำคัญกว่าการฝึกซ้อมด้วยซ้ำ เพราะถ้าเปลี่ยนได้ทุกอย่างที่เราต้องการจะมาครบหมด ต้องมองก่อนว่า สิ่งเหล่านี้มันคือ “อาชีพ” และมันคือเป้าหมายในชีวิตของเด็กฝึกหรือไม่

“ถ้าคิดแค่ว่าอยากเรียนแค่ร้อง เต้นเท่านั้น ไม่สามารถเรียกว่า Artist ได้ เพราะคำว่า Artist มันพ่วงสิ่งอื่นๆ ตามมาคือ เมื่อเด็กได้เป็นศิลปินเต็มตัวแล้ว ต้องมีความรับผิดชอบ มีพลังบวก ความคิดที่ดี เมื่อผ่านการร้อง การเต้น มันจะส่งต่อไปถึงคนฟังเป็นล้านคน ฉะนั้นเด็กฝึกจะต้องเข้าใจคำว่า Artist ก่อนเป็นอันดับแรก การเป็นศิลปินต้องมีความสามารถที่หลากหลาย ต้องมีความรับผิดชอบต่ออาชีพนี้ รับผิดชอบกับความรู้สึกของคนหมู่มากที่มีศิลปินเป็นต้นแบบ ศิลปินต้องเป็น “ตัวอย่างที่ดี” เพราะฉะนั้นถ้าเปลี่ยน Mindset ได้ ค่ายแค่วางหลักสูตรไว้ เพราะสิ่งเหล่านี้จะสามารถทำให้เด็กฝึกทุกคนไปถึงจุดมุ่งหมายของเขาได้”

“วุธ” เล่าสิ่งที่แล่นอยู่ในความคิดตลอดในช่วงเริ่มต้นของการทำธุรกิจเพลงว่า เมื่อและภาพเหล่านี้ได้เกิดขึ้นกับวงไนน์บายนายนั้น 4NOLOGUE จึงใช้ความสำเร็จเหล่านี้นำมาถอดเป็นบทเรียนและปั้นเป็นหลักสูตร “การพัฒนาศิลปิน” ตามแบบฉบับของ 4Nolouge ที่ศิลปินต้องเรียนการร้องเพลง เรียนเต้น และเรียนการแสดงอย่างหนักหน่วงรวมแล้วไม่น้อยกว่า 50,000 ชั่วโมง ประกอบด้วย หลักสูตร 3 เดือน ไปจนถึง 6 เดือน และหลักสูตร 1 ปี ในทุกหลักสูตรจะมีการประเมินคุณภาพของผู้ฝึกทุกเดือน เพื่อที่จะให้เห็นศักยภาพของแต่ละคนว่าควรจะต่อยอดไปด้านใดเป็นพิเศษ ซึ่งกลุ่มเด็กฝึกที่ได้ใช้หลักสูตรดังกล่าวแล้วคือ วง Trinity (ทรีนิตี้) เป็นการรวมตัวของอดีตวง 9×9 ประกอบด้วย เจมส์ ธีรดนย์ ศุภพันธุ์ภิญโญ เติร์ด ลภัส งามเชวง ปอร์เช่ ศิวกร อดุลยสุทธิกุล และแจ็คกี้ จักริน กังวานเกียรติชัย

“ต้องบอกว่า 4NOLOGUE ภูมิใจกับ 9×9 และ TRINITY หลักสูตรนี้เรานำ Experience ของทีมงานทั้งหมดที่มี ไม่ว่าจะเป็นการร้อง การเต้น การแสดงมาพัฒนาเป็นหลักสูตรที่เทียบเคียงได้กับมาตรฐานสากล ไม่แพ้ศิลปินเกาหลีและศิลปินตะวันตกแน่นอน อย่างไรก็ตามส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่า เกาหลีใต้เป็น Norm ของวงการเพลงของโลกไปแล้ว และเราได้นำบางส่วนมาปรับใช้กับศิลปินไทย เราไม่ต้องการจะเป็น K-POP 2 แต่ต้องยอมรับว่าเขาทำมาก่อนกว่า20 ปี ฉะนั้นย่อมจะเกิดการ “เปรียบเทียบ” ขึ้นเป็นธรรมดา จึงเป็นสาเหตุที่ว่า ต้องพัฒนาศิลปินของเราต่อไป แต่เมื่อเริ่มทำแล้ว ไม่ใช่ว่าทุกอย่างจะดีไปหมด ตอนพบความผิดพลาดก็นำมาปรับปรุงแก้ไข”

