จาก Itaewon Class ถึง Start-Up ความฝันหนุ่มสาวเกาหลีเป็นไปได้เหมือนในละคร ?

ศิรินภา นรินทร์ : เรื่อง

เกาหลีใต้ ผู้ทรงอิทธิพลทางวัฒนธรรมพ็อปได้ส่งออกวัฒนธรรมจนเป็นที่นิยมไปทั่วโลก หนึ่งในนั้นคือซีรีส์ หรือละครทีวี ซึ่งแต่ละปีก็จะมีซีรีส์ที่เป็นกระแสจนต้องหยิบยกมาพูดถึงกันบ่อย ๆ

เมื่อปีที่แล้วช่วงครึ่งปีแรกมี Itaewon Class ที่เป็นกระแสและจุดประกายความฝันในการทำธุรกิจให้กับคนหนุ่มสาว และช่วงปลายปีก็มี Start-Up เป็นอีกเรื่องที่ตามมาสร้างกระแสทำนองเดียวกัน

นอกจากเรื่องความสนุกสนาน ซีรีส์ทั้งสองเรื่องนี้สะท้อนความคิดความฝันและการต่อสู้ของคนหนุ่มสาวชาวเกาหลีในยุคนี้ ซึ่งอาจจะตรงกับความรู้สึกของใครหลายคน

ความสำเร็จที่เห็นในซีรีส์ ทั้งชวนให้ฝันและชวนให้เกิดความสงสัยขึ้นมาว่า เหตุการณ์แบบในเรื่องมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นจริงในสังคมเกาหลีใต้มากหรือน้อยแค่ไหน

Itaewon Class นำเสนอเรื่องราวชีวิตของ พัคแชรอย เด็กนิสัยดี มุ่งมั่น ที่โดนไล่ออกจากโรงเรียน สูญเสียพ่อ และต้องติดคุก ด้วยฝีมือของลูกชายเจ้าของ “จางกา” บริษัทธุรกิจอาหารยักษ์ใหญ่อันดับ 1 ของประเทศ หลังออกจากคุก เขาตั้งเป้าจะแก้แค้นด้วยสร้างแบรนด์ร้านอาหารในย่านอีแทวอน พร้อม ๆ กับทยอยซื้อหุ้นของจางกา ในที่สุดเขาก็ประสบความสำเร็จ มีแฟรนไชส์หลายสาขา และสามารถปิดเกมแค้นนี้ได้ด้วยการเทกโอเวอร์จางกา

Start-Up เรื่องราวของคนหนุ่มสาวที่มีความฝันอยากมีธุรกิจของตัวเอง แต่มันไม่ง่ายสำหรับคนที่ไม่มีต้นทุนทั้งเงินและคอนเน็กชั่น สิ่งที่พวกมีมีเพียงความสามารถ แต่ดีที่มีบริษัทร่วมลงทุนยักษ์ใหญ่นามว่า Sandbox ที่ให้โอกาสทั้งเรื่องเงินและเป็นที่ปรึกษาธุรกิจสำหรับเหล่าสตาร์ตอัพที่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายของการแข่งขันในแต่ละปี

กลุ่มตัวละครเอก มีหนึ่งสาวชื่อ ซอดัลมี ที่ไร้ใบปริญญาแต่มีความสามารถด้านการบริหาร ผ่านประสบการณ์งานขายมาแล้วนับไม่ถ้วน ฟอร์มทีมกับ 3 หนุ่มวิศวกรคอมพิวเตอร์ระดับหัวกะทิที่บริษัทระดับท็อปของโลกยังต้องมาซื้อตัวไปทำงานด้วย ทีมของพวกเขาพัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์ที่ให้ความช่วยเหลือผู้มีความบกพร่องทางสายตา ด้วยเทคโนโลยีที่แม่นยำสูงสุด บวกกับความสามารถของประธานบริษัท ทำให้พวกเขาชนะการแข่งขันสตาร์ตอัพในปีนั้น ซึ่งเปลี่ยนชีวิตหนุ่มสาวธรรมดาให้ประสบความสำเร็จในอาชีพและการทำธุรกิจ