นอกจากวง TRINITY ที่ได้ใช้หลักสูตรพัฒนาศิลปินดังกล่าวแล้ว ยังมีเด็กฝึกอีกราว 18 คนที่จะเปิดตัวในช่วงสิ้นปีนี้ด้วยเช่นกัน ทั้ง 18 คนนี้ “วุธ” เล่าที่มาที่ไปว่า เริ่มจากการเริ่มออดิชั่น 3-4 ครั้งต่อปีในช่วงที่ผ่านมา ประมาณ 3,000-3,500 คนต่อครั้ง และสิ่งที่เป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาศิลปินของ 4NOLOGUE การพัฒนา “ไม่ควร”มีกรอบหรือเกณฑ์ใดๆ เพราะคนฟังเพลงรวมถึงแฟนคลับจะชื่นชอบศิลปินที่เป็นตัวตนของเขาเอง

ในยุคนี้ค่าจะทำหน้าที่บอกว่าเห็นอะไรจากเด็กฝึกแต่ละคน และดึงความโดดเด่นเหล่านั้นมาขัดเกลาให้สมบูรณ์แบบมากขึ้น

ในช่วงท้าย “วุธ” บอกถึงธุรกิจของเพลงในมือของ 4NOLOGUE นั้น ในเชิงธุรกิจจะเห็นว่าลงทุนมาอย่างต่อเนื่อง เฉพาะโปรเจกต์ 9×9 ลงทุนไป 120 ล้านบาท วง TRINITY ลงทุนไป 50 ล้านบาท ในแง่ของกำไรเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา เนื่องจากธุรกิจเพลงเป็น “Emotional Product” จึงมีความ “เสี่ยงสูง” หากวันนี้ 4Nolouge ใช้แค่เกณฑ์ธุรกิจมาเป็นตัวตั้ง จะไม่เกิดศิลปินใหม่ๆ เข้ามาในวงการแน่นอน

“คิดเอาง่ายๆ ว่า วันนี้ถ้าเราเดินเข้าไปกู้เงินแบงก์ ในแง่ของกำไรที่คาดไม่ได้ แบงก์ก็ไม่ปล่อยกู้ จะมีคำถามตามมาว่าจะคืนทุนได้ในกี่ปี Margin เป็นอย่างไร ต่อคำถามเหล่านี้ 4NOLOGUE ก็ยังตอบไม่ได้ เพราะต้องรอให้ทุกอย่างสำเร็จรูปออกมาเป็นชิ้นงานก่อน อาจจะต้องใช้เวลา 1-2 ปีก็ได้ หรือในระหว่างทางอาจจะต้องมีลงทุนเพิ่มอีกก็เป็นได้”

การพัฒนาศิลปินให้เป็นมืออาชีพที่ไม่สามารถบอกได้ว่าจะต้องมีกำไรอยู่ที่เท่าไหร่ แต่ต้องบอกได้ว่าจะลงทุนเท่าไหร่ เพราะปัจจุบันเราให้เด็กฝึกซ้อมทุกสัปดาห์ต่อคนที่ 12 ชั่วโมง -20 ต่อคน สามารถคำนวนออกมาเป็นเงินลงทุนได้ เพราะจ่ายให้เด็กฝึกเป็นรายชั่วโมง ยังไม่ได้นับรวมการดูและภาพลักษณ์ เสื้อผ้าหน้าผม การใช้ชีวิตประจำวันของเด็กฝึก ต้นทุนเหล่านี้มันชัดเจน แต่ผลกำไรยังไม่รู้ คล้ายๆ การเลี้ยงลูก เมื่อส่งลูกเข้าเรียนจนกกระทั่งเรียนจบการศึกษา ยังต้องรอเขาเริ่มทำงาน มันจึงตอบคำถามนี้ในช่วงสั้นๆ ไม่ได้ แต่สิ่งที่ 4Nologe เชื่อมั่นคือ หากอยากได้ศิลปินที่ดี “ต้องลงทุน”