ความสำเร็จแบบตัวละครหลักในซีรีส์คงเกิดขึ้นได้ยากในชีวิตจริง เมื่อมองไปที่ภาพรวมธุรกิจของเกาหลีใต้ กลุ่มบริษัทขนาดยักษ์ใหญ่ ที่เรียกว่าแชโบล (Chaebol) ยังครองส่วนแบ่งใหญ่ในตลาด แน่นอนว่าเป็นเรื่องยากและท้าทายสำหรับผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่จะขึ้นมาสู้ในสังเวียนธุรกิจ

ถึงอย่างนั้น เกาหลีใต้ก็เป็นประเทศที่สนับสนุน SMEs และสตาร์ตอัพมากที่สุดประเทศหนึ่ง โดยมีการตั้งกระทรวงเอสเอ็มอีและสตาร์ตอัพ (Ministry of SMEs and Startups) ขึ้นมา เพื่อดูแลเรื่องนี้อย่างจริงจัง หวังจะให้เป็นอนาคตเศรษฐกิจยุคใหม่ของประเทศ อีกปัจจัยหนุนที่ทำให้เห็นภาพความเป็นไปได้มากขึ้น คือ Born2Global หน่วยงานภายใต้กระทรวงวิทยาศาสตร์ ไอซีที และการวางแผนอนาคต (Ministry of Science, ICT and Future Planning) ที่เป็นเหมือน Sandbox ในโลกความเป็นจริง ที่คอยส่งเสริมเหล่าสตาร์ตอัพ ทำให้เกาหลีใต้มียูนิคอร์นแล้ว 12 บริษัท

รัฐบาลเกาหลีใต้ตั้งเป้าว่า ในปี 2022 จะต้องมียูนิคอร์นให้ได้ 20 บริษัท และหวังจะเป็น Silicon Valley แห่งเอเชีย

ถึงแม้เกาหลีใต้เป็นประเทศที่มีความพร้อมหลาย ๆ ด้านที่เอื้อให้สตาร์ตอัพได้แจ้งเกิดและเติบโต แต่ก็ไม่ใช่ว่าทุกคนที่มีไอเดียและลงมือทำแล้วจะสามารถประสบความสำเร็จตามแบบฉบับซีรีส์ เราต้องไม่ลืมว่า ซีรีส์นำเสนอเรื่องราวของตัวละครหลักที่ทำสำเร็จ แต่ก็ยังมีคนอีกมากมายที่ตกรอบกลับบ้านไป กระทั่งบางคนที่ไม่ได้เงินลงทุนแล้วฆ่าตัวตายก็มี

จากการที่ผู้เขียนได้พูดคุยกับเพื่อนชาวเกาหลีวัยมิลเลนเนียล เธอแสดงความเห็นว่า กรณีเหมือนในซีรีส์ที่ตัวละครเอกของทั้งสองเรื่องไม่ได้เรียนจบมหาวิทยาลัย ไม่ได้มีคอนเน็กชั่น แล้วจะประสบความสำเร็จได้อย่างในซีรีส์นั้นเป็นไปได้ยากมาก

ในสังคมเกาหลี การได้ทำงานในบริษัทใหญ่โตเพื่อให้ได้มาซึ่งความมั่นคงในชีวิต นั่นคือสิ่งที่คนส่วนใหญ่มองว่า ประสบความสำเร็จแล้ว หนุ่มสาวชาวเกาหลีหลายคนจึงยอมละทิ้งความฝัน เพื่อจะมีอาชีพตามบรรทัดฐานที่สังคมตั้งไว้

จากมุมมองของผู้เขียนที่สังเกตเห็นว่าพักหลังมานี้ ซีรีส์เกาหลีหลายเรื่องที่สร้างขึ้นจะนำเสนอเนื้อหาแนวชีวิตของชนชั้นกลางที่กล้าจะออกจากกรอบของสังคม กล้าคิด กล้าลองทำสิ่งใหม่ ๆ สะท้อนผ่านตัวละครที่มีความหลากหลายในด้านการศึกษา เพศ ฐานะทางครอบครัว และจบด้วยการประสบความสำเร็จ น่าจะเพื่อเป็นการกระตุ้นให้คนดูมีไฟ มีแรงบันดาลใจ ลุกขึ้นมาทำตามความฝันมากขึ้น